backup og meta

รู้สึกปวดไหล่มาก ไม่ใช่เพราะมีใครมาขี่คอ แต่เป็นเพราะปวดไหล่จากการทำงาน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 26/08/2020

    รู้สึกปวดไหล่มาก ไม่ใช่เพราะมีใครมาขี่คอ แต่เป็นเพราะปวดไหล่จากการทำงาน

    ประชาชนชาวออฟฟิศทั้งหลายคงจะเคยประสบกับ อาการปวดไหล่ กันมาบ้าง เพราะต้องนั่งทำงานอยู่ในท่าเดิมตลอดทั้งวัน แต่อาการปวดไหล่สามารถที่จะแก้ไขได้ วันนี้เรามาดูกันว่าถ้า ปวดไหล่ จากการทำงาน จะมีวิธีรับมือและป้องกันอย่างไรได้บ้าง ไปติดตามสาระดีๆ ที่บทความนี้ จาก Hello คุณหมอ กันเลยค่ะ

    สาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ ปวดไหล่

    อาการปวดไหล่ (Shoulder pain) นั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป บางครั้งอาการปวดไหล่ก็เป็นลักษณะอาการของโรคต่างๆ ที่แสดงออกถึงความเจ็บปวดที่บริเวณไหล่ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม หรือโรคไขข้ออักเสบ และยังสามารถเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ด้วย ได้แก่

    • เกิดการผิดท่าผิดทางกับบริเวณไหล่ อาจเป็นการนั่ง การนอน การยก ย้ายสิ่งของต่างๆ การทำกิจกรรมที่ต้องมีการเคลื่อนไหวช่วงแขนและหัวไหล่
    • การยกของหนักขึ้นเหนือหัวไหล่
    • เกิดการกดทับที่บริเวณไหล่ 
    • เกิดอาการบาดเจ็บที่บริเวณหัวไหล่และกล้ามเนื้อบริเวณไหล่
    • เกิดอาการอักเสบที่บริเวณเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ กระดูกที่บริเวณหัวไหล่
    • กล้ามเนื้อบริเวณคอ และไหล่ เกิดอาการตึงในขณะที่นั่งทำงานหรือขณะที่ยืน

    อาการ ปวดไหล่ เกิดจากการทำงานได้อย่างไร

    การเคลื่อนไหว อากัปกิริยาต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเราสามารถที่จะส่งผลให้เกิดอาการปวดไหล่ได้ โดยเฉพาะในการทำงาน สำหรับผู้ที่ต้องทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ หรือทั้งวัน จะส่งผลให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่บริเวณช่วงคอและข้อมือ รวมถึงบริเวณไหล่เกิดอาการตึง เกร็ง เพราะกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นในบริเวณดังกล่าวต้องค้างอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน

    กล่าวคือ ลำคอก็จะตั้งตรง ใบหน้าจดจ่อที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ข้อมือจะประจำอยู่ที่แป้นพิมพ์และเม้าส์ เมื่ออยู่ในท่านี้เป็นเวลานานๆ ก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่เกิดอาการเมื่อยล้า และนานเข้าก็เสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บหรืออักเสบที่เส้นเอ็น ท้ายที่สุดจึงเกิดเป็น อาการปวดไหล่ ตามมาในที่สุด

    ปรับท่านั่งในการทำงานอย่างไรให้เหมาะสม

    หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องทำงานกับหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่บ่อยๆ และต้องนั่งทำงนในท่าเดิมนานๆ จนรู้สึกปวดไหล่ล่ะก็ ลองมาปรับเปลี่ยนท่านั่งในการทำงานเพื่อป้องกัน อาการปวดไหล่ ดังนี้

  • ให้ความสำคัญกับเก้าอี้ เก้าอี้ที่นั่งทำงานควรที่จะสามารถปรับขึ้น-ลงได้ เพื่อให้สามารถปรับระดับความสูงต่ำได้อย่างเหมาะสมกับสรีระของคนทำงานและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
  • เลือกใช้เก้าอี้ที่มีพนักหลัง เพื่อให้เกิดการรองรับบริเวณหลังส่วนล่าง หรือช่วงเอว
  • ระยะห่างระหว่างหน้าจอควรห่างจากใบหน้าในระยะความยาวของแขน และหน้าจอต้องไม่ตั้งอยู่สูงกว่าระดับของสายตา
  • เวลาพิมพ์งาน หรือใช้เม้าส์ ข้อมือกับช่วงแขน(ระหว่างข้อศอกถึงข้อมือ)ควรวางตรงไปในแนวเดียวกัน ไม่ควรทำมุม
  • ขณะพิมพ์งาน ช่วงต้นแขนควรจะอยู่แนบกับลำตัว บริเวณข้อศอก ข้อพับแขน ควรอยู่แนบชิดกับลำตัว 
  • เท้าควรแตะพื้นอย่างมั่นคง วางขาให้ขนานกับพื้น นั่งตัวตรง ไม่งอตัว
  • ป้องกันอาการปวดไหล่จากการทำงานอย่างไรได้บ้าง

    นอกเหนือไปจากการปรับท่านั่งในการทำงานแล้ว เรายังสามารถที่จะป้องกัน อาการปวดไหล่ จากการนั่งทำงานได้อีกหลายวิธี ดังนี้

  • อย่านั่งอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ ควรเปลี่ยนอริยาบถบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการยืดเส้นยืดสาย การออกไปเดินสูดอากาศบริสุทธิ์ พยายามปรับเปลี่ยนท่าทางในการทำงานอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้นั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ เนื่องจากจะก่อให้เกิดอาการเมื่อยล้า และส่งผลให้เกิด อาการปวดไหล่
  • โต๊ะทำงานไม่ควรสูงหรือต่ำจนเกินไป เมื่อเวลานั่งโต๊ะทำงานควรจะสูงอยู่ในแนวเดียวกับข้อศอก
  • ใช้อุปกรณ์เสริมเพิ่มความสะดวก หากหน้าที่การทำงานของคุณจำเป็นต้องเอี้ยวตัวไปรับโทรศัพท์บ่อยๆ หรือบางครั้งต้องมีการหนีบโทรศัพท์ไว้กับหูและไหล่เพื่อจดรายละเอียดการทำงาน ให้หาอุปกรณ์เสริมอย่างหูฟัง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเอี้ยวตัวหรือหนีบโทรศัพท์ 
  • ให้ความสำคัญกับช่วงเวลาพัก อย่าหักโหมจนเกินไป ร่างกายควรจะได้เปลี่ยนแปลงอริยาบถหรือพักผ่อนเพื่อคลายความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ
  • พบคุณหมอ หาก อาการปวดไหล่ ที่เป็นอยู่มีอาการเรื้อรัง รักษาในเบื้องต้นแล้วไม่มีทีท่าว่าอาการจะดีขึ้น ให้ไปพบคุณหมอเฉพาะทาง เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 26/08/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา