แรดิช (Radish) หรือหัวไชเท้าฝรั่ง หรือหัวผักกาดฝรั่ง เป็นพืชในตระกูลกะหล่ำ เช่นเดียวกับกะหล่ำดอก กะหล่ำปลี คะน้า และบร็อกโคลี แรดิชมีสีแดง มีกลิ่นฉุนเป็นเอกลักษณ์ และมีรสเผ็ดร้อน ทั้งยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ แร่ธาตุ และวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ เช่น มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานแรดิชในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ
[embed-health-tool-bmr]
คุณค่าทางโภชนาการของ แรดิช
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า แรดิช 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 16 กิโลแคลอรี่ มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 95.3 กรัม และอุดมไปด้วยสารอาหาร เช่น
- คาร์โบไฮเดรต 3.4 กรัม (แบ่งเป็นไฟเบอร์หรือใยอาหาร 1.6 กรัม และคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่น เช่น น้ำตาล แป้ง อีก 1.86 กรัม)
- โปรตีน 0.68 กรัม
- โพแทสเซียม 233 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 25 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 14.8 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 10 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ แรดิชยังมีสังกะสี ทองแดง เหล็ก วิตามินบี 3 (ไนอะซิน) วิตามินบี 9 (โฟเลต) ทั้งยังมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำ และมีโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ การรับประทานแรดิชในปริมาณที่เหมาะสมจึงอาจส่งผลดีต่อสุขภาพ
ประโยชน์ต่อสุขภาพของ แรดิช
แรดิชอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของแรดิช ดังนี้
อาจมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง
แรดิชอาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ เนื่องจากในรากของแรดิชมีสารกลุ่มไอโซไทโอไซยาเนต (Isothiocyanates) ที่มีส่วนช่วยในการหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Plant Foods for Human Nutrition เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็งและกระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็งในมนุษย์ของสารสกัดจากแรดิช พบว่า แรดิชมีสารเฮกเซนซึ่งเป็นสารที่มีไอโซไทโอไซยาเนต (Isothiocyanates) หลายชนิดที่ออกฤทธิ์ป้องกันมะเร็ง ทั้งยังช่วยกระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็งด้วยการปรับเปลี่ยนยีน ส่งผลให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง จึงอาจสรุปได้ว่า แรดิชอาจมีคุณสมบัติป้องกันการเกิดมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม ยังเป็นการศึกษาวิจัยในหลอดทดลอง ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ต่อไป
อาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา
แรดิชมีโปรตีนต้านเชื้อรา RsAFP2 ที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราและทำให้เซลล์เชื้อราบางชนิดตายได้ เช่น เชื้อแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) ซึ่งเป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ตามผิวหนัง เมื่อมีเชื้อราชนิดนี้จำนวนมากจะทำให้ผิวหนังติดเชื้อ โดยเฉพาะผิวหนังหรือเนื้อเยื่อบริเวณที่อับชื้นง่าย เช่น ขาหนีบ ทวารหนัก ช่องคลอด ทำให้เกิดการติดเชื้อราในช่องปาก การติดเชื้อในช่องคลอด การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Microbiology เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับ โปรตีนต้านเชื้อรา RsAFP2 ในแรดิชที่กระตุ้นการตายของเซลล์แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) พบว่า โปรตีน RsAFP2 ที่สกัดจากเมล็ดของแรดิชสามารถกระตุ้นการตายของเซลล์เชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ได้ด้วยการทำให้ผนังของเซลล์เชื้อราเกิดความเครียดจนส่งผลให้เซลล์เชื้อราเสื่อมสภาพ (Apoptosis) อย่างไรก็ตาม ยังเป็นการศึกษาวิจัยในหลอดทดลอง ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ต่อไป
อาจมีฤทธิ์การต้านเบาหวาน
แรดิชมีสารฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) อย่างเพลาโกนิดิน (Pelargonidin) ซึ่งเป็นสารให้สีตามธรรมชาติที่ส่งผลดีต่อสุขภาพของมนุษย์
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับแรดิชและโรคเบาหวาน พบว่า ส่วนต่าง ๆ ของแรดิชมีประโยชน์ในการต้านเบาหวาน รากแรดิชมีเพลาโกนิดินซึ่งช่วยลดภาวะภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ที่เกิดจากปริมาณอนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายเสียสมดุล อาจป้องกันเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้ เมล็ดของแรดิชมีส่วนช่วยลดภาวะดื้ออินซูลินและเพิ่มการดูดซึมน้ำตาลในเลือด ส่วนใบของแรดิชก็ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลในลำไส้ ทำให้น้ำตาลไม่เข้าสู่กระแสเลือดเร็วเกินไป
ข้อควรระวังในการบริโภค แรดิช
ข้อควรระวังในการบริโภคแรดิช มีดังนี้
- การบริโภคแรดิช รวมถึงผักในตระกูลกะหล่ำอื่น ๆ เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว คะน้า ในปริมาณมากส่งผลกระทบต่อการผลิตฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ อาจทำให้เกิดโรคคอหอยพอกได้
- การบริโภคแรดิชเยอะเกินไปอาจทำให้ทางเดินอาหารระคายเคือง เกิดอาการท้องอืดและปวดท้องได้ จึงควรบริโภคแรดิชในปริมาณพอเหมาะ
- ผู้ที่แพ้แรดิชควรหลีกเลี่ยงการบริโภคแรดิช เพราะอาจทำให้เกิดผื่นคัน หรือลมพิษได้