backup og meta

เป็นริดสีดวงห้ามกินอะไร และอาหารแบบไหนที่ควรกิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/07/2022

    เป็นริดสีดวงห้ามกินอะไร และอาหารแบบไหนที่ควรกิน

    ริดสีดวงทวารหนัก คือ โรคที่เกิดจากหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักขยายตัวจนเกิดเป็นติ่งเนื้อบริเวณขอบทวารหนัก หรืออาจเกิดจากเนื้อเยื่อภายในปากรูทวารหนักหย่อนยาน จนบวม แดง หรือแสบร้อน และบางครั้ง การเบ่งถ่ายอุจจาระก็อาจทำให้หลอดเลือดฉีกขาดจนมีเลือดออกได้ด้วย โรคนี้พบได้บ่อย และหลายคนอาจสงสัยว่า เป็นริดสีดวงห้ามกินอะไร โดยทั่วไป ผู้ที่เป็นริดสีดวงควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ทำให้ท้องผูก เพราะอาจไปกระตุ้นให้ริดสีดวงอักเสบ และควรกินอาหารที่มีใยอาหารสูงและย่อยง่าย ร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ ถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดริดสีดวงและช่วยบรรเทาอาการริดสีดวงได้

    เป็นริดสีดวงห้ามกินอะไร

    ริดสีดวงมักเกิดจากหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักขยายตัวจนอักเสบและบวม พฤติกรรมการกินอาหารอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นการอักเสบหรือทำให้อาการแย่ลงได้ อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อเป็นโรคริดสีดวง มีดังนี้

    ธัญพืชขัดสี

    ธัญพืชที่ผ่านการขัดสี เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว พาสต้า บะหมี่ มีใยอาหารน้อยและย่อยได้ยาก อาจทำให้ท้องผูกหรืออุจจาระไม่ออก จนเกิดริดสีดวงหรือกระตุ้นให้ริดสีดวงอักเสบได้

    อาหารแปรรูป

    อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม แหนม มักมีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง ซึ่งอาจทำให้ท้องผูก และทำให้อาการของโรคริดสีดวงแย่ลงได้

    แอลกอฮอล์และคาเฟอีน

    ผู้ที่เป็นริดสีดวงควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม เนื่องจากแอลกอฮอล์และคาเฟอีนกระตุ้นให้ถ่ายปัสสาวะบ่อย ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ ลำไส้ดูดน้ำจากอาหารที่ย่อยแล้วจนทำให้อุจจาระแห้งและแข็ง ส่งผลให้ขับของเสียออกจากร่างกายได้ยากขึ้น จนอาจเกิดอาการท้องผูกที่ทำให้อาการริดสีดวงแย่ลงได้

    เนื้อแดง

    เนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ เป็นอาหารที่มีใยอาหารน้อย มีไขมันและโซเดียมสูง ใช้เวลาย่อยและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายนาน อาจสะสมจนทำให้ขับถ่ายออกได้ยาก

    อาหารรสเผ็ด

    อาหารรสเผ็ด เช่น ส้มตำ ต้มยำ ผัดเผ็ด อาจทำให้ท้องผูกหรือท้องเสีย จนระคายเคืองริดสีดวง และอาจทำให้รู้สึกแสบร้อนขณะขับถ่าย จนอาการริดสีดวงแย่ลงได้

    อาหารทอดและอาหารที่มีไขมันอิ่มสูง

    อาหารทอดและอาหารที่มีไขมันอิ่มสูง เช่น มันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยว เป็นอาหารที่ย่อยได้ยาก อาจทำให้ถ่ายอุจจาระลำบาก ก่อให้เกิดริดสีดวง หรือทำให้ริดสีดวงที่เป็นอยู่อักเสบและบวมได้

    อาหารที่มีรสเค็ม

    อาหารรสเค็ม เช่น กะปิ กุ้งแห้ง หอยดอง อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ และเพิ่มความดันในหลอดเลือด รวมไปถึงหลอดเลือดบริเวณทวารหนัก และอาจทำให้ริดสีดวงแย่ลงได้

    ผลิตภัณฑ์จากนม

    นมวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส ไอศกรีม เป็นอาหารใยอาหารต่ำและมีไขมันสูง อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียที่กระทบต่อริดสีดวงได้

    อาหารที่เหมาะสำหรับผู้เป็นริดสีดวง

    อาหารที่มีเส้นใยอาหารสูงและย่อยง่ายดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้ขับถ่ายได้สะดวกขึ้น

  • ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีท ข้าวกล้อง มีใยอาหารสูงและทำให้อุจจาระนิ่ม ช่วยให้ขับถ่ายได้ง่าย
  • ผลไม้และผัก เช่น ลูกพรุน แอปเปิล ข้าวโพด บร็อกโคลี มีใยอาหารสูง ช่วยเพิ่มการกักเก็บน้ำในลำไส้ ทำให้อุจจาระนิ่มลง และขับถ่ายสะดวกขึ้น
  • โยเกิร์ต โยเกิร์ตมีแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยลดอาการอักเสบของริดสีดวง เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน และอาจป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้
  • พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง อุดมไปด้วยใยอาหารที่ช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ ช่วยในการขับถ่าย
  • วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นริดสีดวง

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นริดสีดวง อาจทำได้ดังนี้

  • รับประทานใยอาหารให้มากขึ้น โดยอาจหาได้จากอาหาร เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผักและผลไม้สด
  • ดื่มน้ำและของเหลวให้เพียงพอในแต่ละวัน โดยควรจิบน้ำเป็นระยะ เพื่อช่วยให้การขับถ่ายให้ปกติ ลดความเสี่ยงของอาการท้องผูก
  • ขยับร่างกายอยู่เสมอ และออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยให้ลำไส้ใหญ่ได้เคลื่อนไหว กระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ควรเข้าห้องน้ำทันทีที่รู้สึกปวดอุจจาระ ไม่ควรอั้นอุจจาระ เพราะจะทำให้อุจจาระอยู่ในลำไส้นานขึ้น จนอาจแห้งและแข็ง ทำให้เกิดปัญหาในการขับถ่าย
  • ไม่ควรนั่งแช่บนโถส้วมนานเกินไป เนื่องจากจะเพิ่มแรงกดให้หลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดขยายตัวมากขึ้น และเสี่ยงฉีกขาด
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะหากน้ำหนักตัวเยอะอาจทำให้มีแรงดันในช่องท้อง อุ้งเชิงกราน และหลอดเลือดบริเวณทวารหนักมากขึ้น
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา