backup og meta

เสริมสร้างภูมิคุ้มกันขณะ ทำเคมีบำบัด ด้วยวิธีง่ายๆ ได้ผลจริงเหล่านี้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 19/03/2021

    เสริมสร้างภูมิคุ้มกันขณะ ทำเคมีบำบัด ด้วยวิธีง่ายๆ ได้ผลจริงเหล่านี้

    การรักษาด้วยเคมีบำบัด (chemotherapy) หรือที่มักเรียกกันว่า คีโม คือการให้ยาเพื่อรักษาโรค ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะรู้จักคำนี้ว่าเป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งอย่างหนึ่ง การ ทำเคมีบำบัด ถือเป็นวิธีรักษาโรคมะเร็งที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้รวดเร็ว และใช้ได้กับร่างกายทุกส่วน

    แต่เคมีบำบัดก็มีข้อเสียคือ อาจไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยอ่อนแอลงจนเสี่ยงติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ ในช่วงทำเคมีบำบัด ผู้ป่วยจึงควรรักษาสุขภาพและ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ของร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยวิธีง่ายๆ เหล่านี้

    ใช้ยาที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

    สำหรับผู้ป่วยที่เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย คุณหมออาจสั่งจ่ายสารเร่งการเจริญเติบโต (Growth factors) หรือที่เรียกว่า ยา colony-stimulating factors (CSFs) ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดและลดโอกาสในการติดเชื้อ หากภูมิคุ้มกันของคุณอ่อนแอมาก อาจต้องกินยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อ (Prophylactic antibiotic) ที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อรา เชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย อย่างไรก็ตาม ยาแต่ละตัวอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้นควรปรึกษาคุณหมอให้ดีก่อนตัดสินใจใช้ยาเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

    กินให้ดีในช่วง ทำเคมีบำบัด

    การกินอาหารบางชนิดเช่น อาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีน้ำตาลสูง สามารถทำให้ภูมิคุ้มกันของคุณอ่อนแอลงได้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เข้ารับเคมีบำบัดจึงต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ในปริมาณที่ร่างกายต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารและสารอาหารดังต่อไปนี้

    • โปรตีน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและเนื้อเยื่อ ถือเป็นสารอาหารสำคัญมากสำหรับผู้รักษามะเร็ง
    • ไขมันดี อย่างไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated fat) และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (polyunsaturated fat) เพื่อช่วยเพิ่มพลังงาน
    • น้ำเปล่า เพื่อช่วยให้สารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุในร่างกายสมดุล และให้เซลล์ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    การทำเคมีบำบัดอาจส่งผลต่อระบบย่อยอาหารหรือทำให้ผู้ป่วยอยากอาหารน้อยลง ผู้ป่วยบางรายจึงอาจต้องเข้ารับคำปรึกษาเรื่องอาหารกับนักโภชนาการ ต้องกินอาหารเสริม อาหารทางสายยาง หรืออาหารทางหลอดเลือดดำเพื่อให้ได้สารอาหารเพียงพอ นอกจากนี้ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรล้างทำความสะอาดวัตถุดิบ เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ให้ดีและปรุงอาหารให้สุกเสมอ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมาด้วย

    ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี

    การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี ถือเป็นวิธีเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ทุกคนควรทำ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็ง เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่สามารถคร่าชีวิตผู้ป่วยได้ หากไม่ใส่ใจป้องกัน สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) ระบุว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ 2 สัปดาห์ ก่อนทำเคมีบำบัด หรือในช่วงทำเคมีบำบัดก็ได้

    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

    การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง ถือเป็นวิธีเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ทำได้ง่ายมาก หากผู้ป่วยมะเร็งนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จะยิ่งทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และป่วยได้ง่ายขึ้น แถมยังหายป่วยช้ากว่าผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดีอีกด้วย สำหรับผู้ที่นอนไม่หลับ หรือหลับยาก อาจหลับได้ง่ายขึ้นหากทำตามวิธีเหล่านี้

    • นอนหลับและตื่นเวลาเดิมทุกวัน
    • อย่านอนทั้งที่หิวหรือท้องอิ่มเกินไป
    • ทำกิจกรรมก่อนนอนที่ช่วยให้หลับง่ายขึ้น เช่น อาบน้ำอุ่น หรืออ่านหนังสือก่อนนอน
    • นอนหลับในห้องที่เย็น มืด และเงียบสนิท

    ล้างมือบ่อยๆ

    การล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอถือเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ เพราะมือของเราสัมผัสกับสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลาจึงเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคนานาชนิด คุณควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำอุ่นเป็นประจำ โดยเฉพาะเวลาเหล่านี้

    • ก่อนกินอาหาร หลังไอจาม หรือหลังจากสัมผัสใบหน้าตัวเอง
    • หลังจากทำกิจกรรมในสถานที่สาธารณะ หรืออยู่กับคนป่วย
    • หลังเข้าห้องน้ำ
    • หลังสัมผัสสิ่งสกปรก เช่น ขยะ ถังขยะ สัมผัสข้าวของเครื่องใช้ หรือมูลสัตว์เลี้ยง
    • คุณสามารถทำความสะอาดมือด้วยเจลล้างมือแทนได้ หากไม่สะดวกล้างมือด้วยน้ำและสบู่

    ออกกำลังกายเป็นประจำ

    มีผลการศึกษาที่ได้รับการยืนยันแล้วว่า การออกกำลังกายในช่วงทำเคมีบำบัด ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ป่วยโรคมะเร็ง แต่ยังมีประโยชน์สุขภาพอีกมากมาย เช่น

    • ช่วยลดความเสี่ยงในการหกล้ม
    • ช่วยไม่ให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
    • ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น
    • ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันเองได้
    • ช่วยให้เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น
    • ลดอาการวิตกกังวล และความเครียด
    • ช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับสังคม
    • ช่วยควบคุมน้ำหนัก

    แม้การออกกำลังกายจะดีต่อผู้ป่วยที่กำลังรักษาโรคมะเร็ง แต่ก็ไม่ควรออกกำลังกายหนักหรือเข้มข้นมากเกินไป ผู้ป่วยอาจเลือกออกกำลังกายกายด้วยกิจกรรมง่ายๆ เช่น เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ ทำความสะอาดห้องน้ำ เดินรอบหมู่บ้าน หรือล้างรถ อย่างไรก็ตามหากคุณเป็นคนที่เหนื่อยง่าย มีภาวะเลือดจาง มีภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ (Ataxia) หรือกล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน มีเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจออกกำลังกาย

    จัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้ดี

    อารมณ์แปรปรวน ความเครียด ความวิตกกังวล ถือเป็นภาวะทางอารมณ์ที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งส่วนใหญ่ต้องเผชิญอยู่ทุกวัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ในร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหารได้อีกด้วย ผู้ป่วยจึงควรจัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้ได้ โดยอาจทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น นั่งสมาธิ สูดหายใจลึกๆ นวด อ่านหนังสือ ฟังเพลง หากกิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นไม่ได้ คุณอาจขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือคุณหมอที่รักษาก็ได้

    ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยอื่นๆ

    ในช่วงทำเคมีบำบัด คุณควรให้ระบบภูมิคุ้มกันของคุณมุ่งเน้นอยู่กับการรักษามะเร็ง ไม่ควรทำให้ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแออยู่แล้ว ต้องรับภาระหนัก เพราะต้องต่อสู้กับเชื้อโรคอื่นๆ อีก วิธีป้องกันการติดเชื้อโรคอย่างหนึ่งที่ทำได้ก็คือ อย่าใกล้ชิดกับคนที่กำลังป่วย หากสมาชิกในบ้านเจ็บป่วย เช่น เป็นไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยมะเร็งหรือสมาชิกที่เหลือควรปฏิบัติดังนี้

    • พยายามอยู่ในห้องเดียวกับผู้ป่วยให้น้อยที่สุด
    • ไม่แบ่งปันของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าขนหนู หมอนกับผู้ป่วย
    • ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ที่ผู้ป่วยสัมผัส
    • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำอุ่นให้สะอาดอยู่เสมอ

    นอกจากป้องกันการติดเชื้อโรคจากสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยแล้ว ผู้ป่วยมะเร็งควรงดอยู่ในที่ชุมชน หรือสถานที่ที่คนอยู่มากๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองได้รับเชื้อโรคอื่นๆ

    อย่าละเลยสัญญาณของการติดเชื้อโรค

    หากมีสัญญาณบ่งบอกว่ารายการของคุณอาจกำลังติดเชื้อโรค เช่น

    • มีไข้
    • หนาวสั่น
    • อาเจียน
    • ท้องเสีย
    • ไอ
    • เจ็บคอ
    • คัดจมูก
    • ส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายเจ็บ ปวด หรือบวมแดง
    • อารมณ์แปรปรวน

    คุณควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อจะได้รักษาอย่างทันท่วงที และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อน

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 19/03/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา