backup og meta

สับปะรด คุณค่าทางโภชนาการ และข้อควรระวังในการบริโภค

สับปะรด คุณค่าทางโภชนาการ และข้อควรระวังในการบริโภค

สับปะรด เป็นผลไม้ยอดนิยมของไทย ผลภายนอกมักมีสีเหลือง หรือเหลืองปนเขียว เปลือกแข็ง มีตาสับปะรดโดยรอบ เมื่อปอกเปลือกจะพบเนื้อสีเหลือง ฉ่ำน้ำ รสชาติเปรี้ยวอมหวาน นิยมรับประทานสด หรือนำไปประกอบอาหาร เช่น แกงคั่วสับปะรด ข้าวผัดสับปะรด หรือแปรรูปเป็นแยมสับปะรด สับปะรดอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย โดยเฉพาะโบรมีเลน (Bromelain) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่อาจช่วยลดการอักเสบ และอาจช่วยป้องกันมะเร็งได้

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของสับปะรด

สับปะรดปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 50 กิโลแคลอรี่ และอาจมีสารอาหาร ดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 13 กรัม
  • ไฟเบอร์หรือใยอาหาร 1.4 กรัม
  • น้ำตาล 9.9 กรัม
  • โพแทสเซียม 109 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 48 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 13 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 1 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ สับปะรดยังเป็นแหล่งสำคัญของสารโบรมีเลน ซึ่งเป็นเอนไซม์ตามธรรมชาติที่อาจช่วยต้านการอักเสบ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ชะลอการแข็งตัวของเลือด อีกทั้งยังอาจช่วยขัดขวางการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง จึงอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ด้วย

ประโยชน์ของสับปะรดต่อสุขภาพ

สับปะรดมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณในการป้องกันโรค รักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพของสับปะรด ดังนี้

ช่วยบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อม

การรับประทานสับปะรดอาจช่วยบรรเทาอาการปวดจากโรคข้อเข่าเสื่อมได้ เนื่องจากในสับปะรดมีเอนไซม์โบรมีเลนที่มีคุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบ และช่วยบรรเทาอาการปวด จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้สารโบรมีเลนในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม พบว่า คุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบ และช่วยบรรเทาอาการปวดของโบรมีเลนอาจช่วยบรรเทาอาการปวดจากโรคข้อเข่าเสื่อมได้จริง โดยเฉพาะการบรรเทาอาการปวดชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบและความปลอดภัยในการรับประทานโบรมีเลนเป็นอาหารเสริมเพื่อช่วยรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

การรับประทานสับปะรดอาจช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง และช่วยลดโอกาสการติดเชื้อหรือการเกิดโรคได้ จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Nutrition and Metabolism เมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งทำการศึกษาประสิทธิภาพของการบริโภคสับปะรดกระป๋องต่อการปรับภูมิคุ้มกัน และสุขภาพร่างกายของเด็กนักเรียน โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม A ที่ไม่ได้รับประทานสับปะรด กลุ่ม B ที่รับประทานสับปะรด 140 กรัม และกลุ่ม C ที่รับประทานสับปะรด 280 กรัม เป็นเวลา 9 สัปดาห์ติดต่อกัน พบว่า กลุ่ม B และ C มีระยะเวลาและจำนวนครั้งของการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียลดลง โดยในกลุ่ม C มีอัตราการผลิตแกรนูโลไซต์ (Granulocytes) ซึ่งเป็นเซลล์ต้นกำเนิดของเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่ม B

อาจช่วยป้องกันมะเร็ง

การรับประทานสับปะรดอาจช่วยป้องกันมะเร็งได้ เนื่องจากสารโบรมีเลนอาจมีคุณสมบัติช่วยต้านมะเร็ง จากงานทบทวนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cancer Letters เมื่อปี พ.ศ. 2553 ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับศักยภาพของโบรมีเลนในการต้านมะเร็ง พบว่า สารโบรมีเลนอาจมีสรรพคุณในการต้านมะเร็ง โดยการปรับกระแสประสาทสำคัญที่อาจนำไปสู่การเกิดเซลล์มะเร็ง นอกจากนี้ ยังอาจช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และลดการอักเสบ ซึ่งอาจมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันมะเร็ง อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการรับประทานสับปะรดเพื่อป้องกันโรคมะเร็ง

ข้อควรระวังในการรับประทานสับปะรด

ข้อควรระวังในการรับประทานสับปะรด อาจมีดังนี้

  • อาการแพ้ บางคนอาจเป็นโรคภูมิแพ้สับปะรด และเกิดอาการแพ้ อาการคัน บวม ผดผื่น ปวดท้อง หายใจลำบาก และอาจมีอาการช็อค หลังจากรับประทานสับปะรดเข้าไป ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้สับปะรด หรือเกิดอาการดังกล่าวหลังรับประทานสับปะรด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสับปะรด
  • ผู้ป่วยโรคไต ควรระมัดระวังในการรับประทานสับปะรด เนื่องจากสับปะรดมีปริมาณโพแทสเซียมค่อนข้างสูง การรับประทานสับปะรดมากเกินไปอาจทำให้ไตไม่สามารถกำจัดโพแทสเซียมส่วนเกินออกไปได้ ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับปริมาณการรับประทานสับปะรดที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคไต
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร ยังไม่มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายจากการรับประทานสับปะรดในขณะตั้งครรภ์และให้นมบุตร แต่ควรรับประทานอย่างพอเหมาะ และเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pineapple, all varieties, raw. https://www.nutritionvalue.org/Pineapple%2C_all_varieties%2C_raw_nutritional_value.html?size=100+g . Accessed January 23, 2022.

Bromelain – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-895/bromelain . Accessed January 23, 2022.

Health Benefits of Pineapple. https://www.webmd.com/food-recipes/benefits-pineapple . Accessed January 23, 2022.

Effects of canned pineapple consumption on nutritional status, immunomodulation, and physical health of selected school children. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25505983/ . Accessed January 23, 2022.

Bromelain as a Treatment for Osteoarthritis: a Review of Clinical Studies. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/15841258/ . Accessed January 23, 2022.

Bromelain’s activity and potential as an anti-cancer agent: Current evidence and perspectives. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0304383509005217?via%3Dihub . Accessed January 23, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/03/2022

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

หัวปลี สารอาหารสำคัญ สรรพคุณทางยา และประโยชน์ของหัวปลี

ผลไม้ ที่มีน้ำตาลน้อย เหมาะสำหรับคนเป็น เบาหวาน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 24/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา