ตะคริวที่เท้า เป็นอาการทางสุขภาพที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศและทุกวัย และสามารถเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ชนิดที่ไม่เลือกทั้งเวลาและสถานที่ ทั้งตอนตื่นนอน ขณะที่กำลังนอน หรือแม้แต่ตอนที่กำลังอยู่ในห้องน้ำก็ตาม อาการตะคริวที่เท้า เกิดจากอะไร และจะรับมืออย่างไร ไปตามดูกันได้เลยในบทความนี้จาก Hello คุณหมอ
สาเหตุของ ตะคริวที่เท้า
อาการตะคริวที่เท้า เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ คุณอาจเป็นตะคริวได้จากเหตุปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ภาวะขาดน้ำ
หากในแต่ละวันมีการดื่มน้ำไม่เพียงพอ ร่างกายจะมีอาการขาดน้ำ ส่งผลให้เกลือแร่ของเลือด (electrolytes) โพแทสเซียม โซเดียม และแมกนีเซียมในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในกล้ามเนื้อ และถ้าหากกล้ามเนื้อเกิดความไม่สมดุล จะทำให้กล้ามเนื้อที่นิ้วเท้าและฝ่าเท้าเกิดการหดตัวจนเกิด อาการตะคริวที่เท้า ขึ้นมา
ไม่ค่อยออกกำลังกาย
การไม่ออกกำลังกายนอกจากจะทำให้ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง เสี่ยงที่จะเป็นโรคภัยไข้เจ็บชนิดรุนแรงและเรื้อรังแล้ว ยังสามารถส่งผลให้เกิด อาการตะคริวที่เท้า ได้อีกด้วย เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายแข็งแรง กล้ามเนื้อและระบบประสาทเกิดความสมดุล ทำให้กล้ามเนื้อไม่หดตัว ลดโอกาสในการเป็นตะคริว
สวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม
ในแต่ละวันเราใช้เท้าในการก้าวเดินไปยังที่ต่าง ๆ หลายร้อยหลายพันก้าว การเลือกรองเท้าที่มีรูปแบบการดีไซน์ที่เหมาะสม จะช่วยในการกระจายน้ำหนักตัวได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม เช่น คับไป หรือหลวมไป จะส่งผลให้เป็นตะคริวได้
อาการทางสุขภาพ
ผู้ป่วยที่มีอาการทางสุขภาพบางประเภท อาจมีผลทำให้เกิด อาการตะคริวที่เท้า ได้ เช่น ผู้ป่วยด้วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) โรคพาร์กินสัน หรือโรคเบาหวาน เพราะอาการทางสุขภาพดังกล่าวจะทำให้ระบบประสาทมีการเปลี่ยนแปลง อาจเกิดอาการกระตุก และทำให้เป็นตะคริว
อายุ
อายุที่เพิ่มมากขึ้น ก็เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นตะคริวมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นระบบประสาทและกล้ามเนื้อก็จะค่อย ๆ ลดประสิทธิภาพในการทำงานลง ปริมาณน้ำในกล้ามเนื้อก็น้อยลง จนอาจทำให้กล้ามเนื้อที่บริเวณเท้าและนิ้วเท้าเกิดการเกร็งตัว จนเป็น อาการตะคริวที่เท้า ในที่สุด
การตั้งครรภ์
แน่นอนว่าปัญหานี้พบได้เฉพาะเพศหญิง แต่แพทย์และผู้เชี่ยวชาญยังไม่มีการค้นพบถึงสามารถที่แท้จริงว่าทำไมผู้ที่ตั้งท้องจึงมี อาการตะคริวที่เท้า แต่สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะ
- น้ำหนักตัวของทารกที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
- ภาวะขาดน้ำ
- ภาวะขาดสารอาหาร เช่น โพแทสเซียม หรือแมกนีเซียม
หยุดตะคริวบริเวณขาและเท้าอย่างไรได้บ้าง
อาการตะคริวที่เท้า หรือที่ขา สามารถที่จะป้องกันได้ง่าย ๆ เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางประการ ก็จะช่วยลดโอกาสในการเป็นตะคริว ซึ่งทุกคนสามารถที่จะทำตามได้ง่าย ๆ ดังนี้
ดื่มน้ำให้มาก ๆ
การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ช่วยลดโอกาสในการเกิด ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มี อาการตะคริวที่เท้า
สวมใส่รองเท้าที่เหมาะสมกับเท้า
เลือกใส่รองเท้าที่เหมาะกับรูปเท้า เลือกให้พอดี ไม่คับ และไม่หลวมจนเกินไป เพื่อที่รองเท้าจะได้กระจายน้ำหนักตัวออกไปอย่างเหมาะสม สามารถที่จะเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายแน่นอนว่าทำให้ร่างกายแข็งแรงและยังช่วยลด อาการตะคริวที่เท้าได้อีกด้วย หมั่นออกกำลังกายที่ช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อต่าง ๆ ทั้งแขนและขา เพื่อให้ทั้งระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาทเกิดความสมดุลมากขึ้น
กินอาหารให้หลากหลาย
การขาดสารอาหารบางประเภท ก่อให้เกิดตะคริวได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย ครบทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์
ยืดหยุ่นร่างกายอยู่เสมอ
หากมี อาการตะคริวที่เท้า ในตอนกลางคืน ก่อนนอนควรมีการยืดเส้นยืดสายเล็กน้อย เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว และสามารถผ่อนคลายได้ดีขณะนอนหลับ
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
โรคภัยไข้เจ็บบางประเภทมีส่วนที่ทำให้เป็นตะคริวที่เท้า หากคุณมีอาการทางสุขภาพ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) หรือโรคเบาหวาน ควรไปพบคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำหากมี อาการตะคริวที่เท้า และสงสัยว่าอาจมาจากโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอยู่
นอกจากนี้ หากคุณเป็นตะคริวที่เท้าบ่อยจนเกินไป รวมถึงมีอาการบวม แดง ที่เท้าหลังจากเป็นตะคริว ควรไปพบคุณหมอโดยทันที
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด