backup og meta

อัญชัน คุณค่าทางโภชนาการและข้อควรระวังต่อสุขภาพ

อัญชัน คุณค่าทางโภชนาการและข้อควรระวังต่อสุขภาพ

อัญชัน เป็นพืชพื้นเมืองตระกูลถั่วของทวีปเอเชีย มีดอกสีน้ำเงิน นิยมนำดอกมาใช้เป็นส่วนผสมของน้ำสมุนไพรและชาเนื่องจากอัญชันให้สีน้ำเงินที่สดใสแก่เครื่องดื่ม รวมทั้งรับประทานสดเป็นเครื่องเคียงในสำรับกับข้าว หรือตกแต่งจานและเมนูอาหารให้สวยงามแปลกตา อัญชันมีประโยชน์ต่อสุขภาพ อุดมไปด้วยสารแอนโทไซยยานิน (Anthocyanin) บำรุงสุขภาพผิวและผม ช่วยบรรเทาอาการอักเสบของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย  โดยมีผลการศึกษาที่สนับสนุนว่าการบริโภคอัญชันอาจช่วยบำรุงผิวและเส้นผม ต้านมะเร็ง ลดความเสี่ยงโรคอ้วน รวมถึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ในกรณีของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

[embed-health-tool-bmr]

คุณค่าทางโภชนาการของอัญชัน

อัญชันแห้ง 100 กรัม ให้พลังงาน 0 กิโลแคลอรี่ และประกอบไปด้วยสารอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ ดังนี้

คาร์โบไฮเดรต 50 กรัม

ไฟเบอร์ 50 กรัม

โพสแทสเซียม 2,500 มิลลิกรัม

เหล็ก 10 มิลลิกรัม

โปรตีน 0 กรัม

ไขมัน 0 กรัม

นอกจากนั้น อัญชัน ยังมีแร่ธาตุต่าง ๆ  ได้แก่ เหล็ก โพแทสเซียม รวมทั้งสารพฤกษเคมี ที่อาจมีประโยชน์เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกาย เช่น แคมพ์เฟอรอล (Kaempferol) เทอร์นาทิน (Ternatin) ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบของเซลล์

ประโยชน์ของอัญชันต่อสุขภาพ

อัญชัน ประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ที่สนับสนุนคุณสมบัติส่งเสริมสุขภาพของอัญชัน ดังนี้

1.อาจช่วยรักษาโรคเบาหวาน

ดอกอัญชัน สามารถสกัดออกมาเป็นสารเอทานอลซึ่งออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ในขณะที่ใบของอัญชันสามารถสกัดออกมาได้สารที่มีคุณสมบัติช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไปในผู้ป่วยเบาหวานได้ จากบทความงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งทำการทดสอบคุณสมบัติของสารสกัดใบอัญชัน เผยแพร่ในวารสาร ICONIET PROCEEDING  ปี พ.ศ. 2560

โดยนักวิจัยได้ทำการทดสอบให้อาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ป่วยเบาหวาน 10 ราย รับประทานสารสกัดใบอัญชันต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 5 เดือน หลังจบการทดสอบ พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดของอาสาสมัครที่เป็นเบาหวานลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับปกติไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สรุปได้ว่า สารสกัดใบอัญชัน อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยไม่ทำให้ระดับน้ำตาลเลือดต่ำลงมากเกินไป จนเป็นผลเสียต่อสุขภาพ

2.อาจช่วยแก้ปัญหาผมบาง

อัญชัน มีสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoids) และสารแอนโทไซยยานิน ที่มีส่วนช่วยบำรุงรูขุมขน กระตุ้นการงอกของเส้นผม ช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผม อีกทั้งป้องกันผมหงอกก่อนวัยอันควร การใช้ดอกอัญชันชะโลมให้ทั่วเส้นผมและหนังศีรษะ อาจช่วยแก้ปัญหาผมบางและบำรุงหนังศีรษะได้

จากผลงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับศักยภาพของสารสกัดอัญชันและน้ำมันกานพลู เผยแพร่ในวารสาร Pharmaceutical Sciences Asia มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2565 นักวิจัยให้กลุ่มอาสาสมัคร 15 ราย ทาสารสกัดอัญชันและน้ำมันกานพลูบริเวณคิ้วทั้ง 2 ข้าง วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 60 วัน เพื่อทดสอบศักยภาพของอัญชันและกานพลู ซึ่งตั้งสมมติฐานว่าอาจช่วยให้เส้นผมหรือขนคิ้วดกดำ เมื่อใช้ทาบริเวณศีรษะหรือใบหน้า

จากการทดลองดังกล่าวพบว่า ขนคิ้วของอาสาสมัคร ดูเข้มขึ้นหลังจากใช้สารสกัดไปแล้ว 30 วัน และยิ่งเข้มขึ้นกว่าเดิมเมื่อใช้สารสกัดอัญชันครบ 2 เดือน

นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุเพิ่มเติมว่า ระหว่างช่วงที่ทดสอบ ไม่พบอาสาสมัครคนใดมีอาการระคายเคืองจากการใช้สารสกัดอัญชันและกานพลู

3.อาจช่วยต้านมะเร็ง

ในอัญชันมีสารแคมพ์เฟอรอลซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยไม่ทำให้เซลล์ปกติเสียหาย การบริโภคอัญชันจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเนื้องอกและโรคมะเร็งได้

ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับสารฟลาโวนอยด์จากกลีบดอกอัญชัน เผยแพร่ในวารสาร Phytochemistry พ.ศ. 2546 ระบุว่า สารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ 3 ชนิด ได้แก่ สารแคมพ์เฟอรอล สารเควอซิทิน (Quercetin) และสารไมริเซติน (Myricetin) มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ต่อต้านสารอนุมูลอิสระ ต่อต้านการอักเสบ ยับยั้งการเกิดมะเร็ง ช่วยลดระดับไขมันในเลือด จึงสรุปได้ว่า อัญชันอาจมีส่วนช่วยต่อต้านการเกิดเซลล์มะเร็ง

นอกจากนั้น ยังมีผลการศึกษาเกี่ยวกับศักยภาพของสารแคมพ์เฟอรอลต่อการต้านมะเร็ง เผยแพร่ในวารสาร Molecules ปี พ.ศ. 2562 อธิบายว่า ในกรณีของโรคมะเร็งเต้านม สารแคมพ์เฟอรอล อาจมีฤทธิ์หยุดวัฏจักรการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และกระตุ้นให้เซลล์ดังกล่าวทำลายตัวเอง

4.อาจช่วยป้องกันภาวะไขมันพอกตับ

อัญชัน มีสารแอนโทไซยานิน โดยหนึ่งในคุณสมบัติของสารดังกล่าวคือ ช่วยป้องกันการสะสมของไขมัน ปรับปรุงระบบเผาผลาญของร่างกายให้ทำงานดีขึ้น รวมทั้งสร้างสมดุลในการใช้พลังงานของร่างกาย การบริโภคอัญชันจึงอาจช่วยลดการสะสมของไขมัน และลดความเสี่ยงภาวะไขมันพอกตับ

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับ สารสกัดจากดอกอัญชันที่อาจช่วยยับยั้งการสะสมของไขมันและไขมันพอกตับ เผยแพร่ในวารสาร Molecules พ.ศ. 2562 พบว่า สารสกัดดอกอัญชันอาจมีส่วนช่วยในการลดภาวะไขมันพอกตับ โดยควบคุมและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ไขมัน

ข้อควรระวังในการบริโภค อัญชัน

แม้การบริโภคอัญชันจะค่อนข้างปลอดภัย แต่การบริโภคอัญชันในปริมาณมากอาจเป็นสาเหตุของอาการปวดท้อง ท้องร่วง และคลื่นไส้

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย สตรีมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้มีโรคประจำตัว หรือผู้ต้องใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจบริโภคอัญชันเพื่อใช้บำรุงร่างกาย เนื่องจากในอัญชันมีสารฟลาโวนอยด์ที่อาจทำให้เกิดการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Kaempferol: A Key Emphasis to Its Anticancer Potential. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6631472/. Accessed May 13, 2022

Application of butterfly Pea Leaves Extract on Diabetic Patient. https://www.researchgate.net/publication/331143774_Application_of_butterfly_Pea_Leaves_Extract_on_Diabetic_Patient. Accessed May 13, 2022

Clitoria ternatea Flower Petal Extract Inhibits Adipogenesis and Lipid Accumulation in 3T3-L1 Preadipocytes by Downregulating Adipogenic Gene Expression. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6571662/. Accessed May 13, 2022

Ternatin, a cyclic peptide isolated from mushroom, and its derivative suppress hyperglycemia and hepatic fatty acid synthesis in spontaneously diabetic KK-A(y) mice. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23000156/. Accessed May 13, 2022

Changes in lipid metabolism in diet-induced obesity. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/3889541/#:~:text=These%20studies%20suggest%20that%20increased,maintain%20a%20lower%20body%20weight. Accessed May 13, 2022

Physical stability and subjective efficacy study of liposome loaded with Clitoria ternatea (butterfly pea) flower extract and Eugenia caryophyllus (clove) oil. https://pharmacy.mahidol.ac.th/journal/_files/2022-49-1_7.pdf. Accessed May 13, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/05/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารที่ย่อยง่าย มีอะไรบ้าง ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

โรคขาดสารอาหาร สาเหตุ อาการ และการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา