backup og meta

อยากลดน้ำตาลในเลือด ลดน้ำหนัก เบิร์นได้มากขึ้น ลอง กินอาหารเย็นให้เร็วขึ้น ดูสิ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/09/2020

    อยากลดน้ำตาลในเลือด ลดน้ำหนัก เบิร์นได้มากขึ้น ลอง กินอาหารเย็นให้เร็วขึ้น ดูสิ

    รู้ไหม หากคุณอยากลดไขมันในร่างกาย พุงยุบลง ควบคุมน้ำหนักได้ แถมน้ำตาลในเลือดก็ลงด้วย นอกจากจะควบคุมปริมาณอาหารที่กิน ออกกำลังกายให้มากขึ้นแล้ว คุณก็ต้องใส่ใจเวลาในการกินอาหารด้วย เพราะงานวิจัยชี้ว่า การ กินอาหารเย็นให้เร็วขึ้น ช่วยควบคุมน้ำหนัก เบิร์นไขมัน ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ฉะนั้นใครที่อยากลดน้ำหนัก ลดไขมัน ลดน้ำตาลในเลือด Hello คุณหมอ แนะนำให้คุณปรับเวลากินอาหารเย็นอย่างเร่งด่วนเลย

    งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเวลาในการกินอาหาร

    งานวิจัยฉบับหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Clinical Endocrinology & Metabolism ของสมาคมต่อมไร้ท่อ ฉบับเดือนสิงหาคม ปี 2020 ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เผยว่า การกินอาหารเย็นดึกเกินไป มีส่วนเกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัวและระดับความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้น โดยในการวิจัยครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นชายหญิงสุขภาพดี 20 คน (ชาย 10 คน และหญิง 10 คน) ทีมนักวิจัยได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวออกเป็นสองกลุ่ม จากนั้นให้กลุ่มหนึ่งกินอาหารเย็นตอน 22.00 น. ส่วนอีกกลุ่มกินอาหารเย็นตอน 18.00 น. และให้ทั้งสองกลุ่มเข้านอนเวลาเดียวกันคือ 23.00 น.

    ผลปรากฏว่า กลุ่มที่กินอาหารเย็นดึกกว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า และร่างกายเผาผลาญไขมันได้น้อยกว่ากลุ่มที่กินอาหารเย็นเร็วกว่าถึง 20% และ 10% ตามลำดับ แม้กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มจะกินอาหารเมนูเดียวกันก็ตาม

    จากผลการศึกษาวิจัย จะเห็นได้ว่า แม้จะกินอาหารเมนูเดียวกันและนอนเวลาเดียวกัน แต่คนที่กินอาหารเย็นดึกกว่า กลับมีผลเสียต่อสุขภาพมากกว่า และผู้เชี่ยวชาญยังเพิ่มเติมว่า ยิ่งถ้าคุณเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือมีปัญหาในการย่อยอาหารอยู่แล้ว การกินอาหารเย็นดึกเกินไป ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายมากขึ้นด้วย

    กินอาหารเย็นให้เร็วขึ้น แล้วดีอย่างไร

    ช่วยในการลดน้ำหนัก

    ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การกินอาหารเย็นในช่วงเวลา 18.00-19.00 น. สามารถช่วยลดการรับแคลอรี่ได้เป็นอย่างมาก นั่นอาจเป็นเพราะว่า เมื่อคุณกินอาหารเย็นให้เร็วขึ้น คุณก็จะไม่รู้สึกหิวมากเท่าไหร่ เพราะระยะเวลาระหว่างมื้อเที่ยงและมื้อเย็นไม่ห่างกันมาก อีกทั้งการกินอาหารเย็นให้เร็วขึ้นยังช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมันที่สะสมไว้เป็นพลังงาน จึงช่วยให้มวลไขมันในร่างกายลดลงด้วย

    นอกจากนี้ การกินอาหารเย็นให้เร็วขึ้นยังดีต่อระบบย่อยอาหารด้วย โดยผลงานศึกษาวิจัยในหนูทดลองยังชี้ว่า ยิ่งเว้นระยะห่างระหว่างมื้อเย็นกับมื้อต่อไปนานเท่าไหร่ ร่างกายก็จะยิ่งย่อยอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และถึงแม้จะให้หนูทดลองกินอาหารไขมันสูง แต่หนูทดลองกลุ่มที่เว้นระยะห่างระหว่างมื้อเย็นและมื้อต่อไปเป็นเวลา 16 ชั่วโมงมีน้ำหนักขึ้นน้อยกว่าหนูทดลองกลุ่มที่กินอาหารบ่อย

    ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

    หากคุณกินอาหารจนอิ่มเกินไป หรือกินอาหารใกล้เวลานอนมากเกินไป จะทำให้เสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อนและอาหารไม่ย่อยจนนอนหลับยากขึ้น แต่หากคุณกินอาหารเย็นให้เร็วขึ้น ความเสี่ยงเหล่านี้ก็จะลดลง นอกจากจะช่วยให้นอนหลับสนิทขึ้นแล้ว ยังทำให้คุณตื่นเช้าขึ้นมาแบบกระปรี้กระเปร่า มีพลังงาน และคุณก็ควรเลี่ยงการกินอาหารว่างก่อนนอน หรือกินยามดึกด้วย เพราะจะทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัวจนนอนไม่หลับ และส่งผลกระทบกับนาฬิกาชีวิตของคุณ เมื่อเวลาหลับและตื่นรวน ระบบอื่น ๆ ในร่างกายก็จะรวนตามไปด้วย

    กินอาหารเย็นให้เร็วขึ้น ดีต่อสุขภาพหัวใจ

    ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การกินอาหารเย็นให้เร็วขึ้น และปรับปริมาณอาหารเย็นให้น้อยลงส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ โรคหัวใจและหลอดเลือด และจะยิ่งดีขึ้นไปอีก หากคุณเลือกกินอาหารที่โซเดียมต่ำ หรือรสไม่เค็มจัด เพราะโซเดียมอาจทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจทั้งสิ้น

    ช่วยให้อารมณ์ดีและมีพลังงาน

    การกินอาหารเย็นให้เร็วขึ้นทำให้ร่างกายมีเวลาปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้กลับสู่ระดับปกติ หรือคงที่มากขึ้น จึงทำให้คุณรู้สึกเหนื่อย หรืออารมณ์แปรปรวนน้อยลง นอกจากนี้ การกินอาหารเย็นเร็วขึ้นยังทำให้คุณมีพลังงานในการทำกิจกรรมก่อนเข้านอนมากขึ้นด้วย

    รู้อย่างนี้แล้ว ใครที่ชอบกินอาหารเย็นดึก ๆ หรือต้องมีของว่างก่อนนอนเป็นประจำ ก็อย่าลืมปรับเวลากินอาหารเย็นให้เร็วขึ้นดูนะคะ และอย่าลืมเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และหลากหลายด้วย จะได้ยิ่งส่งเสริมสุขภาพมากขึ้นไปอีก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/09/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา