backup og meta

Zinc คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/09/2022

    Zinc คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร

    Zinc หรือสังกะสี คือ แร่ธาตุสำคัญที่จำเป็นต่อร่างกาย ที่สามารถพบได้ในอาหารต่าง ๆ เช่น เนื้อสัตว์ ธัญพืช ผัก แร่สังกะสีมีส่วนช่วยให้แผลหายไวขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานในปริมาณที่พอดี เพื่อป้องกันความเป็นพิษที่สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้

    Zinc คืออะไร

    Zinc หรือแร่สังกะสี สามารถพบได้ในอาหารบางชนิด เช่น หอยนางรม เนื้อสัตว์ มีส่วนช่วยในการแบ่งเซลล์ การเจริญเติบโต เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน อีกทั้งยังช่วยให้เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น ทำให้แผลสมานไวขึ้น หากร่างกายขาดแร่สังกะสี อาจส่งผลให้ผมร่วง ติดเชื้อได้ง่าย รู้สึกเบื่ออาหาร มีปัญหาด้านการมองเห็น และแผลหายช้า

    ประโยชน์ของ Zinc ต่อสุขภาพ

    ประโยชน์ของแร่สังกะสีต่อสุขภาพ มีดังนี้

    • บรรเทาอาการไข้หวัด

    สังกะสีมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน อาจช่วยลดการติดเชื้อทั้งเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรค อีกทั้งยังอาจช่วยบรรเทาอาการของไข้หวัดได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับการใช้แร่สังกะสีเพื่อรักษาไข้หวัด ตีพิมพ์ในวารสาร The Cochrane Database of Systematic Reviews เมื่อปี พ.ศ. 2558  โดยศึกษางานวิจัยที่มีการใช้แร่สังกะสีเพื่อรักษาหรือป้องกันโรคหวัดจำนวนทั้งหมด 18 ฉบับ พบว่า การรับประทานแร่สังกะสีในปริมาณ 75 มิลลิกรัมต่อวันขึ้นไป อาจช่วยลดระยะเวลาของอาการไข้หวัดในคนที่มีสุขภาพดีได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพของสังกะสีในการป้องกันโรคหวัด

    • ลดความเสี่ยงอาการท้องร่วง

    แร่สังกะสีอาจช่วยลดลดความรุนแรงของอาการท้องร่วงได้ จากการศึกษาชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของแร่สังกะสีกับอาการท้องร่วงในเด็ก ตีพิมพ์ในวารสาร The Indian Journal of Pharmacology เมื่อปี พ.ศ. 2554 พบว่า การรับประทานสังกะสีร่วมกับเกลือแร่ อาจช่วยลดความรุนแรงรวมถึงลดระยะเวลาของอาการท้องร่วงได้ นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) และยูนิเซฟ (UNICEF) ยังแนะนำให้เด็กที่มีอาการท้องร่วงเฉียบพลันรับประทานแร่สังกะสีปริมาณ 20 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 10-14 วัน และ 10 มิลลิกรัม/วัน สำหรับทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน เพื่อช่วยลดความรุนแรงของอาการท้องร่วงและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ

    • รักษาบาดแผล

    แร่สังกะสีมีบทบาทสำคัญที่ช่วยแบ่งเซลล์ รักษาเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหาย ทำให้แผลสมานไวและหายเร็วขึ้น  จากการศึกษาชิ้นหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของแร่ธาตุสังกะสี ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อปี พ.ศ. 2560 พบว่า สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการซ่อมแซมเยื่อหุ้มเซลล์และการเพิ่มจำนวนเซลล์ หากร่างกายขาดแร่สังกะสีอาจส่งผลให้แผลที่ผิวหนังสมานตัวช้า และอาจใช้เวลานานกว่าจะหายเป็นปกติ

    นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการใช้แร่สังกะสีเพื่อช่วยในการรักษาบาดแผล ตีพิมพ์ในวารสาร Wound Repair And Regeneration เมื่อปี พ.ศ. 2550  พบว่า สังกะสีอาจช่วยลดการติดเชื้อทับซ้อนและแผลเน่า อีกทั้งยังอาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบของแผลได้ อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้แร่สังกะสีเพื่อช่วยรักษาบาดแผลเพิ่มเติม

    แหล่งอาหารของ Zinc มีอะไรบ้าง

    แหล่งอาหารที่มีปริมาณของแร่สังกะสีสูงที่แนะนำให้รับประทาน มีดังนี้

    • หอยนางรม เป็นอาหารที่มีสังกะสีในปริมาณมาก โดยหอยนางรมขนาดกลาง 6 ตัว มีสังกะสีประมาณ 32 มิลลิกรัม
    • เนื้อวัว เนื้อวัว 100 กรัม มีสังกะสีประมาณ 8.44 มิลลิกรัม
    • ปู แบบปรุงสุก 1 ตัว มีสังกะสีประมาณ 6.48 มิลลิกรัม
    • กุ้งก้ามกราม สำหรับกุ้งตัวเล็ก 1 ตัว มีสังกะสีประมาณ 4.74 มิลลิกรัม
    • เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 56 กรัม มีสังกะสีประมาณ 3 มิลลิกรัม
    • เนื้อหมู ปริมาณ 113 กรัม มีสังกะสีประมาณ 2 มิลลิกรัม
    • ถั่วลูกไก่ 100 กรัม มีสังกะสีประมาณ 1.5 มิลลิกรัม

    ข้อควรระวังในการบริโภค Zinc

    การรับประทานแร่สังกะสีอาจปลอดภัยหากรับประทานในปริมาณที่แนะนำ อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังการรับประทานแร่สังกะสีเกิน 40 มิลลิกรัมต่อวันขึ้นไป เนื่องจากอาจเป็นพิษต่อร่างกายและทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร

    นอกจากนี้ ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำอาจทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแร่สังกะสีได้ดีนัก จึงอาจเกิดภาวะขาดสังกะสีได้

    สำหรับผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่สังกะสีทาลงบนผิว โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวหนังบอบบาง อาจรู้สึกแสบร้อน ระคายเคือง อีกทั้งการสูดดมแร่สังกะสีอาจส่งผลให้สูญเสียการได้รับกลิ่นถาวรได้เช่นกัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา