ผู้สูงอายุควรได้รับสารอาหารในปริมาณที่พอเหมาะและหลากหลายเป็นประจำทุกวัน เพราะอาหารที่มีประโยชน์ช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี แต่อาจมี อาหารที่ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยง และควรจำกัดปริมาณให้เหมาะสม เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมได้
โภชนาการผู้สูงอายุ
รูปแบบการใช้ชีวิตและสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุที่เปลี่ยนแปลงไป อาจส่งผลต่อความอยากอาหาร ทำให้ได้รับปริมาณอาหารในแต่ละวันลดลง และส่งผลให้ผู้สูงอายุไม่ได้รับวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารอื่น ๆ อย่างครบถ้วน จนอาจทำให้เกิดความเจ็บป่วยตามมาได้
ผู้สูงอายุควรได้รับพลังงาน 1,500 – 2,000 กิโลแคลอรี/วัน และควรได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนและหลากหลายวันละ 3 มื้อ อีกทั้งควรจัดอาหารว่างให้เหมาะสมในแต่ละวันด้วย
อาหารที่ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยง
อาหารที่ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยง ไม่ในปริมาณมาก เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ มีดังนี้
ไข่ดิบ
ไข่เป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยโปรตีนและให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่การรับประทานไข่ดิบอาจเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุได้ เนื่องจากไข่ดิบอาจมีเชื้อแบคทีเรีย ซัลโมเนลลา (Salmonella) ที่อาจทำให้เกิดอาการ ท้องเสีย มีไข้ ปวดท้อง และอาเจียน
ถั่วงอกดิบ
ถั่วงอกเจริญเติบโตในสภาพอากาศที่อบอุ่นและชื้น จึงอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียจำนวนมาก ผู้สูงอายุและผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วงอกดิบ หรือควรนำไปปรุงให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง
เกลือและอาหารโซเดียมสูง
ผู้สูงอายุสามารถรับประทานเกลือได้ในปริมาณที่พอเหมาะ เพียง 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน หรือประมาณ 1-2 ช้อนชา เพราะหากรับประทานเกลือมากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ผู้สูงอายุจึงควรหลีกเลี่ยงอาหาร จำพวก ขนมขบเคี้ยว อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป เช่น แฮม เบคอน ที่มีส่วนประกอบของเกลือเป็นจำนวนมาก
เกรปฟรุ๊ต
เกรปฟรุ๊ตเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซีและโพแทสเซียม แต่สำหรับผู้สูงอายุบางคนที่ต้องรับประทานยารักษาโรค เช่น ยาควบคุมความดันโลหิต เกรปฟรุ๊ตอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาได้ ดังนั้นจึงควร หลีกเลี่ยงอาหาร บางชนิดตามคำแนะนำของแพทย์ และควรอ่านฉลากยาอย่างละเอียดทุกครั้ง
ไขมันอิ่มตัว
ผู้สูงอายุควรจำกัดการบริโภคอาหารที่มีไขมัน และควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะน้ำหนักตัวมากขึ้น โรคเบาหวาน และภาวะคอเลสเตอรอลสะสมในหลอดเลือดแดง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
คาเฟอีน
ปริมาณคาเฟอีนที่มากเกินไปอาจส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้มีอาการกระวนกระวาย ปวดท้อง ปวดหัว ใจสั่น เหนื่อยล้า ขาดสมาธิ และมีปัญหาการนอนหลับในผู้สูงอายุ อีกทั้งอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่ดื่มกาแฟแทนน้ำเปล่าตลอดทั้งวัน
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่น ๆ ทำให้มีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุ หรือหกล้ม ส่งผลให้กระดูกแตกหักได้ นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคกระดูกพรุน อีกทั้งอาจส่งผลกระทบต่อสมอง ทำให้เกิดภาวะโรคสมองเสื่อมได้เช่นกัน
[embed-health-tool-bmi]