backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือ กระดูกคอเสื่อม (Cervical spondylosis)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือ กระดูกคอเสื่อม (Cervical spondylosis)

กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือ กระดูกคอเสื่อม เป็นโรคที่พบได้ทั่วไปเมื่ออายุมากขึ้น เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนและกระดูกสันหลังบริเวณคอ และอาการอาจรุนแรงมากขึ้นจากปัจจัยอื่นๆ ได้

คำจำกัดความ

กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือ กระดูกคอเสื่อม คืออะไร

กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม (Cervical spondylosis) หรือ กระดูกคอเสื่อม (Cervical osteoarthritis) หรือ กระดูกคออักเสบ (Neck arthritis) เป็นโรคที่พบได้ทั่วไปเมื่ออายุมากขึ้น เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนและกระดูกสันหลังบริเวณคอ

แม้จะเป็นเรื่องปกติที่พบในผู้สูงอายุ แต่อาการอาจรุนแรงมากขึ้นจากปัจจัยอื่นๆ ได้เช่นกัน ในผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการปวดและเกร็งรุนแรงและเรื้อรัง อย่างไรก็ดี คนจำนวนมากที่มีกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม ยังคงสามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ตามปกติ

กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือกระดูกคอเสื่อมพบได้บ่อยแค่ไหน

กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมหรือกระดูกคอเสื่อมพบได้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จำนวนมากกว่าร้อยละ 85 ขณะที่ผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคนี้ไม่เคยมีอาการ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์

อาการ

อาการกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมหรือกระดูกคอเสื่อม

ผู้ป่วยกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือ กระดูกคอเสื่อมเกือบทั้งหมดไม่มีอาการที่ชัดเจน แต่หากมีอาการ อาจมีอาการตั้งแต่ขั้นไม่รุนแรงไปจนถึงอาการขั้นรุนแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยทันที อาการที่พบได้บ่อยประการหนึ่งคือ อาการปวดกระดูกสะบัก ผู้ป่วยมักมีอาการปวดตามแขนและนิ้วมือ โดยอาจมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อ

  • ยืน
  • นั่ง
  • จาม
  • ไอ
  • เอนคอไปด้านหลัง

อาการที่พบได้มากอีกประการหนึ่งคือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้ยกแขนหรือหยิบจับสิ่งของแน่นๆ ได้ยาก สิ่งบ่งชี้อื่นๆ ที่พบได้ทั่วไป ได้แก่

  • อาการคอแข็งที่มีอาการแย่ลงเรื่อยๆ
  • ปวดศีรษะ โดยเฉพาะบริเวณศีรษะส่วนหลัง
  • อาการปวดแปล๊บ หรืออาการชาบริเวณไหล่ แขน และขา

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจจะมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบหมอเมื่อใด

หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใดๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีข้อคำถามใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์ เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดจึงควรพูดคุยกับคุณหมอ เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือ กระดูกคอเสื่อม

กระดูกและกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่ป้องกันคอมักมีความไวต่อความเสื่อม ทำให้เกิดกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือ กระดูกคอเสื่อม โดยมีสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ ดังนี้

กระดูกงอก

กระดูกงอกเป็นผลของการที่ร่างกายพยายามสร้างกระดูกเพิ่มเติมเพื่อทำให้กระดูกสันหลังแข็งแรงมากขึ้น อย่างไรก็ดี กระดูกส่วนเกินสามารถกดทับบริเวณที่เปราะบางของกระดูกสันหลังได้ เช่น ไขสันหลังและเส้นประสาท ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดได้

หมอนรองกระดูกไขสันหลังแห้ง

ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อจะมีหมอนรองอยู่ ซึ่งเป็นแผ่นรองหนา ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกจากการยกของ การบิดตัว และกิจกรรมอื่นๆ เมื่อเวลาผ่านไป วัตถุคล้ายเจลที่อยู่ภายในหมอนรองกระดูกเหล่านี้จะแห้งลง ทำให้กระดูกสันหลังเสียดสีกันมากขึ้น จนเกิดอาการปวดได้

หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกสันหลังอาจเกิดรอยแตก ทำให้วัตถุรองรับภายในเกิดการรั่วซึมออกมาและกดทับลงบนไขสันหลังและเส้นประสาท ซึ่งทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น แขนชาและอาการปวดหลังร้าวไปขา

การบาดเจ็บ

หากบริเวณคอได้รับบาดเจ็บ จากอุบัติเหตุต่างๆ เช่น หกล้ม อุบัติเหตุทางรถยนต์ ก็อาจกระตุ้นให้เกิดการเสื่อมของกระดูกสันหลังส่วนคอได้

เส้นเอ็นยึด

เมื่ออายุมากขึ้น เส้นเอ็นที่เชื่อมต่อกระดูกสันหลังเข้าด้วยกันนั้นเกิดอาการตึงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนไหวคอและทำให้คอรู้สึกตึง

การใช้งานหนักเกินไป

อาชีพหรืองานอดิเรกบางอย่างที่ต้องเคลื่อนไหวซ้ำๆ หรือการยกของหนัก เช่น งานก่อสร้าง จะทำให้มีแรงกดกระดูกสันหลังมากเกินไป ส่งผลให้กระดูกคอเสื่อมเร็วได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือกระดูกส่วนคอเสื่อม

เชื่อกันว่าปัจจัยเสี่ยงของกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือ กระดูกคอเสื่อมที่พบมากที่สุดคืออายุที่มากขึ้น โดยมักเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงที่ข้อต่อกระดูกคอเมื่อคุณมีอายุมากขึ้น และมีภาวะร่วมบางประการ เช่น หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ภาวะขาดน้ำ และกระดูกงอก นอกเหนือจากอายุที่มากขึ้นแล้ว ก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงของกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือ กระดูกคอเสื่อม ได้แก่

  • การบาดเจ็บที่คอ
  • กิจกรรมจากการทำงานที่มีแรงกดทับที่คอมากเกินไป เช่น การยกของหนัก
  • คออยู่ผิดท่าเป็นเวลานานหรือมีการเคลื่อนไหวคอแบบเดิมซ้ำๆ ตลอดทั้งวัน
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม คือ มีประวัติครอบครัวเป็นกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือ กระดูกคอเสื่อม
  • การสูบบุหรี่
  • การมีน้ำหนักเกินหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมหรือกระดูกคอเสื่อม

แพทย์จะทำการการตรวจร่างกายและทำการทดสอบสอบบางประการ โดยการตรวจตามปกติ ได้แก่ การทดสอบปฏิกิริยาตอบสนองฉับพลัน

การตรวจหากล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือความผิดปกติของระบบประสาทสัมผัส รวมทั้งการทดสอบขอบเขตการเคลื่อนไหวของคอ นอกจากนี้ อาจยังต้องตรวจดูวิธีการเดินของผู้ป่วยด้วย โดยแพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้ว่าเส้นประสาทและไขสันหลังมีแรงกดที่มากเกินไปหรือไม่

การตรวจอื่นๆ ที่แพทย์อาจสั่งให้ทำร่วมด้วย ได้แก่

การตรวจ X-rays

สามารถใช้เพื่อตรวจหากระดูกงอกหรือความผิดปกติอื่นๆ

การตรวจ CT scans

สามารถทำให้ได้ภาพถ่ายคอที่ละเอียดมากขึ้นได้

การตรวจ MRI

วิธีนี้ใช้คลื่นวิทยุและสนามแม่เหล็กเพื่อช่วยให้แพทย์ระบุตำแหน่งเส้นประสาทที่ถูกกดทับได้

การถ่ายภาพฉีดสารทึบรังสีของไขสันหลัง

เป็นการฉีดสีที่ใช้เพื่อเน้นบริเวณของกระดูกสันหลังบางจุด แล้วมีการตรวจซีทีสแกน (CT scan) หรือการตรวจเอ็กซเรย์ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายอย่างละเอียด ในบริเวณนั้นๆ

การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ หรือ EMG

การตรวจ EMG ใช้เพื่อตรวจว่าเมื่อส่งสัญญาณไปยังกล้ามเนื้อ เส้นประสาทยังทำงานตามปกติหรือไม่

การรักษากระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมหรือกระดูกคอเสื่อม

การรักษากระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือ กระดูกคอเสื่อมเน้นที่การบรรเทาอาการปวด ลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายถาวร และช่วยให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่ชีวิตปกติ วิธีการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัดมักได้ผลเป็นอย่างดี

กายภาพบำบัด

กายภาพบำบัดช่วยยืดกล้ามเนื้อคอและกล้ามเนื้อไหล่ได้ ทำให้คอและไหล่แข็งแรงมากขึ้นซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ในที่สุด ผู้ป่วยอาจเข้ารับการดึงคอ ซึ่งเป็นการใช้น้ำหนักเพิ่มระยะห่างระหว่างข้อต่อกระดูกคอ เพื่อลดแรงกดทับบริเวณหมอนรองกระดูกคอและรากประสาท

การใช้ยา

หากการใช้ยาที่วางจำหน่ายทั่วไปไม่ได้ผล แพทย์อาจสั่งยาพิเศษบางชนิด ได้แก่

  • ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น ยาไซโคลเบนซาพรีน (cyclobenzaprine) เพื่อรักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง (muscle spasms)
  • ยาแก้ปวด เช่น ยาไฮโดรโคโดน (hydrocodone) เพื่อบรรเทาอาการปวด
  • ยากันชัก เช่น ยากาบาเพนติน (gabapentin) เพื่อบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาทเสียหาย
  • การฉีดสเตียรอยด์ เช่น ยาเพรดนิโซน (prednisone) เพื่อบรรเทาอาการติดเชื้อที่เนื้อเยื่อและอาการปวด

การผ่าตัด

หากภาวะของโรคมีความรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาในรูปแบบอื่นๆ ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด เพื่อกำจัดกระดูกงอกบริเวณคอหรือหมอนรองกระดูกที่ทับเส้นประสาท เพื่อทำให้ไขสันหลังและเส้นประสาทมีช่องว่างมากขึ้น อย่างไรก็ดี การผ่าตัดไม่ค่อยมีความจำเป็นสำหรับกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือ กระดูกคอเสื่อม แพทย์อาจแนะนำให้มีการผ่าตัด ในกรณีที่มีอาการปวดรุนแรงซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการเคลื่อนไหวของแขน

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อรับมือกับกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม หรือ กระดูกคอเสื่อม

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้รับมือกับกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมหรือกระดูกคอเสื่อมได้

  • ใช้แผ่นประคบร้อนหรือแผ่นประคบเย็นที่คอเพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  • สวมใส่แผ่นดามคอหรือปลอกคอที่อ่อนนุ่ม เพื่อบรรเทาอาการปวดชั่วคราว อย่างไรก็ดี ไม่ควรสวมใส่แผ่นดามคอหรือปลอกคอเป็นเวลานาน เนื่องจากสามารถทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้

หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณได้ดีขึ้น

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา