มันเทศ เป็นพืชหัวชนิดหนึ่ง ปัจจุบันปลูกมากในประเทศจีน ส่วนหัวซึ่งอยู่ใต้ดินมีเนื้อสีส้ม เมื่อปรุงสุกแล้วจะให้รสสัมผัสนุ่มและรสชาติหวาน โดยส่วนใหญ่นิยมนำมาปรุงประกอบอาหารเมนูหวานมากกว่าเมนูคาว เช่น นึ่ง เชื่อม แกงบวด ต้มน้ำตาล ในแง่ของโภชนาการ มันเทศเป็นพืชที่มีกากใยสูง อุดมไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินหลายชนิด ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิ โพแทสเซียม วิตามินเอ เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) มันเทศอาจช่วยบำรุงสายตา ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง และส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
[embed-health-tool-bmi]
คุณค่าทางโภชนาการของ มันเทศ
มันเทศสด 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 86 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้
- คาร์โบไฮเดรต 20.1 กรัม
- โปรตีน57 กรัม
- โพแทสเซียม 337 มิลลิกรัม
- โซเดียม 55 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 47 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 30 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม
- โคลีน (Choline) 12.3 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 2.4 มิลลิกรัม
- เบต้าแคโรทีน 8,510 ไมโครกรัม
- โฟเลต 11 ไมโครกรัม
นอกจากนี้ มันเทศ ยังมีสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินอื่น ๆ เช่น ทองแดง สังกะสี แมงกานีส ซีลีเนียม (Selenium) วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินดี วิตามินอี
ประโยชน์ต่อสุขภาพของ มันเทศ
มันเทศประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณประโยชน์ของมันเทศ ดังนี้
-
อาจช่วยบำรุงสายตา
มันเทศ เป็นแหล่งของเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยบำรุงสายตา กระตุ้นการทำงานของตัวรับแสงในดวงตา การบริโภคมันเทศจึงอาจมีส่วนช่วยบำรุงสายตา และป้องกันปัญหาเกี่ยวกับดวงตา
การศึกษาชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติของเบต้าแคโรทีนและสารอาหารอื่น ๆ ที่มีต่อโรคจอประสาทตาเสื่อมและการสูญเสียการมองเห็น ตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Ophthalmology ปี พ.ศ. 2544 ซึ่งนักวิจัยให้อาสาสมัครจำนวน 3,640 ราย อายุระหว่าง 55-80 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาจอประสาทตาเสื่อมหรือเป็นโรคเกี่ยวกับจอประสาทตาหรือจุดรับภาพข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้างบริโภคยาเม็ดที่ประกอบด้วยสารอาหารชนิดต่าง ๆ เช่น เบต้าแคโครทีน สารต้านอนุมูลอิสระ (วิตามินซีและ วิตามินอี) สังกะสี และยาหลอก แล้วติดตามดูผลการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาประมาณ 6.3 ปี พบว่า ผู้ที่บริโภคยาเม็ดที่มีสังกะสี และผู้ที่บริโภคยาเม็ดที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและสังกะสี มีอาการรุนแรงของโรคจอประสาทตาเสื่อมลดลง ในขณะเดียวกัน กลุ่มอาสาสมัครที่บริโภคยาเม็ดที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและสังกะสี มีอัตราการสูญเสียการมองเห็นลดลง
นักวิจัยสรุปว่า ผู้ที่มีอายุเกิน 55 ปีและมีปัญหาโรคจอประสาทตาเสื่อม ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ อาจบริโภคอาหารเสริมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและสังกะสีเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคจอประสาทตาเสื่อมและป้องกันการสูญเสียการมองเห็น จึงอาจสรุปได้ว่า สารต้านอนุมูลอิสระอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุได้
-
อาจช่วยต้านมะเร็ง
มันเทศ มีสารต้านอนุมูลอิสระแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยต้านมะเร็งได้ด้วยการส่งสัญญาณให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง และยับยั้งการเติบโตของเนื้อร้าย การบริโภคมันเทศจึงอาจช่วยยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็ง
การศึกษาชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งไตในชาวญี่ปุ่น เผยแพร่ในวารสาร Journal of Epidemiology ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งได้ศึกษาประวัติสุขภาพ ขนาดและสัดส่วนร่างกาย ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ในกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 114,517 ราย แบ่งเป็น เพศชาย จำนวน 47,997 ราย และเพศหญิงจำนวน 66,520 ราย อายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป โดยมีผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย 36 ราย และเพศหญิง 12 ราย จากโรคมะเร็งไตระหว่างการติดตามช่วงระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 7 ปี เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูลต่าง ๆ พบว่า ผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและบริโภคชาดำอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งไต ในขณะที่ผู้ที่บริโภคมันเทศ มันฝรั่ง และเผือก สัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งไต
จึงอาจสรุปได้การบริโภคมันเทศ มันฝรั่ง และเผือก อาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งไตได้
-
อาจช่วยป้องกันอาการตาบอดกลางคืน
มันเทศ อุดมไปด้วยวิตามินเอ รวมถึงเบต้าแคโรทีน ซึ่งจะกลายเป็นวิตามินเอเมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกาย การบริโภคมันเทศ จึงอาจช่วยป้องกันการขาดวิตามินเอ ซึ่งเป็นสาเหตุของการมองไม่เห็นตอนกลางคืน หรืออาการตาบอดกลางคืนได้
การศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับความสำคัญของการได้รับวิตามินเออย่างเพียงพอต่อการป้องกันภาวะตาบอดกลางคืน เผยแพร่ใน Journal of Optometry ปี พ.ศ. 2556 โดยได้ทำการวิจัยกรณีศึกษาเพศหญิงอายุ 55 ปี รายหนึ่งซึ่งมีอาการตาบอดกลางคืนระยะต้นมาเป็นเวลา 2 ปี ในเวลากลางวันสามารถมองเห็นตามปกติ แต่แทบจะมองไม่เห็นเลยในเวลากลางคืน ทั้งนี้ สมาชิกในครอบครัวไม่มีประวัติเกี่ยวกับปัญหาสายตา โดยให้เพศหญิงรายนี้รับวิตามินเอทางเลือดเดือนละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 18 เดือนติดต่อกัน พบว่า อาการตาบอดกลางคืนดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สรุปได้ว่า วิตามินเอมีส่วนสำคัญในการบำรุงสุขภาพสายตา
ในขณะที่การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับสารแคโรทีนอยด์และเบต้าแคโรทีนในมันเทศที่อาจช่วยป้องกันภาวะขาดวิตามินเอ เผยแพร่ในวารสาร Food Chemistry พ.ศ. 2559 ซึ่งได้ทำการวิเคราะห์เนื้อมันเทศสีส้มทั้งแบบดิบและต้มสุก ระบุว่า การทดลองหนึ่งพบว่ามีวิตามินเอในเนื้อมันเทศแบบดิบสูงกว่าแบบสุก ในขณะที่อีกการทดลองพบว่า วิตามินเอในเนื้อมันเทศแบบดิบและสุกมีปริมาณเท่า ๆ กัน จึงอาจสรุปได้ว่า มันเทศทั้งแบบสุกและแบบดิบสามารถใช้ป้องกันภาวะขาดวิตามินเอได้
-
อาจช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
มันเทศ อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเบต้าแคโรทีน ซึ่งมีคุณสมบัติในการเปลี่ยนเป็นวิตามินเอเมื่อเข้าสู่ร่างกาย และวิตามินเอนับว่ามีความสำคัญต่อการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย การบริโภคมันเทศจึงอาจมีส่วนช่วยบำรุงระบบภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง
จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันของไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) ในมันเทศ เผยแพร่ในวารสาร Food & Function พ.ศ. 2558 ระบุว่า ไกลโคโปรตีนในมันเทศมีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและบำรุงทีเซลล์ (T-Cell) ซึ่งทำหน้าที่ช่วยกำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อในร่างกาย และช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายให้ทำงานดีขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณการได้รับสารไกลโคโปรตีน
อย่างไรก็ตาม ควรมีการทดลองและทดสอบเพิ่มเติมเพื่ออธิบายโครงสร้างของไกลโคโปรตีนในมันเทศที่มีต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
ข้อควรระวังในการบริโภคมันเทศ
โดยทั่วไปแล้ว มันเทศเป็นพืชที่ปลอดภัยต่อการบริโภค อย่างไรก็ตาม ผู้ที่พบว่าตัวเองแพ้มันเทศหรือพืชหัวชนิดอื่น เช่น มันฝรั่ง เผือก แห้ว ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคมันเทศเพื่อป้องกันอาการแพ้กำเริบ
ทั้งนี้ มันเทศมีสารออกซาเลต (Oxalate) ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นนิ่วในไต ผู้ที่เป็นโรคนิ่วในไต หรือมีความเสี่ยงจะเป็นนิ่วในไต ควรระมัดระวังและรับประทานมันเทศในปริมาณที่เหมาะสม
สตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคมันเทศได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะเป็นพืชที่ให้พลังงานแก่ร่างกายและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถบริโภคเป็นอาหารว่างระหว่างวันได้ อย่างไรก็ตาม ควรปรุงสุกด้วยการต้มหรือนึ่ง และจำกัดปริมาณในการบริโภคให้เหมาะสม