backup og meta

กินคอลลาเจน ผลข้างเคียง มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/12/2022

    กินคอลลาเจน ผลข้างเคียง มีอะไรบ้าง

    คอลลาเจนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบมากที่สุดในร่างกาย ซึ่งจำเป็นต่อการเติบโตและซ่อมแซมผิวหนังและกระดูก ทั้งนี้ เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะผลิตคอลลาเจนน้อยลง จึงอาจต้องได้รับคอลลาเจนทดแทนเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การ กินคอลลาเจน ผลข้างเคียง อาจเกิดขึ้นได้แต่ไม่รุนแรงนัก เช่น ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ผื่นขึ้น ปวดหัว วิงเวียน

    คอลลาเจน คืออะไร

    คอลลาเจน คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้มากที่สุดในร่างกายมนุษย์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของผิวหนัง กระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น ผม และเล็บ โดยมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

  • ซ่อมแซมเซลล์ส่วนที่สึกหรอ
  • ส่งเสริมความแข็งแรงของกระดูก เล็บ กล้ามเนื้อ ข้อต่อ
  • รักษาความยืดหยุ่น เต่งตึง เรียบเนียนให้ผิวหนัง
  • เพิ่มการยึดเกาะระหว่างเส้นผมและหนังศีรษะ
  • เสริมสร้างความยืดหยุ่นให้หลอดเลือด
  • ทำไมต้อง กินคอลลาเจน

    เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายของมนุษย์จะผลิตคอลลาเจนน้อยลง ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา และการกินคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริม อาจมีประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้

    • ชะลอการเหี่ยวย่นของผิวหนัง คอลลาเจนเป็นส่วนประกอบหลักของผิวหนัง หรือคิดเป็น 3 ใน 4 ของส่วนประกอบทั้งหมด เมื่อคอลลาเจนลดลงจึงส่งผลให้ใบหน้าเกิดริ้วรอย ผิวหนังเหี่ยวย่น ทั้งนี้ การกินคอลลาเจนทดแทนอาจช่วยเพิ่มคอลลาเจนในชั้นผิว ทำให้ผิวหนังเต่งตึงและยืดหยุ่น
    • บรรเทาอาการโรคข้อเสื่อม เมื่อคอลลาเจนลดลงย่อมส่งผลต่อสุขภาพข้อต่อ หรือเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคข้อเสื่อมมากขึ้น การกินคอลลาเจนจะช่วยเพิ่มคอลลาเจนบริเวณข้อต่อ และอาจช่วยให้อาการโรคข้อเสื่อมทุเลาลงได้
    • ฟื้นฟูมวลกล้ามเนื้อ ร่างกายคนเรามักสูญเสียมวลและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเมื่ออายุมากขึ้น และเนื่องจากคอลลาเจนมีคุณสมบัติเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ การกินคอลลาเจนจึงอาจช่วยเพิ่มมวลและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้
    • ป้องกันภาวะหลอดเลือดแข็ง เมื่อคอลลาเจนในร่างกายลดลง หลอดเลือดจะสูญเสียความยืดหยุ่นหรือมีภาวะหลอดเลือดแข็ง ทั้งนี้ หากกินคอลลาเจนทดแทน อาจช่วยให้หลอดเลือดกลับไปยืดหยุ่นอีกครั้ง และลดโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมอง
    • ป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก การบริโภคคอลลาเจนทดแทน อาจช่วยเสริมมวลกระดูกให้แข็งแรงขึ้น ลดความเสี่ยงกระดูกเปราะ กระดูกหักง่าย รวมถึงลดโอกาสเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนได้

    งานวิจัยหนึ่ง เรื่องประสิทธิภาพของคอลลาเจนต่อภาวะหลอดเลือดแข็งในผู้ที่สุขภาพดี เผยแพร่ในวารสาร Journal of Atherosclerosis and Thrombosis ปี พ.ศ. 2560 นักวิจัยให้อาสาสมัครจำนวน 32 รายบริโภคคอลลาเจนไตรเพปไทด์ (Tripeptide) หรือคอลลาเจนที่มีขนาดอนุภาคเล็กที่สุด วันละ 16 กรัม เป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน หลังการทดลองสิ้นสุดลง ได้ตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดผ่านตัวชี้วัดต่าง ๆ ผลปรากฏว่า การบริโภคคอลลาเจนไตรเพปไทด์ อาจช่วยป้องกันภาวะหลอดเลือดแข็งได้

    นอกจากนี้ ในงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคคอลลาเจนกับความหนาแน่นของมวลกระดูกและสัญญาณโรคกระดูกในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เผยแพร่ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2561 นักวิจัยแบ่งกลุ่มอาสาสมัครซึ่งเป็นเพศหญิงวัยหมดประจำเดือนจำนวน 131 ราย ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกรับประทานคอลลาเจนทุกวัน วันละ 5 กรัม ส่วนอีกกลุ่มรับประทานยาหลอกทุกวัน เป็นเวลา 12 เดือน เท่า ๆ กัน เมื่อการทดลองสิ้นสุดลง ผลปรากฏว่า กลุ่มที่รับประทานคอลลาเจนมีความหนาแน่นของมวลกระดูกในบริเวณเอวและกระดูกต้นขามากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก

    ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า การกินคอลลาเจนอาจช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกและช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับกระดูกได้

    กินคอลลาเจน ผลข้างเคียง มีอะไรบ้าง

    ปกติแล้ว คอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริมเป็นผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างปลอดภัยต่อสุขภาพ ดังนั้น จึงพบผลข้างเคียงน้อยมาก โดยผลข้างที่มักพบหลังกินคอลลาเจน มีดังต่อไปนี้

    • การรับรสผิดปกติ
    • ท้องร่วง
    • อาหารไม่ย่อย
    • ปวดหัว
    • วิงเวียน
    • ผื่นขึ้นตามร่างกาย

    ทั้งนี้ คอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริม อาจทำให้ผู้ที่แพ้ปลา หอย หรือไข่ มีอาการแพ้หรือในบางรายอาจแพ้รุนแรงได้ เนื่องจากในคอลลาเจนทดแทนมักมีส่วนประกอบเป็นสารก่อภูมิแพ้จากปลา หอย ไข่ เป็นต้น จึงควรกินคอลลาเจนด้วยความระมัดระวัง

    นอกจากนี้ เพื่อความปลอดภัย ควรบริโภคคอลลาเจนไม่เกินวันละ 10 กรัม เป็นเวลาไม่เกิน 5 เดือนติดต่อกัน

    และเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่ระบุว่า คอลลาเจนปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรมากน้อยเพียงใด หญิงทั้ง 2 กลุ่มจึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคคอลลาเจนที่เป็นอาหารเสริม หรือเลือกปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจบริโภค

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา