backup og meta

Black Currant (แบล็คเคอร์แรนท์) ประโยชน์ และข้อควรระวังการรับประทาน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 19/10/2022

    Black Currant (แบล็คเคอร์แรนท์) ประโยชน์ และข้อควรระวังการรับประทาน

    Black Currant (แบล็คเคอร์แรนท์) คือผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่มีลักษณะเป็นลูกกลมขนาดเล็ก สีม่วงหรือดำเข้มคล้ายกับองุ่นดำ ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารมากมายที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี แคลเซียม แมกนีเซียมและฟอสฟอรัส

    คุณค่าทางโภชนาการของ Black Currant

    แบล็คเคอร์แรนท์ 100 กรัม อาจให้พลังงาน 63 กิโลแคลอรี่ และอาจมีสารอาหารอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

    • คาร์โบไฮเดรตรวม 15.4 กรัม
    • โพแทสเซียม 322 มิลลิกรัม
    • วิตามินซี 181 มิลลิกรัม
    • ฟอสฟอรัส 59 มิลลิกรัม
    • แคลเซียม 55 มิลลิกรัม
    • แมกนีเซียม 24 มิลลิกรัม
    • วิตามินอี 1 มิลลิกรัม
    • วิตามินเอ 12 ไมโครกรัม

    ประโยชน์ของ Black Currant

    แบล็คเคอร์แรนท์ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของแบล็คเคอร์แรนท์ในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

    • อาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

    แบล็คเคอร์แรนท์มีแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ให้สีน้ำเงิน สีแดง และสีม่วงในธรรมชาติ ที่อาจมีส่วนช่วยควบคุมการทำงานของหัวใจ ช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต และช่วยป้องกันความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

    จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical and Experimental Hypertension ปี พ.ศ. 2563 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการรับประทานสารสกัดแบล็คเคอร์แรนท์ต่อการทำงานของหลอดเลือดแดงในผู้สูงอายุ ที่ทำการทดลองในผู้สูงอายุจำนวน 14 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับประทานสารสกัดแบล็คเคอร์แรนท์ 2 แคปซูล แคปซูลละ 300 มิลลิกรัม และกลุ่มที่ได้รับยาหลอกเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นทำการตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต พบว่า กลุ่มที่ได้รับประทานสารสกัดจากแบล็คเคอร์แรนท์มีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น และความดันโลหิตลดลงมากกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอก เนื่องจากแบล็คเคอร์แรนท์มีแอนโทไซยานินที่เป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์มีส่วนช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้เป็นการศึกษาสารสกัดจากแบล็คเคอร์แรนท์ ไม่ใช่แบล็คเคอร์แรนท์สด จึงยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการรับประทานผลแบล็คเคอร์แรนท์ต่อการทำงานของหัวใจและความดันโลหิตเพิ่มเติม

  • อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

  • แบล็คเคอร์แรนท์มีแอนโทไซยานิน ไฟเบอร์ และวิตามินซีสูงที่อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง โรคเบาหวาน และอาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการเบาหวานแย่ลง

    จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร British Journal of Nutrition ปี พ.ศ. 2563 ที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของแบล็คเคอร์แรนท์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากรับประทานอาหาร ที่ทำการทดลองในกลุ่มคนที่มีสุขภาพดี 26 คน (เพศหญิง 22 คน และเพศชาย 4 คน) โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 รับประทานแบล็คเคอร์แรนท์บดที่เติมน้ำตาล กลุ่มที่ 2 รับประทานน้ำ 300 มิลลิลิตรพร้อมซูโครส กลูโคส และฟรุกโตส และกลุ่มที่ 3 รับประทานผลิตภัณฑ์จากแบล็คเคอร์แรนท์ที่มีคีนัวหมัก และตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินหลังอาหาร 15, 30, 45, 60, 90, 120 และ 180 นาที พบว่า กลุ่มที่รับประทานแบล็คเคอร์แรนท์บดที่เติมน้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากแบล็คเคอร์แรนท์ที่มีคีนัวหมัก มีความเข้มข้นของกลูโคสในเลือดและอินซูลินลดลงในช่วง 30 นาทีแรกและมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่สมดุลตามลำดับใน 1 ชั่วโมง

    • อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคต้อหิน

    แบล็คเคอร์แรนท์อุดมไปด้วยแอนโทไซยานิน วิตามินเอ วิตามินอี และวิตามินซี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยลดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) จากอนุมูลอิสระ ที่ส่งผลให้เซลล์และเรตินาในดวงตาเสื่อมสภาพ และอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น

    จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Ocular Pharmacology and Therapeutics เมื่อปี พ.ศ.2556 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของแอนโทไซยานินในแบล็คเคอร์แรนท์ต่อระดับความเข้มข้นของเอนโดเทลิน-1 (Endothelin-1) ซึ่งเป็นเปบไทด์ที่ทำให้หลอดเลือดหดตัวในผู้ป่วยโรคต้อหิน โดยแบ่งผู้ทดลองจำนวน 38 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 19 คน โดยกลุ่มแรกจะได้รับยาแคปซูลที่มีส่วนประกอบแบล็คเคอร์แรนท์ และกลุ่มที่ 2 จะได้รับยาหลอกเป็นเวลา 24 เดือน และตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงทุก ๆ 6 เดือน เมื่อสิ้นสุดการทดลอง พบว่า กลุ่มที่รับประทานยาแคปซูลที่มีส่วนประกอบของแบล็คเคอร์แรนท์มีระดับความเข้มข้นของ Endothelin-1 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก ซึ่งอาจมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยโรคต้อหินมีการมองเห็นที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ระดับของสารต้านอนุมูลอิสระและปฏิกิริยาต้านอนุมูลอิสระยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด อีกทั้งการทดลองนี้ใช้สารสกัดของแบล็คเคอร์แรนท์ และไม่ได้ทดลองกับผลแบล็คเคอร์แรนท์ จึงยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลของการรับประทานแบล็คเคอร์แรนท์ต่อการบรรเทาอาการของโรคต้อหิน

  • อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่

  • แบล็คเคอร์แรนท์มีวิตามินซีสูง ที่อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการช่วยต้านการติดเชื้อที่ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยได้ เช่น โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่

    จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Fukushima Journal of Medical Science เมื่อปี พ.ศ. 2556 ที่ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ของสารสกัดจากแบล็คเคอร์แรนท์ พบว่า การรับประทานสารสกัดแบล็คเคอร์แรนท์อาจช่วยยับยั้งและต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ หรืออาจช่วยบรรเทาอาการไข้หวัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับประทานแบล็คเคอร์แรนท์เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

    ข้อควรระวังเกี่ยวกับการรับประทาน Black Currant

    ควรล้างทำความสะอาดแบล็คเคอร์แรนท์ก่อนรับประทานเพื่อกำจัดสารเคมีและสิ่งสกปรก เช่น ยาฆ่าแมลง ดิน ฝุ่น และช่วยป้องกันการติดเชื้อในทางเดินอาหาร นอกจากนี้ แบล็คเคอร์แรนท์ในรูปแบบน้ำผลไม้ ผลไม้อบแห้ง และแยม อาจมีการปรุงแต่งรสชาติด้วยน้ำตาลในปริมาณมาก ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานในปริมาณมากเพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และก่อนเลือกซื้อแบล็คเคอร์แรนท์แปรรูปควรอ่านข้อมูลโภชนาการ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีน้ำตาลในเลือดสูงและผู้ป่วยเบาหวาน

    ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติหรือวางแผนผ่าตัดควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแบล็คเคอร์แรนท์เนื่องจากอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้ากว่าปกติ อีกทั้งผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำควรจำกัดปริมาณการรับประทานแบล็คเคอร์แรนท์ เนื่องจากอาจส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงและเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายอ่อนแรง เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หัวใจล้มเหลวและหมดสติได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 19/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา