backup og meta

เห็ดหลินจือ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี · โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 21/07/2022

    เห็ดหลินจือ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

    เห็ดหลินจือ หรือเห็ดหมื่นปี หรือ เห็ดจวักงู เป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่ชาวจีนนิยมบริโภคเพื่อใช้บรรเทาอาการป่วย หรือใช้เป็นยาอายุวัฒนะมานานกว่า 4,000 ปี เติบโตได้ดีในประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น เห็ดหลินจือประกอบไปด้วยสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุนานาชนิด เช่น โปรตีน วิตามินบีรวม วิตามินดี กรดอะมิโน สารต้านอนุมูลอิสระ ในปัจจุบัน มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นสนับสนุนว่า เห็ดหลินจือ อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ช่วยต้านมะเร็ง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม การบริโภคเห็ดหลินจือในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น มึนงง ปากแห้ง ปวดท้อง คลื่นไส้

    คุณค่าทางโภชนาการของ เห็ดหลินจือ

    เห็ดหลินจือ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 35 กิโลแคลอรี่ และประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

    • ใยอาหาร 3 กรัม
    • โปรตีน 3 กรัม
    • โพแทสเซียม 432 มิลลิกรัม
    • ฟอสฟอรัส 225 มิลลิกรัม
    • ทองแดง 26 มิลลิกรัม
    • แมงกานีส 22 มิลลิกรัม
    • แมกนีเซียม 7.95 มิลลิกรัม

    นอกจากนี้ ในเห็ดหลินจือยังประกอบด้วยวิตามินบีรวม วิตามินดี สังกะสี โซเดียม แคลเซียม ซัลเฟอร์ (Sulphur)

    ประโยชน์ต่อสุขภาพของ เห็ดหลินจือ

    เห็ดหลินจือ ประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของเห็ดหลินจือ ดังนี้

    1. อาจช่วยต้านมะเร็งได้

    เห็ดหลินจือมีสารนิวคลีโอไซด์ (Nucleoside) และสเตอรอล (Sterol) ซึ่งอาจมีคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยคุณสมบัติและกลไกต้านมะเร็งของเห็ดตระกูลหลินจือ 2 ชนิด ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Agricultural and Food Chemistry ปี พ.ศ. 2552 นักวิจัยได้ทดสอบคุณสมบัติของสารสกัดจากเห็ดหลินจือแดงและเห็ดหลินจือม่วงต่อเซลล์มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ และมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิลอยด์ (Myeloid leukemia) ในหลอดทดลอง พบว่า สารสกัดจากเห็ดหลินจือทั้ง 2 ชนิด อาจมีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันเซลล์มะเร็งเพิ่มจำนวน ยับยั้งวัฏจักรของเซลล์ รวมถึงเหนี่ยวนำให้เซลล์ทำลายตัวเอง นอกจากนี้ นักวิจัยเสริมว่า คุณสมบัติต้านมะเร็งต่าง ๆ ของเห็ดตระกูลหลินจือ อาจเป็นเพราะสารสเตอรอลและนิวคลีโอไซด์ที่อยู่ในเห็ดหลินจือ

    อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ควรมีการทดลองในสัตว์และมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันคุณสมบัติของเห็ดหลินจือในการต้านเซลล์มะเร็ง

    1. อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

    เห็ดหลินจือมีสารพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) ซึ่งมีคุณสมบัติกระตุ้นการหลั่งอินซูลินและการทำงานของเอนไซม์ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสในร่างกาย การบริโภคเห็ดหลินจือ จึงอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติของสารพอลิแซ็กคาไรด์ในเห็ดหลินจือ ต่อหนูที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เผยแพร่ในวารสาร Archives of Pharmacal Research ปี พ.ศ. 2555 นักวิจัยแบ่งหนูทดลองที่เป็นโรคเบาหวานออกเป็นกลุ่ม ๆ โดยกลุ่มหนึ่งให้บริโภคสารพอลิแซ็กคาไรด์ 50 กรัม/วัน ส่วนอีกกลุ่มให้บริโภค 100 กรัม/วัน และอีกกลุ่มไม่บริโภคสารใด ๆ เพิ่มเติม แล้วเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงหลังทดลองครบ 7 วัน

    พบว่า หนูทดลองทั้ง 2 กลุ่มที่บริโภคพอลิแซ็กคาไรด์ มีระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคสารใด ๆ เพิ่มเติม โดยหนูทดลองกลุ่มที่บริโภคพอลิแซ็กคาไรด์ 100 กรัม/วัน มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมากกว่ากลุ่มที่บริโภคสารพอลิแซ็กคาไรด์ 50 กรัม/วัน

    ทั้งนี้ ยังเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันคุณสมบัติของเห็ดหลินจือในการช่วยลดน้ำตาลในเลือด

    1. อาจช่วยบรรเทาความอ่อนล้าได้

    สปอร์ของเห็ดหลินจืออาจมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ มีส่วนในการสร้างมวลกล้ามเนื้อ และเสริมสร้างพลังงาน การบริโภคเห็ดหลินจือจึงอาจช่วยลดความรุนแรงของอาการอ่อนล้าเรื้อรังได้

    การศึกษานำร่องชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยคุณสมบัติของผงสปอร์เห็ดหลินจือในการช่วยบรรเทาอาการอ่อนล้าจากโรคมะเร็งในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รับการรักษาด้วยฮอร์โมน ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine ปี พ.ศ. 2555 นักวิจัยสุ่มให้อาสาสมัครบางรายจากจำนวนผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมดจำนวน 48 รายซึ่งป่วยเป็นมะเร็งเต้านม บริโภคผงสปอร์เห็ดหลินจือเป็นเวลา 48 สัปดาห์ แล้วเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างผู้ที่บริโภคผงสปอร์เห็ดหลินจือและผู้ที่ไม่ได้บริโภคผ่านการทำแบบสอบถาม

    ผลปรากฏว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่บริโภคเห็ดหลินจือ มีอาการดีขึ้นจากภาวะอ่อนล้า ภาวะซึมเศร้า และคุณภาพชีวิตดีขึ้น นักวิจัยจึงสรุปว่า ผงสปอร์เห็ดหลินจือ อาจมีประโยชน์ในการช่วยบรรเทาอาการอ่อนล้าจากโรคมะเร็งในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รักษาด้วยฮอร์โมนโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์

    1. อาจช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

    เห็ดหลินจือประกอบด้วยสารพอลิแซ็กคาไรด์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน โดยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย การบริโภคเห็ดหลินจือ จึงอาจช่วยเสริมสร้างให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงขึ้น

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกาย จากการบริโภคสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการช่วยปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลาม เผยแพร่ในวารสาร International Immunopharmacology ปี พ.ศ. 2549 นักวิจัยทดลองให้อาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งลำไส้จำนวน 41 ราย บริโภคเห็ดหลินจือ เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า ตัวชี้วัดต่าง ๆ ภายในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) หลาย ๆ ชนิดและการทำงานของสารไฟโตฮีแมกกลูตินิน (Phytohemagglutinin) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงอาจสรุปได้ว่า เห็ดหลินจือ อาจมีประสิทธิภาพในการช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ระยะลุกลาม

    ทั้งนี้ ควรมีการทดลองเพิ่มเติมเพื่อศึกษาถึงประโยชน์และความปลอดภัยในการบริโภคเห็ดหลินจือของผู้ป่วยมะเร็งต่อไป

    ข้อควรระวังในบริโภค เห็ดหลินจือ

    แม้ว่าเห็ดหลินจืออาจมีสรรพคุณทางยาต่อร่างกาย แต่มีข้อควรระวังในการบริโภคเห็ดหลินจือ ดังนี้

    • การบริโภคเห็ดหลินจือในปริมาณมาก อาจทำให้พบผลข้างเคียง เช่น มึนงง ปากแห้ง ปวดท้อง คลื่นไส้
    • เห็ดหลินจือสกัดอาจสามารถบริโภคต่อเนื่องได้อย่างปลอดภัยในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี และสำหรับการบริโภคเห็ดหลินจือแบบผงได้อย่างปลอดภัยอาจไม่ควรเกิน 16 สัปดาห์ติดต่อกัน
    • ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือในการสนับสนุนว่าหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคเห็ดหลินจือเพื่อบำรุงครรภ์ได้อย่างปลอดภัย จึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนบริโภค

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

    โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 21/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา