มะกรูด (Kaffir Lime) เป็นพืชตระกูลส้มชนิดหนึ่ง มีต้นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนใต้ของประเทศจีน มีเปลือกสีเขียวเข้ม ผิวขรุขระ ส่วนเนื้อเป็นสีเขียวอ่อน รสชาติเปรี้ยวเหมือนมะนาวแต่มีรสฝาดเล็กน้อย มะกรูดนิยมใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารไทยหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะในเครื่องพริกแกง นอกจากนั้น น้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดยังนิยมใช้เป็นส่วนประกอบของน้ำหอม มะกรูดประกอบด้วยสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ นานาชนิดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
[embed-health-tool-bmi]
คุณค่าทางโภชนาการของ มะกรูด
มะกรูด 1 ผล หรือ 67 กรัม ให้พลังงานประมาณ 20 กิโลแคลอรี่ รวมถึงมีสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้
นอกจากนี้ มะกรูดยังมีสารอาหารอื่น ๆ ด้วย คือ ใยอาหาร วิตามินเอ เหล็ก น้ำตาลกลูโคส
ประโยชน์ต่อสุขภาพของ มะกรูด
มะกรูด อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของมะกรูด ดังนี้
-
อาจช่วยต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว
จากการศึกษาในหลอดทดลองเรื่องสารประกอบในใบมะกรูดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Molecules เมื่อปี พ.ศ. 2563 พบว่า ใบมะกรูดมีสารลูพิออล (Lupeol) ซึ่งมีประสิทธิภาพยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยการเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง นอกจากนั้น ใบมะกรูดยังมีสารไฟทอล (Phytol) ซึ่งออกฤทธิ์เสริมสร้างการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวเนทเชอรัล คิลเลอร์ เซลล์ (Natural Killer Cell) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจจับและทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาในมนุษย์เพิ่มเติมในอนาคต
-
อาจใช้ฆ่าเชื้อโรคในช่องปากได้
มะกรูดมีสารอัลฟา เทอร์ปินอล (α-Terpineol) และไซโตรเนลลัล (Citronellal) ซึ่งเป็นสารพฤกษเคมีที่มีคุณสมบัติในการต้านจุลินทรีย์ต่าง ๆ ดังนั้น การบริโภคมะกรูด จึงอาจช่วยให้เชื้อโรคในช่องปากมีจำนวนน้อยลง ลดความเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจจากเชื้อโรคที่แพร่เข้าร่างกายทางช่องปาก
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับสเปรย์ฉีดพ่นช่องปากจากน้ำมันผิวมะกรูดและน้ำมันจากใบมะกรูด กับคุณสมบัติต้านเชื้อโรคในระบบทางเดินหายใจ ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Traditional and Complementary Medicine ปี พ.ศ. 2562 นักวิจัยทดลองผลิตสเปรย์ฉีดพ่นช่องปาก 6 สูตร โดย 3 สูตรแรกมีน้ำมันผิวมะกรูดและสารอัลฟา เทอร์ปินอลเป็นส่วนผสม ส่วนอีก 3 สูตรมีน้ำมันจากใบมะกรูดและสารไซโตรเนลลัลเป็นส่วนผสม
จากการทดสอบประสิทธิภาพของสเปรย์ฉีดพ่นช่องปาก นักวิจัยพบว่า สเปรย์ฉีดพ่นช่องปากทั้ง 6 สูตร มีประสิทธิภาพต้านแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus Pneumoniae) และฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา (Haemophilus Influenzae) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคในระบบทางเดินทางหายใจต่าง ๆ ได้
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า สารพฤกษเคมีในผิวมะกรูด อาจมีประสิทธิภาพต้านเชื้อโรคต่าง ๆ ในช่องปากได้
-
อาจช่วยบรรเทาความเครียดหรือวิตกกังวล
น้ำมันหอมระเหยจากผิวมะกรูด มีคุณสมบัติเชิงสุคนธบำบัดหรือการรักษาโรคด้วยน้ำมันหอมระเหยจากพืช ดังนั้น การสูดดมน้ำมันหอมระเหยจากผิวมะกรูด จึงอาจเป็นตัวเลือกหนึ่งในการบำบัดร่างกาย เพื่อบรรเทาความเครียดหรืออาการวิตกกังวลได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยส่วนประกอบทางเคมีของน้ำมันมะกรูด และคุณสมบัติของน้ำมันมะกรูดต่อมนุษย์ เผยแพร่ในวารสาร Flavour and Fragrance Journal ปี พ.ศ. 2550 นักวิจัยแบ่งกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 20 ราย ออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกให้สูดดมน้ำมันหอมระเหยจากผิวมะกรูด ส่วนอีกกลุ่มไม่ให้สูดดมสารใด ๆ เพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย พบว่า กลุ่มตัวอย่างแรกให้คะแนนตนเองเกี่ยวกับอาการตื่นตัว ความสนใจสิ่งรอบข้าง ความรู้สึกสดใส และกระปรี้กระเปร่ามากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้สูดดมน้ำมันหอมระเหย นักวิจัยจึงสรุปว่า น้ำมันมะกรูดอาจสามารถใช้ในเชิงสุคนธบำบัด เพื่อบรรเทาความเครียดหรืออาการวิตกกังวลได้
-
อาจช่วยป้องกันโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ
น้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดมีคุณสมบัติขับไล่ยุง มักนิยมประยุกต์ใช้เป็นสเปรย์สำหรับฉีดป้องกันยุงในครัวเรือน จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ ที่มียุงเป็นพาหะ อย่างไข้เลือดออกหรือมาลาเรีย
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยจากใบและผิวของมะกรูดในการขับไล่ยุงก้นปล่องและยุงลายบ้าน ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Medical Entomology ปี พ.ศ. 2560 นักวิจัยได้ศึกษาคุณสมบัติของน้ำมันจากใบและผิวของมะกรุด ในระดับความเข้มข้นต่าง ๆ ที่มีต่อยุงก้นปล่องและยุงลายบ้านซึ่งเป็นพาหะของโรคติดต่อจากยุงในครัวเรือน พบว่า น้ำมันหอมจากใบมะกรูด ความเข้มข้น 1 และ 2 เปอร์เซ็นต์ สามารถใช้ขับไล่ยุงก้นปล่องได้ดีที่สุด ในขณะที่ระดับความเข้มข้นของน้ำมันหอมจากผิวมะกรูดที่ให้ผลดีที่สุดในการไล่ยุงก้นปล่องอยู่ที่ 2.5 และ 5 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ในการขับไล่ยุงลายบ้าน ความเข้มข้นที่มีผลลัพธ์ดีสุดของน้ำมันหอมระเหยจากใบมะกรูดคือ 2.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเท่ากับของน้ำมันหอมระเหยจากผิวมะกรูด
ข้อควรระวังในการบริโภค มะกรูด
การบริโภคมะกรูด มีข้อควรระวังดังนี้
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันมะกรูดโดยตรงเพราะอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือมึนงงได้ ควรเจือจางน้ำมันมะกรูดกับน้ำหรือสารละลายอื่น ๆ เสียก่อน
- ผู้ที่แพ้ผลไม้ตระกูลส้มควรหลีกเลี่ยงการบริโภคมะกรูด ใบมะกรูด เพราะอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ปากแห้ง เกิดผื่นแดงคัน ลมพิษ รวมทั้งอาการวิงเวียน คลื่นไส้ แสบร้อนบริเวณกลางอก และมีปัญหาในการย่อยอาหาร
- หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคมะกรูดได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคในปริมาณมาก และควรบริโภคผักและผลไม้ให้หลากหลายเพื่อบำรุงร่างกายและได้รับปริมาณสารอาหารครบถ้วน