backup og meta

พุทรา ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

    พุทรา ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

    พุทรา เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียใต้ เปลือกของพุทรามีสีเขียว น้ำตาล เหลือง ส่วนเนื้อสีขาว และนิยมนำมาแปรรูปเป็นพุทราอบแห้งหรือพุทราเชื่อม พุทรามีสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น โพแทสเซียม เหล็ก วิตามินเอ ปัจจุบัน มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าการบริโภคพุทราอาจช่วยให้หลับสบาย และผ่อนคลายความวิตกกังวล นอกจากนี้ พุทราอาจมีคุณสมบัติต้านมะเร็งและอาจช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้ด้วย

    คุณค่าทางโภชนาการของ พุทรา

    พุทราสด 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 79 กิโลแคลอรี่ และประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

    • คาร์โบไฮเดรต 20.2 กรัม
    • โปรตีน 1.2 กรัม
    • ไขมัน 0.2 กรัม
    • โพแทสเซียม 250 มิลลิกรัม
    • ฟอสฟอรัส 23 มิลลิกรัม
    • แคลเซียม 21 มิลลิกรัม
    • แมกนีเซียม 10 มิลลิกรัม
    • โซเดียม 3 มิลลิกรัม

    นอกจากนี้ พุทรายังประกอบไปด้วยธาตุอาหารอย่างเหล็ก สังกะสี ทองแดง แมงกานีส และวิตามินชนิดต่าง ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6

    ประโยชน์ของ พุทรา ต่อสุขภาพ

    พุทรา อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติของพุทราในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

    อาจช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการนอน

    สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) และสารประกอบฟีนอลิก (Phenolics) ในพุทรา มีคุณสมบัติช่วยต้านอาการซึมเศร้าและบรรเทาภาวะวิตกกังวล ดังนั้น การบริโภคพุทราจึงอาจมีส่วนทำให้หลับสบายหรือหลับได้ยาวนานขึ้น

    งานวิจัยหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารสกัดเมล็ดพุทราต่อการนอนหลับ เผยแพร่ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine ปี พ.ศ. 2556 นักวิจัยให้หนูทดลองบริโภคสารสกัดเมล็ดพุทราในอัตราส่วน 200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และพบว่าสารดังกล่าว มีประสิทธิภาพทำให้หนูนอนหลับได้นานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับการแพทย์แผนโบราณในหลาย ๆ ประเทศ ที่ใช้สารสกัดจากเมล็ดพุทราเป็นยารักษาอาการนอนไม่หลับและภาวะวิตกกังวล

    อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการทดสอบเพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่าการบริโภคสารสกัดจากเมล็ดพุทราจะให้ผลลัพธ์แบบเดียวกันในมนุษย์

    อาจช่วยต้านมะเร็ง

    สารฟลาโวนอยด์และพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) มีคุณสมบัติร่วมในการต้านมะเร็งผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น การเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเองหรือกัดกินตัวเอง การปรับการทำงานของเอนไซม์ให้มีประสิทธิภาพ การกระตุ้นการผลิตสารไนตริก ออกไซด์ (Nitric Oxide) ภายในร่างกายเพื่อช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว

    งานวิจัยหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารสกัดพุทรา ในการเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเองและการป้องกันเซลล์มะเร็งเพิ่มจำนวน ตีพิมพ์ในวารสาร Avicenna Journal of Phytomedicine ปี พ.ศ. 2559 นักวิจัยได้เพาะเซลล์มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีสารสกัดพุทราในระดับความเข้มข้นต่างกัน เป็นเวลา 0-72 ชั่วโมงแตกต่างกัน ปรากฏว่า สารสกัดพุทรามีคุณสมบัติต้านมะเร็ง ทั้งนี้ ผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารสกัดพุทราและระยะเวลาที่ใช้ในการทดสอบ

    นอกจากนั้น นักวิจัยยังอธิบายเพิ่มเติมว่า คุณสมบัติเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเองของสารสกัดพุทรา เกี่ยวข้องกับการทำงานของโปรตีนแบ็กซ์ (Bax) ซึ่งควบคุมการทำลายตัวเองของทั้งเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็งในร่างกาย

    อาจช่วยป้องกันท้องผูก

    พุทรามีใยอาหารสูง หรือประมาณ 6 กรัม/พุทรา 100 กรัม ดังนั้น การบริโภคพุทราจึงอาจช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร และป้องกันอาการท้องผูกได้

    งานวิจัยหนึ่ง เรื่องประสิทธิภาพของสารสกัดพุทราในการรักษาอาการท้องผูกเรื้อรัง เผยแพร่ในวารสาร Digestion ปี พ.ศ. 2552 นักวิจัยได้แบ่งผู้เข้าร่วมการทดลองเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกให้บริโภคสารสกัดพุทรา ส่วนอีกกลุ่มให้บริโภคยาหลอก เป็นเวลา 12 สัปดาห์เท่า ๆ กัน

    เมื่อการทดลองสิ้นสุดลง นักวิจัยพบว่า กลุ่มที่บริโภคสารสกัดพุทรา ระดับความรุนแรงของอาการท้องผูกลดจากรุนแรงระดับ 6 ลงมาเป็นรุนแรงระดับ 2 และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

    ดังนั้น นักวิจัยจึงสรุปว่า สารสกัดพุทราอาจมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการท้องผูกเรื้อรังที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

    อาจช่วยป้องกันเซลล์ประสาท

    สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ในพุทรา มีประสิทธิภาพต้านอนุมูลอิสระและปกป้องระบบประสาทส่วนกลางจากภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidative Stress) ซึ่งเป็นสาเหตุของความผิดปกติต่าง ๆ ในสมอง นอกจากนี้ ฟลาโวนอยด์ยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในสมอง และยับยั้งการสะสมโปรตีนแอมีลอยด์ บีตา (Amyloid Beta) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์

    งานวิจัยเรื่องคุณสมบัติของผลพุทราต่อการปกป้องสมองจากความเสียหาย เผยแพร่ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine ปี พ.ศ. 2560 ระบุว่า ผลพุทรามีคุณสมบัติหลายประการ ที่อาจช่วยป้องกันเซลล์ประสาทเสียหาย เช่น การปกป้องเซลล์ประสาทจากความเป็นพิษต่อระบบประสาท การกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ประสาท การส่งเสริมการเรียนรู้และช่วยให้ความจำดี

    นอกจากนี้ งานวิจัยยังระบุว่า พุทราอาจพัฒนาเป็นอาหารเสริมสำหรับป้องกันหรือรักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทได้

    ข้อควรระวังในการบริโภค พุทรา

    ข้อควรระวังในการบริโภคพุทรา มีดังต่อไปนี้

    • ควรล้างน้ำให้สะอาดก่อนบริโภคเพื่อขจัดฝุ่นละอองหรือเชื้อราที่อาจปนเปื้อนมา
    • ไม่ควรรับประทานพุทราในปริมาณมากเกินไปเพราะอาจทำให้ท้องอืดได้
    • พุทรา ออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของยาเวนลาฟาซีน (Venlafaxine) รวมถึงยาต้านเศร้าในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทหลายชนิด เช่น ดูล็อกซีทีน (Duloxetine) เดสเวนลาแฟ็กซีน (Desvenlafaxine) ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) ผู้ที่รับประทานยาในกลุ่มนี้จึงควรปรึกษาคุณหมอหาก
    • หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตรบริโภคพุทราได้อย่างปลอดภัยในปริมาณที่ไม่มากเกินไป และควรบริโภคอาหารให้ครบทุกหมู่ รวมทั้งผักและผลไม้ให้หลากหลายเพื่อบำรุงร่างกายและได้รับปริมาณสารอาหารครบถ้วน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา