backup og meta

อะไรคือสาเหตุของอาการปวดที่ข้อต่อ?

เขียนโดย แพทย์หญิงพิมพ์ชนก ตันติวงศ์ · ศัลยกรรมกระดูกและข้อ · โรงพยาบาลขอนแก่น


แก้ไขล่าสุด 16/03/2021

    อะไรคือสาเหตุของอาการปวดที่ข้อต่อ?

    อาการปวดที่ข้อต่อ (Joint pain) ส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต เป็นอาการทั่วไปที่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยทั่วไปถ้าแบ่งสาเหตุตามโครงสร้างภายในข้อต่อ อาการปวดและอาการอักเสบของข้อต่อมักเกิดขึ้นจากการมีพยาธิสภาพของเนื้อเยื่อภายในและรอบๆ ข้อ เช่น กระดูกอ่อน, กระดูก, เอ็น, เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่ในทางการแพทย์อาการปวดที่ข้อต่อ มักจำเพาะเจาะจงหมายถึง ข้ออักเสบ (Arthritis) หรือ อาการปวดข้อ (Arthalgia) ซึ่งเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในข้อเอง อาการปวดที่ข้อต่อสามารถมีได้ตั้งแต่ปวดเล็กน้อยเฉพาะขณะมีการขยับของข้อจนถึงปวดรุนแรงจนกระทั่งไม่สามารถขยับข้อได้เลย หรือออกแรงลงน้ำหนักบริเวณข้อที่ปวดแล้วเกิดอาการปวดอย่างรุนแรง ซึ่งลักษณะอาการปวดต่างๆ ก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุ สาเหตุดังต่อไปนี้เป็นสาเหตุของอาการปวดที่ข้อต่อที่พบได้

    โรคที่ทำให้มีอาการปวดข้อที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • โรคข้ออักเสบ (Arthritis) เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อ โรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อยสองอันดับแรก ได้แก่ ข้อเสื่อม (osteoarthritis) และ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) โรคข้ออักเสบมักทำให้เกิดความเสียหายที่กระดูกอ่อนในข้อ และทำให้เกิดอาการบวม อาการอักเสบ ข้อยึดและไม่สามารถขยับได้ มักมีอาการที่ตำแหน่ง ข้อมือ มือ สะโพกและเข่า กระดูกอ่อนในข้อต่อที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนหมอนรองรับแรงกระแทกในข้อต่อ
  • 1.1 โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่เกิดขึ้นช้าๆ ต่อเนื่อง โดยทั่วไปมักเกิดจากแรงกระทำที่ผิวข้อที่มากเกินผิวข้อจะรับน้ำหนักไหวต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยกระดูกอ่อนผิวข้อเสื่อมลงเรื่อยๆ จนกระทั่งบางลงจนถึงชั้นกระดูกใต้ผิวข้อทำให้เกิดอาการปวดข้อเกิดขึ้น โรคอ้วนสามารถทำให้เกิดการกดทับที่ข้อต่อและทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเสื่อมได้ วิธีการชะลออาการคือการออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนัก

    1.2 โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกายส่งผลทำให้เกิดการทำลายของเนื้อเยื่อปกติในข้อจนเกิดการอักเสบ นำไปสู่อาการปวดข้อและการทำลายกระดูกอ่อน เป็นโรคที่เกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและ ทำให้ข้อต่อผิดรูปและกระดูกบางได้ง่าย

    1. การบาดเจ็บของข้อต่อ

    เป็นภาวะการบาดเจ็บจากแรงกระทำภายนอก ทำให้เกิดการอักเสบของข้อต่อและเนื้อเยื่อโครงสร้างรอบๆ ข้อต่อ เช่น เยื่อบุข้ออักเสบ (Traumatic synovitis), ถุงน้ำที่รองรับข้อต่อการอักเสบ หรือ เบอร์ไซทิส (Bursitis) อาการเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากการบาดเจ็บที่ข้อต่อจากการใช้งานหนัก หรือ แรงกระทำที่มากเกินกว่าปกติ วิธีการที่ดีที่สุด คือ การป้องกันการบาดเจ็บตนเพื่อให้ข้อต่อตามร่างกายได้รับแรงกระทำที่เหมาะสมไม่มากจนเกินพอดี ยกตัวอย่างเช่น การสวมรองเท้าป้องกันที่เหมาะสมเมื่อเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมใดๆ

    1. โรคเกาท์ (Gout/ pseudogout)

    โรคเกาท์ทำให้เกิดอาการปวด แดงและเจ็บเฉียบพลันในข้อต่อ ซึ่งมักเกิดที่บริเวณหัวแม่เท้า โรคนี้เกิดจากการสะสมของกรดยูริค ซึ่งเป็นผลมาจากการแตกตัวของโปรตีนและเกิดการย่อยจนได้กรดยูริค ภาวะกรดยูริคสูงมักเกิดจากไตมักไม่สามารถกำจัดกรดยูริคส่วนเกินได้หรือเกิดจากภาวะไตเสื่อมทำงานได้ไม่เต็มที่ และเมื่อรับประทานอาหารที่มีกรดยูริคสูงมากเกินไป เช่น เนื้อแดง อาหารทะเลและเบียร์ จะยิ่งเพิ่มระดับกรดยูริคในเลือดให้สูงขึ้น ซึ่งหากระดับกรดยูริคในกระแสเลือดมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นและลงอย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดอาการอักเสบและเจ็บรุนแรงที่บริเวณข้อต่อ และหากระดับกรดยูริคสูงเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดการสะสมเป็นผลึกในข้อต่อ ซึ่งทำให้เกิดก้อนปุ่มโทฟัสตามข้อจนเกิดอาการอักเสบและเจ็บปวดรุนแรงได้ในเวลาต่อมา คุณสามารถจัดการกับโรคเกาท์ได้โดยการออกกำลังกายเป็นประจำและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง แต่ดื่มน้ำมากๆ แทน ส่วนโรคเกาท์เทียม มีอาการคล้ายโรคเกาท์คือเกิดผลึกแคลเซียมสะสมในข้อต่อ แต่ต่างกันตรงที่โรคนี้มักส่งผลต่อข้อต่อบริเวณเข่า และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อายุที่เพิ่มขึ้นและประวัติครอบครัวสามารถเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคนี้ได้

    4.กระดูกสะบ้าเข่าเสื่อม

    คุณเคยได้ยินชื่ออาการคอนโดรมาลาเชีย (Chondromalacia) หรือไม่ เป็นที่รู้จักในชื่ออาการผิวสะบ้าอักเสบ หรือ “runner’s knee” ซึ่งเป็นอาการที่กระดูกอ่อนที่ลูกสะบ้าเข่าเกิดความเสียหาย อาการนี้เกิดในผู้ที่ออกกำลังกายและผู้ใหญ่ที่มีอาการโรคข้ออักเสบ อาการของโรคมักเกิดจากการบาดเจ็บซ้ำจากการเล่นกีฬาหรือการเรียงตัวของเอ็นข้อเข่าที่ไม่ดีซึ่งพบได้ในนักวิ่ง คุณสามารถรักษาปัญหานี้ได้ด้วยตนเองโดยการรับประทานยาแก้อักเสบ ประคบเย็นและพักการใช้งานเข่า

    5.ข้อเท้าพลิกข้อเท้าแพลง (Sprains and strains)

    อาการปวดข้ออาจเกิดจากข้อเท้าพลิกหรือแพลง ในบางครั้งเมื่อคุณเกิดการข้อเท้าพลิกหรือแพลง เส้นเอ็นจะเกิดการยืดหรือฉีกขาด เส้นเอ็นเป็นเนื้อเยื่อที่เชื่อมกระดูกกับข้อต่อ การเกิดข้อเท้าพลิกหรือแพลงอาจเกิดขึ้นเมื่อหกล้ม บิด หรือได้รับบาดเจ็บ นอกจากอาการปวดข้อแล้วคุณอาจเกิดอาการบวมหรือมีปัญหาเกี่ยวกับเคลื่อนไหว ในบางครั้งอาจเกิดอาการกล้ามเนื้อฉีกร่วมด้วยได้ การรักษาอาการข้อเท้าพลิกหรือแพลงเบื้องต้น คือการประคบเย็น และพันบริเวณที่มีอาการเพื่อให้ข้อต่ออยู่กับที่

    ข้อมูลต่อไปนี้ช่วยให้คุณเข้าใจสาเหตุของอาการปวดข้อที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้นเบื้องต้น  แต่ไม่สามารถใช้ในการวินิจฉัยโรคได้ด้วยตนเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและให้การรักษา

    1. กรณีที่มีอาการปวดเพียง 1 ข้อ

    ปวดเข่า

    ข้อเข่ามักเป็นข้อที่รับบาดเจ็บได้ง่าย และเป็นตำแหน่งข้อที่เกิดอาการปวดอักเสบได้บ่อย เนื่องจากเป็นข้อที่รับน้ำหนักทั้งหมดของร่างกายและมีการใช้งานต่อเนื่องตลอดทั้งวัน แต่สาเหตุของอาการปวดบริเวณข้อเข่า ไม่ได้มาจากข้ออักเสบเสมอไป สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการปวดข้อเข่าแบ่งตามโครงสร้างได้ดังนี้

    1.1 การอักเสบของเยื่อบุรอบข้อ

    มักเกิดจากการมีการบาดเจ็บของเยื่อบุรอบข้อและเส้นเอ็นจนเกิดอาการปวดข้อขึ้นมาทันทีจากแรงกระทำภายนอกเนื่องจากข้อเข่าเป็นข้อที่รับแรงกระแทกส่วนใหญ่ เรียกภาวะนี้ว่า เยื่อบุข้ออักเสบจากการการบาดเจ็บ (Traumatic synovitis) ซึงมักไม่ค่อยมีอาการแดงหรืออุ่นบริเวณข้อ อาจมีอาการบวมได้ สามารถให้การรักษาเบื้องต้นที่บ้าน โดยพักการใช้งานบริเวณนั้นๆ และประคบเย็น หรือรับประทานยา NSAIDs ร่วมด้วย

    1.2 โรคเกาท์ หรือ โรคเกาท์เทียม

    มักมีอาการบวมแดง อุ่น บริเวณข้อต่อ และ มีอาการปวดข้อเป็นๆ หายๆ บ่อยๆ โดยมักปวดขึ้นมาทันทีภายใน 24 ชั่วโมงและอาการปวดหายได้เองภายในไม่เกิน 1 สัปดาห์ ตำแหน่งข้ออันดับแรกที่มักเกิดโรคเกาท์ คือ ข้อนิ้วหัวแม่เท้าข้อแรก และจึงค่อยเกิดโรคเกาท์ในข้ออื่นๆ ในเวลาต่อมา ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อลักษณะนี้ควรได้รับการวินิจฉัยโรคเกาท์ให้ถูกต้องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวางแผนการรักษาระยะยาว และป้องกันการเกิดข้ออักเสบซ้ำจนไม่สามารถขยับข้อได้ ส่วนโรคเกาท์เทียมมักมีอาการปวดข้อลักษณะคล้ายโรคเกาท์ แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มปวดที่ข้อเข่าก่อนแล้วจึงปวดข้ออื่นๆ ในเวลาต่อมา

    1.3 การบาดเจ็บที่กระดูกอ่อนด้านหลังหมวกเข่า

    อาการปวดเข่าจะมากขึ้นขณะเดินขึ้นลงบันได เป็นสัญญาณของการบาดเจ็บที่กระดูกอ่อนด้านหลังหมวกเข่า (knee cap) เรียกว่า chondromalacia patellae โรคนี้จะไม่มีร่องรอยการอักเสบ แดง อุ่น ให้เห็นรอบๆ ข้อเข่า สาเหตุส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากการใช้งานข้อเข่าอย่างหนักสามารถให้การรักษาเบื้องต้นที่บ้าน โดยพักการใช้งานบริเวณนั้นๆ และประคบเย็น หรือรับประทานยา NSAIDs ร่วมด้วย

    1.4 ภาวะเลือดออกในช่องข้อ

    หากเกิดการบาดเจ็บที่ข้อเข่า เช่น มีการฉีกขาดของเอ็นในข้อเข่าหรือมีกระดูกหัก อาจเป็นสาเหตุให้มีเลือดออกในช่องข้อ เรียกภาวะนี้ว่า haemarthrosis ซึ่งจะเกิดภาวะนี้ได้บ่อยในกรณีที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด เช่น วอฟาริน สัญญาณที่บ่งบอกว่า มีภาวะเลือดออกในช่องข้อ คือ เข่าบวม, อุ่น, ข้อติดและมีรอยช้ำแม้ได้รับการกระทบกระแทกเพียงเล็กน้อย หากเกิดภาวะนี้และมีข้อเข่าบวมขึ้นอย่างมากควรรีบไปพบแพทย์ทันที

    1. กรณีมีอาการปวดหลายๆ ข้อ

    2.1 ข้ออักเสบรูมาตอยด์

    เป็นโรคข้ออักเสบที่ทำให้เกิดอาการปวดบวมของข้ออย่างชัดเจน ในระยะแรกมักมีเพียงอาการปวดเพียงอย่างเดียวต่อมาจึงมีอาการทั้งปวดและบวมมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานเป็นสัปดาห์ถึงเป็นเดือนๆ ได้ มักมีอาการข้อติดขัดและปวดมากในช่วงเช้า บางรายอาจมีอาการไข้ เหนื่อยอ่อนเพลียทั้งร่างกายได้ ตำแหน่งข้อที่มักเกิดข้ออักเสบรูมาตอยด์ คือ มือ, เท้า และข้อมือ ส่วนใหญ่มักมีอาการข้ออักเสบบริเวณข้อทั้งสองข้าง (symmetrical arthritis) ของร่างกาย

    2.2 โรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อไวรัส

    มักมีอาการปวดข้อร่วมกับมีไข้พร้อมๆ กัน เชื้อไวรัสที่พบว่าเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดข้อได้บ่อย คือ โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นโรคที่ทำให้มีการอักเสบของตับเกิดขึ้นจากภูมิที่ต่อต้านไวรัส, โรครูเบลลา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยในเด็ก

    2.3 โรคข้ออักเสบจากโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน

    มักมีอาการปวดข้อทั่วๆ ร่างกาย เนื่องจากกลุ่มโรคนี้เป็นโรคที่แสดงอาการได้ทุกอวัยวะภายในร่างกาย ตัวอย่างโรคในกลุ่มนี้ที่มักมีอาการปวดข้อ คือ โรคเอสแอลอี เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อต้านเนื้อเยื่อตนเองทั้งร่างกาย, โรคหนังแข็ง เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันตนเองต่อต้านเนื้อเยื่อตนเองโดยจำเพาะเจาะจงที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวบวมและแข็งตึง

    โดยสรุปอาการปวดข้อมักเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งที่สามารถรักษาตนเองที่บ้านได้และจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตามวิธีการจัดการกับความเสี่ยงเพื่อป้องกันอาการปวดข้อที่สามารถทำได้เบื้องต้น คือการออกกำลังกายที่เหมาะสม การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และใช้อุปกรณ์ป้องกันขณะออกกำลังกาย และหากมีอาการปวดข้อรุนแรง ไม่เคยเป็นมาก่อน มีลักษณะพิเศษต่างๆ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและรักษาต่อไป

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    เขียนโดย

    แพทย์หญิงพิมพ์ชนก ตันติวงศ์

    ศัลยกรรมกระดูกและข้อ · โรงพยาบาลขอนแก่น


    แก้ไขล่าสุด 16/03/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา