backup og meta

วิตามิน เจริญอาหาร มีประโยชน์อย่างไร และวิธีกระตุ้นความอยากอาหาร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

    วิตามิน เจริญอาหาร มีประโยชน์อย่างไร และวิธีกระตุ้นความอยากอาหาร

    วิตามิน เจริญอาหาร เป็นวิตามินรูปแบบหนึ่งที่มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร ช่วยให้รู้สึกอยากรับประทานอาหารมากขึ้น โดยวิตามินเจริญอาหารมักใช้กับผู้ที่มีภาวะเบื่ออาหาร รับประทานอาหารน้อยหรือปฏิเสธการรับประทานอาหาร ซึ่งอาจช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดสารอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว

    ภาวะเบื่ออาหาร เกิดจากอะไร

    ภาวะเบื่ออาหารอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะสุขภาพ โรคเรื้อรัง ช่วงอายุ ความแก่ชรา ภาวะซึมเศร้า การตั้งครรภ์ไตรมาสแรก อาการคลื่นไส้อาเจียน การใช้ยาบางชนิด ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ภาวะสมองเสื่อม ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกไม่อยากรับประทานอาหาร ที่อาจส่งผลให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีภาวะเบื่ออาหารเกิดขึ้น ซึ่งหากปล่อยไว้อาจส่งผลเสียต่อน้ำหนักตัว มวลกล้ามเนื้อและไขมันในร่างกาย รวมทั้งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้

    วิตามิน เจริญอาหาร มีประโยชน์อย่างไร

    วิตามินเจริญอาหาร เป็นวิตามินที่อาจมาในรูปแบบยาที่ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร ช่วยให้สามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีภาวะเบื่ออาหารและปฏิเสธการรับประทานอาหาร จนส่งผลให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ และอาจนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหารที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาว

    วิตามินเจริญอาหาร มีอะไรบ้าง

    ก่อนรับประทานวิตามินเจริญอาหาร ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยถึงสาเหตุของอาการเบื่ออาหารก่อนเสมอ เพื่อจะได้รักษาตั้งแต่ต้นเหตุควบคู่ไปกับการรับประทานวิตามินเจริญอาหาร ดังนี้

    • สังกะสี มีบทบาทสำคัญในการเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การสังเคราะห์โปรตีนและดีเอ็นเอ การรักษาบาดแผล การส่งสัญญาณและการแบ่งเซลล์ ซึ่งการขาดสังกะสีอาจทำให้มีอาการเบื่ออาหาร ระบบภูมิคุ้มกันทำงานไม่ดี การรับรสชาติเปลี่ยนไป แผลหายช้า และผมร่วง ดังนั้น จึงควรรับประทานอาหารเสริมสังกะสีเพื่อช่วยกระตุ้นความอยากอาหารให้เป็นปกติ
    • วิตามินบี 1 หรือไทอามีน (Thiamine) มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและพัฒนาการ ซึ่งความรู้สึกเบื่ออาหารอาจเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายขาดวิตามินบี 1 นอกจากนี้ ยังอาจทำให้น้ำหนักลดลง มีอาการสับสน มึนงง และอาการทางระบบประสาท ดังนั้น การรับประทานอาหารเสริมวิตามินบี 1 จึงอาจช่วยกระตุ้นความอยากอาหารได้
    • น้ำมันปลา (Fish oil) อาจมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นความอยากอาหารและอาจปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ปลา โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร  Appetite เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับการเสริมน้ำมันปลาเพิ่มความอยากอาหารในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง พบว่า ผู้ชายและผู้หญิงที่รับประทานน้ำมันปลาเป็นเวลา 3 สัปดาห์ มีความรู้สึกอิ่มหลังมื้ออาหารลดลง 20% และในผู้หญิงที่รับประทานน้ำมันปลายังกระตุ้นความอยากอาหารเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าน้ำมันปลาอาจเกี่ยวข้องกับกลไกการปรับระบบประสาทส่วนกลางที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกอยากอาหาร

    วิธีกระตุ้นความอยากอาหาร

    วิธีการปรับพฤติกรรมในประจำวันอาจช่วยกระตุ้นความอยากอาหารได้ ดังนี้

    • รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น อาจช่วยสร้างบรรยากาศให้การรับประทานอาหารมีความสุขและสนุกมากขึ้น โดยอาจเริ่มจากการรับประทานอาหารกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกอยากรับประทานอาหารและสามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น
    • รับประทานอาหารที่ชอบ การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเป็นเมนูที่ตัวเองชอบอาจช่วยให้รู้สึกเจริญอาหารมากขึ้น
    • จัดเมนูอาหารให้หลากหลาย การรับประทานอาหารแบบเดิมบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดอาการเบื่ออาหารได้ ดังนั้น จึงควรจัดเมนูอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์ครบถ้วน รวมถึงอาจจัดอาหารให้มีสีสันสดใสเพื่อดึงดูดความสนใจ และกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากรับประทานอาหารมากขึ้น
    • แบ่งมื้ออาหารให้ตรงกับพฤติกรรมประจำวัน บางคนอาจไม่สามารถรับประทานอาหาร 3 มื้อ/วันได้ เนื่องจากกิจวัตรประจำวันที่ไม่อำนวย ดังนั้น การแบ่งมื้ออาหารให้ตรงกับพฤติกรรมประจำวัน เช่น แบ่งอาารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ 5-6 มื้อ/วัน อาช่วยให้รับประทานอาหารได้มากขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
    • เลือกดื่มเครื่องดื่มที่ให้พลังงาน เช่น โปรตีนเชค สมูทตี้ผักและผลไม้ ซึ่งเป็นทางเลือกของอาหารที่ดื่มง่ายและให้พลังงาน ซึ่งอาจช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ เนื่องจากการออกกำลังกายช่วยเผาผลาญพลังงาน จึงอาจช่วยให้รู้สึกหิวมากขึ้นและรับประทานอาหารได้มากขึ้นตามไปด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา