มะขามเทศ เป็นพืชพื้นเมืองที่พบได้ทั่วไป นิยมนำผลและเมล็ดแก่มาบริโภค ผลของมะขามเทศมีลักษณะเป็นฝัก เปลือกฝักมีสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู และจะกลายเป็นสีแดงแก่จัด เนื้อมะขามเทศมีสีขาวขุ่น รสออกหวานหรือหวานอมฝาด โดยทั่วไปนิยมนำเนื้อมะขามเทศไปประกอบอาหาร เช่น แกงคั่วมะขามเทศ ยำมะขามเทศ และนำไปทำเป็นเครื่องดื่มแก้กระหาย นอกจากนี้มะขามเทศยังมีประโยชน์หลายประการ เช่น ป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน ต้านมะเร็ง ต้านแบคทีเรีย
[embed-health-tool-bmi]
คุณค่าโภชนาการของมะขามเทศ
มะขามเทศ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 78 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ เช่น
- โพแทสเซียม 222 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 42 มิลลิกรัม
- โซเดียม 19 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 13 มิลลิกรัม
- เหล็ก 0.5 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ ในมะขามเทศยังมีวิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 ไฟเบอร์ คาร์โบไฮเดรต ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย เช่น ซาโปนิน (Saponin) แทนนิน (Tannins) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) สารประกอบฟีนอล (Phenolics) ที่ช่วยขับอนุมูลอิสระออกจากเซลล์ร่างกาย ทั้งยังช่วยป้องกันหรือลดความเสียหายที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน
ประโยชน์ต่อสุขภาพของ มะขามเทศ
มะขามเทศมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของมะขามเทศในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้
อาจช่วยในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน
มะขามเทศมีซาโปนิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำหน้าที่ช่วยลดภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidative Stress) ช่วยปรับปรุงการเผาผลาญไขมัน ควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ และอาจป้องกันเบาหวานและโรคอ้วน จึงถือว่ามีศักยภาพในการเป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้
จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Pharmacognosy Research เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเรื่อง ประสิทธิภาพในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารซาโปนินที่สกัดจากเมล็ดมะขามเทศ พบว่า สารสกัดซาโปนินจากเมล็ดมะขามเทศมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดสและแอลฟาอะไมเลส ซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่ทำหน้าที่ย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล ฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์เหล่านี้ของสารซาโปนินจึงอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และมีส่วนช่วยในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวานได้
อาจช่วยต้านมะเร็งได้
มะขามเทศ มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น แทนนิน ฟลาโวนอยด์ สารประกอบฟีนอล ซาโปนิน โดยเฉพาะสารฟลาโวนอยด์ สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในหลายด้าน เช่น ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเนื้องอก ต้านไวรัส ต้านการอักเสบ ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด มะขามเทศจึงสามารถใช้เป็นตัวเลือกในการบรรเทาความเครียดจากสารต้านอนุมูลอิสระและอาจช่วยป้องกันมะเร็งได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biotechnology Progress เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับสารสกัดของใบต่อการทำลายเซลล์มะเร็งเต้านม พบว่า สารสกัดจากใบมะขามเทศเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเต้านมในมนุษย์ ทำให้เซลล์มะเร็งตายโดยไม่รบกวนเซลล์ปกติ
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food and Chemical Toxicology เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ศึกษาเรื่องประสิทธิภาพการกระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็งและการลดปริมาณเซลล์มะเร็ง (Tumor burden) พบว่า สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่อยู่ในมะขามเทศ เช่น นารินจีนิน (Naringenin) นุตคาโทน (Nootkatone) กรดแกลลิก (Gallic acid) มีสรรพคุณเป็นยา เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอก ทั้งยังช่วยลดระดับของไซโตไคน์ (Cytokine) ที่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของมะขามเทศในการลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง
อาจมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้
มะขามเทศ มีสารพฤษเคมีหลายชนิดที่มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อราและต้านอนุมูลอิสระ เช่น อัลคาลอยด์ (Alkaloids) ฟลาโวนอยด์ ซาโปนิน คูมาริน (Coumarin) แทนนิน แอนโธไซยานิน (Anthocyanin) โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ตีพิมพ์ในวารสาร Asian Journal of Pharmaceutical and Clinical Research เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเรื่อง การวิเคราะห์องค์ประกอบทางพฤกษเคมี ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านเชื้อราของสารสกัดจากใบมะขามเทศ พบว่า สารสกัดจากใบมะขามเทศมีกลไกการออกฤทธิ์ต้านเชื้อราที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยารักษาเชื้อราแอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B) ซึ่งอาจเกิดจากสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่อยู่ในมะขามเทศ
ข้อควรระวังในการบริโภคมะขามเทศ
แม้มะขามเทศจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็ควรปริมาณในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นพืชสมุนไพรที่มีสารพฤษเคมีที่ให้รสฝาด หากบริโภคมากเกินไปอาจทำให้ท้องอืดได้ นอกจากนี้ หากต้องการใช้มะขามเทศเป็นยาสมุนไพรบรรเทาอาการต่าง ๆ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ เพราะหากใช้ติดต่อกันนาน ๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้