backup og meta

การทํา IF กับประโยชน์และข้อควรระวังที่ควรรู้

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี · โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/02/2023

    การทํา IF กับประโยชน์และข้อควรระวังที่ควรรู้

    การทํา IF หรือ Intermittent Fasting เป็นการจำกัดเวลารับประทานอาหารที่อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก และระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม การทำ IF อาจส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ นอนไม่หลับ และหิวบ่อย อีกทั้งยังอาจไม่เหมาะสำหรับบางคน จึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนวางแผนการรับประทานอาหาร

    ประโยชน์ของ กาทํIF

    การทำ IF อาจส่งผลดีต่อสุขภาพ ดังนี้

  • อาจช่วยลดน้ำหนัก และช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
  • อาจช่วยควบคุมระดับความดัน และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน
  • อาจช่วยลดไขมันในร่างกาย หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) รวมถึงไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ โรคอ้วน และโรคเบาหวาน
  • อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันการติดเชื้อโรค เช่น ไวรัส แบคทีเรีย ที่นำไปสู่การเกิดโรค เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
  • อาจช่วยลดความเสียหายของเนื้อเยื่อจากการผ่าตัด และอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเซลล์ออโตฟาจี้ (Autophagy) ซึ่งเป็นกระบวนการฟื้นฟูและสร้างเซลล์ใหม่ ด้วยการกลืนกินเซลล์เก่าที่เสียหาย 
  • อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านความทรงจำ และกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทใหม่ และอาจช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์
  • จากการศึกษาในวารสาร Journal of Nursing Research ปี พ.ศ. 2565 ที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการรับประทานอาหารแบบ IF ต่อการลดน้ำหนักและการลดความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยนักวิจัยได้ให้อาสาสมัครจำนวน 101 คน ที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน รวมถึงมีภาวะก่อนเบาหวาน รับประทานอาหารแบบ IF ในรูปแบบ 16/8 เป็นเวลา 3 สัปดาห์ จากนั้นทำการชั่งน้ำหนัก คำนวณดัชนีมวลกาย รอบเอว ระดับน้ำตาลในเลือด พบว่า อาสาสมัครมีดัชนีมวลกายและน้ำหนักตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจได้

    วิธีกาทํ IF สำหรับมือใหม่

    วิธีการทํา IF สำหรับมือใหม่ ควรเริ่มจากพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพเบื้องต้น และขอคำแนะนำจากคุณหมอ เพื่อวางแผนการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม โดยรูปแบบการทำ IF ส่วนใหญ่มีหลายประเภทด้วยกัน เช่น

  • Fast 5 คือ การรับประทานอาหารภายใน 5 ชั่วโมง จากนั้นจะอดอาหารเป็นเวลา 19 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง
  • Eat Stop Eat เป็นการอดอาหาร 24 ชั่วโมง แต่ยังคงสามารถดื่มน้ำและเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่ต่ำหรือไม่มีแคลอรี่ได้ โดยควรทำเพียงแค่ 1-2 ครั้ง/สัปดาห์
  • Fast Diet 5:2 คือ การอดอาหาร โดยที่ภายใน 1 สัปดาห์จะสามารถรับประทานอาหารแบบปกติได้ 5 วัน ส่วนอีก 2 วัน ควรปรับเป็นการรับประทานอาหารโดยจำกัดแคลอรี่วันละ 500-600 กิโลแคลอรี่ ซึ่งสามารถทำติดกัน 2 วัน หรือเว้นระยะเวลาห่างกันตามที่คุณหมอแนะนำ
  • การอดอาหารแบบ 16/8 คือ การอดอาหารเป็นเวลา 16 ชั่วโมง และรับประทานอาหารในช่วง 8 ชั่วโมง
  • Warrior Diet เป็นการอดอาหาร 20 ชั่วโมง และรับประทานอาหารภายในระยะเวลา 4 ชั่วโมง โดยควรเน้นการรับประทานอาหารจำพวกผัก โปรตีน และไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่น กะหล่ำปลี คะน้า ธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา ถั่วต่าง ๆ
  • Alternate-Day Fasting (ADF) คือ การอดอาหารแบบวันเว้นวัน หรือในช่วงวันที่งดรับประทานอาหารสามารถรับประทานได้เป็นเพียงแค่มื้อเล็ก ๆ ไม่เกิน 500 แคลอรี่ แต่ในวันที่รับประทานอาหารสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
  • นอกจากการรับประทานแล้ว ควรออกกำลังกายในระดับเบาร่วมด้วย เช่น เดิน วิ่ง โยคะ แต่ไม่ควรออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมหนัก ๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่อดอาหาร เพราะอาจส่งผลให้ร่างกายดึงมวลกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงาน ซึ่งจะส่งผลเสียในระยะยาว

    ข้อควรระวังใน กาทํ IF

    ข้อควรระวังในการทํา IF มีดังนี้

    • ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยารักษาเบาหวานหรือฉีดอินซูลิน อาจจำเป็นต้องวางแผนการรับประทานอาหารให้สอดคล้องกับยาร่วมกับคุณหมอ เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำจนเกินไป
    • การทำ IF อาจส่งผลให้รู้สึกหิวโหยและอยากอาหารมากขึ้น หากควบคุมความหิวได้ไม่ดีก็อาจนำไปสู่การรับประทานอาหารมากกว่าปกติได้
    • การทำ IF ไม่เหมาะสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์หรือผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร รวมถึงผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารผิดปกติ
    • การลดน้ำหนักแบบ IF ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคตับ หรือโรคมะเร็ง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

    โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา