ข่า เป็นพืชเหง้าชนิดหนึ่งที่นิยมพบบ่อยอาหารไทย มีลักษณะเป็นเหง้าสีขาว เนื้อสีเหลือง คล้ายขิง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว นิยมนำมาประกอบอาหารและดับกลิ่นคาวจากเนื้อสัตว์ ข่าอาจมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานข่าในปริมาณที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการรับประทานข่าหรืออาหารเสริมจากข่ามากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้
[embed-health-tool-bmr]
ข่า คืออะไร
ข่า เป็นพืชที่พบมากในประเทศเขตร้อน จัดอยู่ในตระกูลเดียวกันกับขิง มีส่วนลำต้นอยู่ใต้ดิน เรียกว่า เหง้า ลักษณะภายนอกเป็นสีขาว เนื้อในสีเหลือง แตกแขนงเป็นแง่งคล้ายกับขิง มีรสเผ็ดร้อน มีกลิ่นหอม นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารต่าง ๆ เช่น ต้มข่าไก่ แจ่วฮ้อน
หลายคนอาจสับสนระหว่าง ข่า กับ ขิง เนื่องจากมีลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกัน แต่ข่ามักจะมีขนาดใหญ่กว่า อีกทั้งยังมีกลิ่นและรสชาติที่แตกต่างกับขิงอย่างสิ้นเชิง
ประโยชน์ของข่า
ข่าอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้
ต้านเชื้อแบคทีเรีย
ข่าอาจมีสรรพคุณในการต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย Vibrio parahaemolyticus ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาจทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ โดยในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ Food Microbiology เมื่อปี พ.ศ. 2550 ได้ทำการทดลองหยดน้ำข่าคั้นสดลงในจานเพาะเชื้อ พบว่าสามารถช่วยลดการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะข่าที่ผ่านความร้อนอย่างน้อย 100 องศาเซลเซียสขึ้นไป จึงแนะนำให้ใช้ข่าเป็นส่วนประกอบในอาหารเพื่อสรรพคุณในการช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียนี้
ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ
ข่าอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งอาจช่วยชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation) ที่ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ และอาจทำให้เกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควร
ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด
สารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอลที่พบในข่า อาจสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ด้วยการยับยั้งการดูดซึมกลูโคสในลำไส้ และกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน จึงอาจช่วยให้ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น
ช่วยต้านมะเร็ง
มีงานวิจัยจากภาควิชาศัลยศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินเจ (Inje University) ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปีพ.ศ. 2556 พบว่า สารกาแลนจิน (Galangin) ที่พบได้ในข่าอาจมีฤทธิ์ต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเยื่อหุ้มไมโทคอนเดรีย (mitochondria) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของเซลล์มะเร็ง และกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ตายลง นอกจากนี้ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ MDPI ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2563 ก็พบหลักฐานที่สนับสนุนสรรพคุณของข่าในการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งรังไข่บางชนิด อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการต้านมะเร็งนั้นอาจมีระดับต่ำมาก จึงยังจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้สารกาแลนจินเพื่อป้องกันโรคมะเร็ง
ต้านการอักเสบ
งานวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร วิทยาลัยการทำอาหาร ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำการทดลองในสัตว์และหลอดทดลอง พบว่าสาร HMP (4-amino-5-hydroxymethyl-2-methylpyrimidine) ซึ่งเป็นสารพฤกษเคมีตามธรรมชาติที่พบได้ในข่า อาจมีคุณสมบัติสามารถช่วยต่อต้านการอักเสบได้
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจากศูนย์การแพทย์ทหารผ่านศึกไมอามี และมหาวิทยาลัยไมอามี ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำการทดลองกับกลุ่มผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมกว่า 261 ราย โดยให้ผู้เข้ารับการทดลองรับประทานสารสกัดจากข่าและขิงติดต่อกันเป็นเวลากว่า 6 สัปดาห์ พบว่า ผู้ที่รับประทานสารสกัดจากข่าและขิงมีอาการปวดข้อเข่าน้อยกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอก อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการต้านอักเสบจากการใช้ข่าโดยเฉพาะ
ข้อควรระวังในการรับประทานข่า
การรับประทานข่าตามปกติถือว่าปลอดภัย และอาจไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายใด ๆ อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังไม่ให้รับประทานข่ามากเกินไป โดยเฉพาะหากเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากข่า เนื่องจากงานวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซียที่ทำการทดลองในสัตว์พบว่า การรับประทานอาหารเสริมจากข่ามากกว่าวันละ 2,000 มก./กก. (น้ำหนักตัว) อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เบื่ออาหาร ไม่มีแรง ปัสสาวะบ่อย ท้องเสีย โคม่า หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต ในขณะที่กลุ่มที่รับประทานอาหารเสริมจากข่าในปริมาณที่น้อยกว่า คือ 300 มก./กก. (น้ำหนักตัว) อาจจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการทดลองเกี่ยวกับการใช้อาหารเสริมจากข่าในมนุษย์เพิ่มเติม จึงจะสามารถทราบเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการรับประทานข่าได้อย่างชัดเจน