backup og meta

อินทผาลัม ประโยชน์ และข้อควรระวังในการรับประทาน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/10/2023

    อินทผาลัม ประโยชน์ และข้อควรระวังในการรับประทาน

    อินทผาลัม เป็นคำที่นิยมใข้เรียก อินทผลัม ซึ่งเป็นพืชตระกูลปาล์ม ผลของอินทผาลัมสดมีขนาดค่อนข้างเล็ก มีสีเหลืองไปจนถึงสีแดงสด ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และมีรสหวานจัด สามารถรับประทานได้ทั้งแบบสด อบแห้ง และน้ำเชื่อม อีกทั้งยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม หากรับประทานอินทผาลัมแล้วมีอาการแพ้ ควรหยุดรับประทานทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ผื่นคัน ตาแดง น้ำตาไหล

    คุณค่าทางโภชนาการของ อินทผาลัม

    อินทผาลัม 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 282 กิโลแคลอรี่ มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 20.8 กรัม และอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ เช่น

  • คาร์โบไฮเดรต 75 กรัม
  • น้ำตาล 63.4 กรัม
  • ไฟเบอร์ 8 กรัม
  • โปรตีน 2.45 กรัม
  • ไขมัน 0.39 กรัม
  • นอกจากนี้ อินทผาลัมยังมีสารอาหารที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกายอื่น ๆ เช่น โพแทสเซียม แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก แมงกานีส รวมถึงสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น ช่วยในการย่อยอาหาร การควบคุมโรคเบาหวาน

    ประโยชน์ต่อสุขภาพของ อินทผาลัม

    อินทผาลัมมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนสรรพคุณของอินทผาลัมต่อการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

    อาจช่วยเรื่องระบบขับถ่ายได้และป้องกันมะเร็งลำไส้ได้

    อินทผาลัมอุดมไปด้วยไฟเบอร์หรือใยอาหารที่ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่ายได้ดี และยังประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น สารโพลีฟีนอล สารฟลาโวนอยด์ไกลโคไซด์ (Flavonoid glycosides) และสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ที่อาจช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ และยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในเยื่อบุลำไส้อีกด้วย

    จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of nutritional science เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 ศึกษาเรื่อง ผลกระทบของผลอินทาผลัมและส่วนประกอบโพลีฟีนอลต่อระบบนิเวศของจุลินทรีย์ในลำไส้ สารในกระบวนการสร้างและสลายแบคทีเรีย และการเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็งลำไส้ พบว่า เมแทบอลิซึมของแบคทีเรียในผลอินทผาลัมทำให้เกิดการผลิตแบคทีเรียในลำไส้ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เมื่อใช้ในรูปแบบของสารสกัดอินทผาลัมซึ่งมีปริมาณไฟเบอร์ชนิดไม่ละลายน้ำจะช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียในลำไส้

    นอกจากนี้ยังพบว่า สารประกอบที่ไม่ละลายน้ำและสารโพลีฟีนอลที่สกัดจากผลอินทผาลัม สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเยื่อบุลำไส้ (Caco-2 Cell) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงอาจสรุปได้ว่า การบริโภคผลอินทผาลัมอาจช่วยเสริมสร้างสุขภาพของลำไส้โดยการเพิ่มการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ และยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่

    อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

    อินทผาลัมเป็นผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ (Glycemic Index หรือ GI) ช่วยให้รู้สึกอิ่มเร็วและร่างกายดูดซึมน้ำตาลได้ช้า เหมาะกับผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยควรรับประทานควบคู่กับอาหารที่มีประโยชน์อื่น ๆ เช่น ถั่วที่เป็นแหล่งโปรตีนซึ่งจะช่วยให้ย่อยคาร์โบไฮเดรตให้ช้าลง และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

    จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Pakistan Journal of Medical Sciences ฉบับเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2564 ศึกษาเรื่อง ผลกระทบของผลอินทผาลัมต่อระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน พบว่า ผลอินทผาลัมมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าอาหารบางประเภท ทั้งยังสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ จากการวัดระดับน้ำตาลในพลาสมาของหลอดเลือดดำ (Fasting plasma glucose) และจากการวัดระดับน้ำตาลจากการเจาะเลือดหลังรับประทานอาหาร (Two – hour postprandial plasma glucose)

    อาจออกฤทธิ์ต้านจุลชีพได้

    อินทผาลัมอุดมไปด้วยสารประกอบฟีนอล เช่น สารโพลีฟีนอล สารฟลาโวนอยด์ ที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและอนุมูลอิสระ โดยสารโพลีฟีนอลเป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้อินทผาลัมมีคุณสมบัติในการยับยั้งจุลินทรีย์และฤทธิ์ต้านจุลชีพ ต้านอาการอักเสบของเนื้อเยื่อ และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนังและโรคทางลำไส้ได้

    จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ใน Frontiers in microbiology เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ศึกษาเรื่อง ฤทธิ์ต้านแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัสออเรียส (S. aureus) และแบคทีเรียเอสเชอริเดียโคไล (E. coli) ของน้ำเชื่อมอินทผาลัม พบว่า น้ำเชื่อมอินทผาลัมมีสารโพลีฟีนอลซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัสออเรียส (S. aureus) ที่เป็นต้นเหตุของโรคอักเสบทางผิวหนัง และแบคทีเรียเอสเชอริเดียโคไล (E. coli) ที่เป็นต้นเหตุของโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและโรคท้องเดิน จึงอาจนำไปใช้ในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียได้ในอนาคต

    เป็นสารให้ความหวานตามธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพ

    ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า อินทผาลัมจำนวน 1 ผล  มีปริมาณน้ำตาลทั้งหมด 8 กรัม และคาร์โบไฮเดรตประมาณ 6 กรัม อินทผาลัมเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำตาลฟรุกโตส ที่เป็นน้ำตาลธรรมชาติพบได้ในผลไม้ทั่วไป

    โดยน้ำตาลจากอินทผาลัมถือว่าเป็นแหล่งน้ำตาลที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ด้วยเหตุนี้จึงสามารถใช้ทำเป็นน้ำเชื่อมทดแทนน้ำตาลทรายขาวทั่วไป โดยน้ำตาลที่ทำมาจากอินทผาลัม มีสารประกอบฟีนอลิก (Phenolic compounds) ซึ่งออกฤทธิ์กำจัดสารอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Agricultural and Food Chemistry เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 ศึกษาเรื่อง ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการกลายพันธุ์ของสารสกัดผลอินทผาลัม พบว่า สารสกัดน้ำของอินทผาลัมสามารถยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมันและโปรตีน ส่งผลให้อนุมูลอิสระลดลงได้ จึงอาจสรุปได้ว่า ผลอินทผาลัมมีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระและต้านการกลายพันธุ์ สามารถใช้เป็นสารให้ความหวานที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้

    ข้อควรระวังในการรับประทาน อินทผาลัม

    แม้อินทผาลัมจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากเกินไป ควรรับประทานผลไม้และอาหารประเภทอื่น ๆ ให้หลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน และลดความเสี่ยงในการได้รับสารอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเกินความต้องการของร่างกาย อินทผาลัมจัดเป็นผลไม้ที่น้ำตาลสูงแต่ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low glycemic index food) หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมมักไม่ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดแปรปรวนหรือพุ่งสูง ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงสามารถรับประทานอินทผาลัมได้ แต่ควรกำจัดปริมาณให้เหมาะสม

    นอกจากนี้ อินทผาลัมแห้งยังมีสารซัลไฟต์ (Sulfites) สูง ซึ่งอาจเป็นสารก่อภูมิแพ้ได้ ผู้ที่แพ้สารซัลไฟต์จึงไม่ควรบริโภคอินทผาลัม และควรหยุดรับประทานอินทผาลัมทันทีที่เกิดอาการแพ้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ เช่น อาการคัน น้ำตาไหล ตาแดง น้ำมูกไหล

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/10/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา