backup og meta

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ สารแทนนิน (Tannin) สารรสขมที่พบได้ในพืช

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ สารแทนนิน (Tannin) สารรสขมที่พบได้ในพืช

เวลาที่เราดื่มชาหรือกาแฟ แล้วรู้สึกได้ว่ามันขม นั่นเป็นรสขมที่เกิดขึ้นจากสารแทนนิน สารที่สามารถพบได้ในอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ นอกจากจะโดยเด่นในเรื่องของรสขมแล้ว ยังอาจให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้อีกด้วย วันนี้ Hello คุณหมอ จะพาทุกคนมารู้จักกับ แทนนิน ว่ามีประโยชน์อย่างไร และมีข้อควรระวังอะไรบ้างที่คุณควรรู้เกี่ยวกับสารชนิดนี้

แทนนิน คืออะไร

แทนนิน (Tannin) หรือบางที่ก็เรียกว่า กรดแทนนิก (Tannic acid) คือสารประกอบที่ได้มาจากกรดฟีนอลิก (Phenolic acids) และจัดอยู่ในกลุ่มของสารประกอบที่เรียกว่า โพลีฟีนอล (Polyphenols)

โมเลกุลของสารแทนนินนั้นจะมีขนาดใหญ่กว่า สารประกอบอื่นๆ ในกลุ่มของสารโพลีฟีนอล อีกทั้งยังมีคุณสมบัติในการเข้ายึดจับกับโมเลกุลอื่น เช่น โปรตีน เซลลูโลส (cellulose) สตาร์ซ (starch) และแร่ธาตุได้ง่าย จึงทำให้สารแทนนินนั้นไม่ละลายน้ำ และทนทานต่อการสลายตัวมากกว่าสารประกอบอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน

ตามปกติแล้ว เราสามารถพบสารแทนนินได้ตามธรรมชาติ ในส่วนต่างๆ ของพืช ทั้งส่วนที่กินได้และกินไม่ได้ เช่น รากไม้ เปลือกไม้ ดอกไม้ ผล ใบ และเมล็ด พืชผลิตสารแทนนินที่มีรสขมเหล่านี้ออกมา เพื่อช่วยป้องกันตัวจากศัตรูพืชตามธรรมชาติ ไม่ให้เข้ามากัดกินทำลายพืช ส่วนอาหารที่มีส่วนประกอบของสารแทนนินนั้น จะสามารถพบได้มากที่สุดในอาหารจำพวก ชา กาแฟ ช็อกโกแลต และไวน์ เป็นต้น

ประโยชน์ของสารแทนนิน

สารแทนนิน เป็นสารที่จัดอยู่ในกลุ่มของสารประกอบโพลีฟีนอล สารเคมีที่มีคุณสมบัติหลักคือการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการอักเสบ และอาจช่วยต่อต้านมะเร็ง การรับประทานอาหารที่มีสารแทนนินสูง จึงสามารถช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ หนึ่งในปัญหาสำคัญที่นำไปสู่ความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย และอาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งได้ สารต้านอนุมูลอิสระอย่างแทนนินนั้นยังสามารถช่วยป้องกันและลดการอักเสบ ทำให้แผลฟื้นฟูได้ไวยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยล่าสุดชิ้นหนึ่งพบว่า สารแทนนินนั้นมีคุณสมบัติในการช่วยต่อต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ได้ ทำให้ในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง จึงได้มีการใช้สารแทนนินในการย้อมสีหนังให้มีสีน้ำตาลเข้มยิ่งขึ้น และช่วยฆ่าเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ที่อาจจะอยู่ในเครื่องหนัง ทำให้หนังนั้นมีความทนทานและมีสีสันที่สวยงามมากยิ่งขึ้น

ข้อควรระวังเกี่ยวกับสารแทนนิน

แม้ว่าสารแทนนินนั้นอาจจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่การรับประทานอาหารที่มีสารแทนนินสูง โดยเฉพาะการรับประทานมากเกินไป อาจนำไปสู่ผลร้ายได้ดังต่อไปนี้

ลดการดูดซึมสารอาหาร

มีรายงานพบว่า การรับประทานอาหารที่มีสารแทนนินสูง อาจจะส่งผลให้ร่างกายมีอัตราการเจริญเติบโตน้อยลง บริโภคอาหารได้น้อยลง และได้รับพลังงานจากอาหารน้อยลง นั่นก็เป็นเพราะว่า สารแทนนินนั้นอาจลดการดูดซึมของสารอาหารต่างๆ ในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือธาตุเหล็ก โดยการเข้าไปยึดจับกับสารอาหารเหล่านี้ ทำให้ร่างกายดูดซึมนำไปใช้ได้ยากขึ้น แม้ว่าการลดการดูดซึมนั้นอาจจะไม่มากพอที่จะทำให้เกิดอันตราย แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาขาดสารอาหารอยู่ก่อนแล้ว อาจทำให้ปัญหานั้นเพิ่มมากกว่าเดิมได้

ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการขาดสารอาหาร เช่น ผู้ที่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก จึงควรเว้นระยะห่างระหว่างการรับประทานอาหาร กับการรับประทานอาหารที่มีสารแทนนินสูง เช่น เปลี่ยนจากการดื่มชาหรือกาแฟพร้อมกับมื้ออาหาร ไปเป็นดื่มในช่วงก่อนมื้ออาหารถัดไปแทน

คลื่นไส้

ในบางครั้งการดื่มเครื่องดื่มที่มีสารแทนนินสูงในช่วงขณะท้องว่าง อาจทำให้เรารู้สึกคลื่นไส้และอาเจียน ดังนั้นทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารแทนนินสูงในช่วงขณะท้องว่าง หรืออาจจะเติมนมเข้าไป เพื่อช่วยลดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารได้

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Are Tannins in Tea, and Do They Have Benefits? https://www.healthline.com/nutrition/tannins-in-tea

Tannins https://www.fs.fed.us/wildflowers/ethnobotany/tannins.shtml

Inert Reassessment -Tannin (CAS Reg. No. 1401-55-4) https://www.epa.gov/sites/production/files/2015-04/documents/tannin.pdf

Tannins and human health: a review https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/9759559/

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/08/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

ข้าว 10 ปี กินได้อยู่ไหม? อันตรายรึเปล่า?

สูตรสครับกาแฟ ขจัดเซลล์ผิวเก่า ด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 19/08/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา