backup og meta

โรคความดันต่ำ ควรกินอะไร และควรดูแลตนเองอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 19/01/2023

    โรคความดันต่ำ ควรกินอะไร และควรดูแลตนเองอย่างไร

    หากเป็น โรคความดันต่ำ ควรกินอะไร? ควรกินอาหารที่ช่วยให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ เช่น อาหารรสเค็ม อาหารที่มีวิตามินบี 12 รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ทั้งนี้ โรคความดันต่ำเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งความเครียด การใช้ยาบางชนิด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการเสียเลือดในปริมาณมาก

    โรคความดันต่ำ คืออะไร

    โรคความดันต่ำ หมายถึง ภาวะสุขภาพของร่างกายที่มีระดับความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งจะส่งผลให้มีอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น วิงเวียน สายตาพร่ามัว หมดแรง หัวใจเต้นแรง

    โดยปกติแล้ว โรคความดันต่ำนั้นพบได้จากหลาย ๆ สาเหตุ ดังนี้

  • การตั้งครรภ์
  • ความเครียด
  • การติดเชื้อในระดับรุนแรง
  • การแพ้อย่างรุนแรง
  • การรับประทานอาหารมื้อใหญ่
  • การรับประทานยารักษาความดันโลหิตสูง โรคซึมเศร้า โรคพาร์กินสัน
  • การสูญเสียเลือดปริมาณมาก
  • ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจ ต่อมไทรอยด์ หรือการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติด
  • การเผชิญกับอุณหภูมิที่เย็นหรือร้อนมาก
  • ภาวะขาดน้ำเนื่องจากการอาเจียน ท้องร่วง หรือเป็นไข้
  • การเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ลุกนั่งหรือลุกยืนเร็วเกินไป
  • มีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • การออกกำลังกายหักโหม
  • โรคความดันต่ำ ควรกินอะไร

    เพื่อช่วยให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำควรบริโภคเครื่องดื่มหรืออาหารต่อไปนี้

  • น้ำเปล่าและของเหลวต่าง การเสียหรือขาดน้ำในร่างกาย ไม่ว่าจากการออกกำลังกายอย่างหนัก การอาเจียน หรืออาการท้องร่วง ล้วนส่งผลให้ระดับน้ำในกระแสเลือดและความดันโลหิตลดลง และการดื่มน้ำหรือของเหลวต่าง ๆ จะช่วยให้ระดับน้ำในกระแสเลือดสูงขึ้น พร้อม ๆ กับความดันโลหิตที่สูงขึ้นด้วย
  • อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12 สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า การขาดวิตามินบี 12 เป็นสาเหตุของภาวะโลหิตจาง ซึ่งเมื่อเป็นแล้วมักทำให้ความดันโลหิตต่ำได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันโรคความดันต่ำอาการแย่ลงกว่าเดิม จึงควรบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12 เช่น ไข่ ตับและไตของสัตว์ หอยกาบ เนื้อวัว ปลาแซลมอน นมและผลิตภัณฑ์จากนม
  • อาหารรสเค็ม โซเดียมในเกลือหรือน้ำปลา มีคุณสมบัติทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำได้มากขึ้น เมื่อรับประทานเกลือหรือน้ำปลามากเพิ่มขึ้น ระดับน้ำในกระแสเลือดจะสูงขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ควรบริโภคด้วยความระมัดระวัง หากบริโภคมากจนเกินไปอาจทำให้ร่างกายบวมน้ำได้
  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน คาเฟอีนสามารถทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ในระยะสั้น สันนิษฐานว่า เป็นเพราะคาเฟอีนมีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัว หรืออาจเป็นเพราะคาเฟอีนมีคุณสมบัติกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenaline) ซึ่งทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ เครื่องดื่มคาเฟอีน ได้แก่ กาแฟ ชา น้ำอัดลม ดาร์กช็อกโกแลต และเครื่องดื่มชูกำลัง
  • งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของคาเฟอีนต่อระดับความดันโลหิต เผยแพร่ในวารสาร The American Journal of Clinical Nutrition ปี พ.ศ. 2554 นักวิจัยได้ศึกษางานวิจัยจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของคาเฟอีนต่อระดับความดันโลหิต รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคคาเฟอีนและโรคหัวใจและหลอดเลือด

    พบว่า คาเฟอีนมีส่วนทำให้ความดันโลหิตของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลันเป็นเวลาระยะเวลามากกว่าหรือเท่ากับ 3 ชั่วโมง

    อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่พบหลักฐานที่แสดงถึงผลของการดื่มกาแฟในระยะยาวต่อความดันโลหิต และยังไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนว่า การดื่มกาแฟเป็นประจำทำให้ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น

    การดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อป้องกันโรคความดันต่ำ

    โรคความดันต่ำอาจป้องกันได้ด้วยการดูแลตัวเอง ตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • รับประทานอาหารมื้อเล็กแทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ครั้งละมาก ๆ
    • ดื่มน้ำในปริมาณมากให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณจำกัด
    • พักผ่อนและดื่มน้ำบ่อย ๆ เมื่อออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว
    • หลีกเลี่ยงการแช่น้ำร้อนหรืออบซาวน่าเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้
    • ไม่เปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็วเกินไปและพยายามลุกนั่งหรือลุกยืนช้า ๆ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 19/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา