backup og meta

มะขามป้อม ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/06/2022

    มะขามป้อม ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

    มะขามป้อม ถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการโรคต่าง ๆ มากว่า 1,000 ปีแล้ว จัดอยู่ในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ขึ้นชื่อว่ามีวิตามินซีสูง ช่วยป้องกันและบรรเทาโรคหวัดหรืออาการไอ เจ็บคอ นอกจากนั้น ยังประกอบไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินต่าง ๆ มากมาย ซึ่งอาจมีสรรพคุณช่วยบรรเทากรดไหลย้อน เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ลดไขมันไม่ดีในร่างกาย และลดระดับน้ำตาลในเลือด

    คุณค่าทางโภชนาการของ มะขามป้อม

    มะขามป้อมครึ่งถ้วย ให้พลังงานประมาณ 33 กิโลแคลอรี่ และประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

    • คาร์โบไฮเดรต 8 กรัม
    • โปรตีน น้อยกว่า 1 กรัม
    • ไขมัน น้อยกว่า 1 กรัม

    นอกจากนี้ มะขามป้อมยังอุดมไปด้วย วิตามินเอ วิตามินอี แคลเซียม เหล็ก

    ประโยชน์ต่อสุขภาพของ มะขามป้อม

    มะขามป้อมอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติของมะขามป้อม ดังนี้

    1. อาจช่วยบรรเทาโรคกรดไหลย้อน

    มะขามป้อม มีสรรพคุณในการบำรุงสุขภาพ ออกฤทธิ์ช่วยบรรเทาแผลในกระเพาะอาหาร ต้านการอักเสบ การรับประทานมะขามป้อม จึงอาจช่วยป้องกันและบรรเทาโรคกรดไหลย้อน

    ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติของมะขามป้อมต่อผู้ป่วยกรดไหลย้อนประเภทไม่รุนแรง (Non-Erosive Reflux Disease) ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Integrative Medicine ปี พ.ศ. 2561 ได้ทำการทดลองโดยแบ่งอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองจำนวน 68 รายออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งให้รับประทานมะขามป้อมในรูปแบบอาหารเสริม วันละ 2 มื้อ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ส่วนอีกกลุ่ม ให้รับประทานยาหลอก ในระยะเวลาเท่ากัน

    เมื่อสิ้นสุดการทดลอง นักวิจัยได้ตรวจสอบอาการของโรคกรดไหลย้อนในทั้ง 2 กลุ่ม พบว่า กลุ่มที่บริโภคมะขามป้อม อาเจียนและรู้สึกแสบร้อนกลางอกลดลง และอาการรุนแรงน้อยลงเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่บริโภคยาหลอก

    จึงสรุปได้ว่า มะขามป้อมอาจมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกและอาเจียนในผู้ป่วยกรดไหลย้อนประเภทไม่รุนแรง

    1. อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

    มะขามป้อม มีคุณสมบัติกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด  การรับประทานมะขามป้อม จึงอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และป้องกันความเสี่ยงโรคเบาหวานได้

    การวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมะขามป้อมต่อระดับน้ำตาลและไขมันเลือด เผยแพร่ในวารสาร International Journal of Food Sciences and Nutrition ปี พ.ศ. 2554 นักวิจัยแบ่งอาสาสมัครที่เป็นและไม่เป็นเบาหวานออกเป็นกลุ่มย่อย แล้วให้บริโภคผงมะขามป้อมในปริมาณต่างกัน คือ 1, 2 และ 3 กรัม/วัน จากนั้นตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดในวันที่ 8, 15 และ 21 ของการทดลอง

    ในวันที่ 21 นักวิจัยพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับระดับน้ำตาลในวันเริ่มต้นการทดลอง ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร และหลังจากอดอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมงล้วนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะบริโภคผงมะขามป้อมในปริมาณ 1, 2 หรือ 3 กรัม/วัน จึงสรุปได้ว่า มะขามป้อม อาจมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้

    1. อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพของตับ

    มะขามป้อมอุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งช่วยลดการอักเสบ บำรุงตับ ช่วยลดระดับไขมันไม่ดี อย่างคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ในร่างกายซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับ รวมทั้ง กรดโคริลำจิน (Corilagin) ซึ่งช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับตับ การบริโภคมะขามป้อมจึงอาจช่วยส่งเสริมสุขภาพของตับ ลดปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งว่าด้วยประสิทธิภาพของมะขามป้อมในการช่วยป้องกันไขมันสะสมในตับ เผยแพร่ทางวารสาร Climacteric ปี พ.ศ. 2558 นักวิจัยแบ่งสัตว์ทดลองออกเป็นกลุ่มที่บริโภคมะขามป้อม และกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคมะขามป้อม เป็นเวลา 18 สัปดาห์ เพื่อเปรียบเทียบว่า มะขามป้อมสามารถป้องกันไขมันสะสมในตับได้หรือไม่ ผลการทดลองพบว่า สัตว์ทดลองกลุ่มที่บริโภคมะขามป้อมมีปริมาณโปรตีนที่ส่งเสริมการทำงานของตับเพิ่มขึ้น ช่วยเผาผลาญไขมันได้ดีขึ้น และมีภาวะไขมันในเลือดลดลง

    จึงสรุปว่า การรับประทานมะขามป้อม อาจช่วยป้องกันไขมันสะสมในตับ รวมถึงภาวะไขมันในเลือดสูงได้

    ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของมะขามป้อม ในการส่งเสริมสุขภาพตับ

    1. อาจช่วยป้องกันความผิดปกติเกี่ยวกับไต

    มะขามป้อมอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี เควอซิทิน (Quercetin) กรดเอลลาจิก (Ellagic acid) ซึ่งมีคุณสมบัติส่งเสริมสุขภาพไต ช่วยคงการทำงานของไตให้เป็นปกติ รวมถึงป้องกันความเสียหายของไตจากอนุมูลอิสระ การบริโภคมะขามป้อมจึงอาจช่วยป้องกันความผิดปกติเกี่ยวกับไตได้

    ผลการศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของสารสกัดมะขามป้อม ในการป้องกันภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันจากสารทึบรังสี ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Complementary and Alternative Medicine ปี พ.ศ. 2557

    ได้ทำการทดลองโดยแบ่งสัตว์ทดลองออกเป็นหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มที่บริโภคเพียงน้ำ และกลุ่มที่บริโภคสารสกัดจากมะขามป้อมในปริมาณแตกต่างกัน เป็นระยะเวลา 5 วันเท่า ๆ กัน จากนั้นนำสัตว์ทดลองทั้งหมดไปกระตุ้นให้มีภาวะบาดเจ็บเฉียบพลันจากสารทึบรังสีผลคือ สัตว์ทดลองที่บริโภคสารสกัดมะขามป้อม ปริมาณ 250 และ 500 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน มีการทำงานของไตที่ยังเป็นปกติ รวมถึงมีความเสียหายบริเวณไตที่รุนแรงน้อยกว่าสัตว์ทดลองกลุ่มอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ นักวิจัยจึงสรุปว่า สารสกัดมะขามป้อม อาจมีประสิทธิภาพป้องกันความผิดปกติเกี่ยวกับไตอย่างภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันจากสารทึบรังสีได้

    อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของมะขามป้อมในการส่งเสริมสุขภาพไต

    ข้อควรระวังในการบริโภค มะขามป้อม

    แม้มะขามป้อมจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และอาจมีสรรพคุณในการป้องกันและบรรเทาปัญหาสุขภาพได้ แต่ควรระมัดระวังในการบริโภคโดยเฉพาะบุคคลเหล่านี้

    1. ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานในปริมาณจำกัด ภายใต้คำแนะนำของคุณหมอ
    2. ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานมะขามป้อมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ล่วงหน้าก่อนวันผ่าตัด เพื่อป้องกันเลือดออกมากเกินไประหว่างผ่าตัด
    3. ผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากมะขามป้อมมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
    4. หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงในระยะให้นมบุตร ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่ระบุว่าสามารถรับประทานเป็นยาได้อย่างปลอดภัย จึงควรจำกัดปริมาณในการบริโภค

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา