backup og meta

กินโอเมก้า 3 มากเกินไป แทนที่จะดีต่อใจ แต่กลับนำภัยร้ายมาสู่ร่างกาย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 29/06/2020

    กินโอเมก้า 3 มากเกินไป แทนที่จะดีต่อใจ แต่กลับนำภัยร้ายมาสู่ร่างกาย

    เชื่อว่าหลายๆ คนต่างก็รู้กันอยู่แล้วว่า โอเมก้า 3 นั้นเป็นสารอาหารที่สำคัญ และให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนั้นหลายคนจึงเลือกรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง หรือแม้แต่กินอาหารเสริมอย่าง น้ำมันปลา เพื่อให้ร่างกายได้รับโอเมก้า 3 อย่างเต็มที่ แต่รู้กันหรือไม่คะว่า การกินโอเมก้า 3 มากเกินไป แทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่อาจจะกลับกลายเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ บทความนี้จะมานำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับ อันตรายของการ กินโอเมก้า 3 มากเกินไป ให้คุณผู้อ่านได้รับทราบกัน

    กินโอเมก้า 3 ในปริมาณเท่าไหร่ ถือว่ามากเกินไป

    กรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันจำเป็น ที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของสมอง อีกทั้งยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือดได้ ประโยชน์ต่อสุขภาพที่มากมายเหล่านี้ จึงทำให้หลายๆ คน พยายามเลือกรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง หรือรับประทานอาหารเสริมโอเมก้า 3 ในปริมาณมาก เพราะเชื่อว่า ยิ่งกินโอเมก้า 3 เยอะ ก็จะยิ่งได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ความจริงแล้ว การบริโภคโอเมก้า 3 มากเกินไป อาจกลับกลายเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

    คำแนะนำเกี่ยวกับปริมาณการบริโภคโอเมก้า 3 ที่เหมาะสม คือ สำหรับผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี จะอยู่ที่ประมาณ 250 – 500 มก. ต่อวัน แต่สำหรับผู้ที่มีความต้องการเป็นพิเศษบางอย่าง เช่น ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ หรือผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง ก็อาจจะต้องรับประทานโอเมก้า 3 ในปริมาณที่มากขึ้น อยู่ที่ประมาณ 1,000 – 1,300 มก. ต่อวัน

    คำแนะนำจากองค์การความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority) ได้แนะนำเกี่ยวกับปริมาณในรับประทานกรดไขมันโอเมก้า 3 ว่า ไม่ควรเกินวันละ 5,000 มก. เนื่องจากอาจทำให้เกิดอันตรายได้ และหากคุณสังเกตพบว่าตัวเองมีผลข้างเคียง หรืออาการที่ไม่ดีจากการรับประทานโอเมก้า 3 ในปริมาณมาก ควรพิจารณาปรับลดขนาดอาหารเสริมโอเมก้า 3 และหันมาบริโภคโอเมก้า 3 จากอาหารแทน

    อันตรายที่มาจากการ กินโอเมก้า 3 มากเกินไป

    การบริโภคกรดไขมันโอเมก้า 3 ทั้งจากการรับประทานอาหาร และจากการรับประทานน้ำมันปลามากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายต่อร่างกาย เช่น

    น้ำตาลในเลือดสูง

    มีงานวิจัยที่พบว่า การรับประทานโอเมก้า 3 มากจนเกินไป อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น และเป็นอันตรายต่อผู้ที่จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากกรดโอเมก้า 3 สามารถไปกระตุ้นการผลิตน้ำตาลกลูโคสในร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้

    ความดันโลหิตต่ำ

    เนื่องจากกรดไขมันโอเมก้า 3 นั้น สามารถช่วยลดระดับของความดันโลหิตได้ ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ และช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้ แต่การรับประทานโอเมก้า 3 มากเกินไป โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ หรือผู้ที่กำลังใช้ยาลดความดันโลหิตร่วมด้วย อาจจะทำให้ระดับความดันโลหิตลดลงไปต่ำมากจนเกินไป และทำให้เกิดอาการวิงเวียน หน้ามืด ปวดหัว หมดสติ หรืออาจจะเสียชีวิตได้

    เลือดออกตามไรฟันและเลือดกำเดาไหล

    มีงานวิจัยที่พบว่า การรับประทานกรดไขมันโอเมก้า 3 อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการเลือดออกตามไรฟัน และเลือดกำเดาไหลได้ เนื่องจากโอเมก้า 3 มีคุณสมบัติช่วยลดการแข็งตัวของเลือด และทำให้สามารถช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดได้ แต่การรับประทานมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เลือดออกตามไรฟัน และเลือดกำเดาไหล แทน

    กรดไหลย้อน

    เนื่องจากกรดไขมันโอเมก้า 3 นั้นจะมีไขมันสูง ไขมันเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เช่น อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน หรือกรดไหลย้อน โดยเฉพาะหากรับประทานในปริมาณมาก หรือรับประทานครั้งละมากๆ ในคราวเดียว ดังนั้นทางที่ดีจึงควรรับประทานโอเมก้า 3 ในปริมาณที่เหมาะสม และแบ่งรับประทานครั้งละน้อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร

    ภาวะวิตามินเอเป็นพิษ

    กรดไขมันโอเมก้า 3 บางชนิด อาจจะประกอบไปด้วยวิตามินเอ (Vitamin A) ในปริมาณมาก เช่น โอเมก้า 3 ที่อยู่ในน้ำมันตับปลา 1 ช้อนโต๊ะ จะให้วิตามินเอมากถึง 270% ของปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละมื้อ ดังนั้น การรับประทานโอเมก้า 3 ที่มีวิตามินเอมากเกินไป จึงอาจส่งผลให้เกิดภาวะวิตามินเอเป็นพิษ ที่ทำให้เกิดอาการ เช่น คลื่นไส้ วิงเวียน ปวดข้อ ระคายเคืองผิวหนัง และในระยะยาว อาจส่งผลเสียต่อตับ และอาจทำให้ตับวายได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 29/06/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา