backup og meta

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

โรคริดสีดวง ห้ามกิน อะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

โรคริดสีดวง ห้ามกิน อะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

โรคริดสีดวงเกิดขึ้นเมื่อเส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักหรือภายในทวารหนักโป่งพอง และอาจมีติ่งนูนยื่นออกมาจากทวารหนัก ทำให้ระคายเคืองเวลาขับถ่าย หรืออาจทำให้มีเลือดออกเมื่อเบ่งอุจจาระ โรคนี้มักเกิดจากพฤติกรรม เช่น มักกินอาหารที่มีใยอาหารน้อย กินอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูงเป็นประจำ ดื่มน้ำน้อยเกินไป จนส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกและไม่สามารถขับถ่ายได้ตามปกติ การเรียนรู้ว่า โรคริดสีดวง ห้ามกิน อะไร ควรกินอาหารแบบไหนถึงจะดี รวมถึงวิธีดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเมื่อเป็นโรคริดสีดวง อาจช่วยควบคุมอาการของโรคริดสีดวง เช่น อาการปวดบวมบริเวณทวารหนัก และทำให้โรคริดสีดวงดีขึ้นได้ในเวลาไม่นาน

[embed-health-tool-bmi]

โรคริดสีดวง ห้ามกิน อะไร

อาหารที่ผู้ป่วยโรคริดสีดวงควรหลีกเลี่ยง คือ อาหารที่มีไฟเบอร์หรือใยอาหารน้อย ซึ่งทำให้เสี่ยงท้องผูกได้ง่ายและทำให้อาการริดสีดวงแย่ลงได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • อาหารแปรรูป เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง เบเกอรี่ อาหารหมักดอง อาหารจากเนื้อสัตว์อย่างไส้กรอก แฮม เบคอน ซึ่งมักจะมีโซเดียม คาร์โบไฮเดรตที่ขัดสีแล้ว น้ำตาล และไขมันอิ่มตัวสูง อาจทำให้ย่อยยากกว่าปกติ ท้องผูก ส่งผลต่อการขับถ่าย และทำให้อาการริดสีดวงแย่ลงได้
  • อาหารรสเผ็ด เช่น ส้มตำปลาร้า ผัดเผ็ดปลาดุก แกงไตปลา อาจทำให้แผลริดสีดวงระคายเคืองเมื่อต้องถ่ายอุจจาระ และยังทำให้เสี่ยงเกิดโรคกรดไหลย้อนได้ด้วย
  • เนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เป็นอาหารที่มีใยอาหารน้อยและไขมันสูง จึงใช้เวลาย่อยนาน อาจทำให้ท้องผูก และระคายเคืองริดสีดวงได้
  • นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น นม โยเกิร์ต ชีส เป็นอาหารที่มีแลคโตสที่ถูกหมักเอาไว้ แลคโตสเหล่านี้จะผลิตแก๊สมีเทนที่อาจชะลอการเคลื่อนตัวของอาหารในลำไส้ ส่งผลให้อาหารอยู่ในระบบย่อยอาหารนานขึ้น ร่างกายจะดูดของเหลวกลับจากอุจจาระและทำให้อุจจาระแข็งตัว จนขับถ่ายยากขึ้น และทำให้บวมหรือระคายเคืองแผลริดสีดวง
  • คาเฟอีน การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา ชาเขียว โกโก้ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต ในปริมาณมาก อาจทำให้ระบบขับถ่ายแปรปรวน เกิดอาการท้องเสียหรือท้องผูก ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้อาการริดสีดวงแย่ลงได้
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ อาจไปรบกวนการทำงานของระบบขับถ่าย ทำให้ท้องผูก และดึงน้ำออกจากอุจจาระ ส่งผลให้อุจจาระแข็ง เมื่อเคลื่อนผ่านลำไส้จึงทำให้เนื้อเยื่อลำไส้บาดเจ็บ และทำให้ริดสีดวงแย่ลง

โรคริดสีดวง กินอะไรได้บ้าง

อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคริดสีดวง ควรเป็นอาหารที่มีใยอาหารหรือไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เนื่องจากใยอาหารเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร ทั้งยังช่วยให้ย่อยได้ง่าย ช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาท้องผูกขับถ่ายได้สะดวกขึ้น จึงอาจลดการระคายเคืองและอาการบวมของแผลริดสีดวงได้ โดยทั่วไป คนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ควรได้รับไฟเบอร์หรือใยอาหาร 25 กรัมต่อวัน

ตัวอย่างอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น

  • บรอกโคลี ปริมาณ 0.5 ถ้วย หรือ 44 กรัม มีปริมาณใยอาหาร 1.14 กรัม เป็นใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำที่พองตัวได้คล้ายฟองน้ำ ช่วยให้ขับถ่ายได้ดีและลดอาการท้องผูก
  • ธัญพืช เช่น ข้าวไรย์ แป้งโฮลเกรน ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ข้าวโอ๊ต มีใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำปริมาณมาก ช่วยให้อุจจาระอุจจาระขยายตัวและนิ่มขึ้น และเคลื่อนตัวไปตามลำไส้ได้เร็ว จึงขับถ่ายได้สะดวก ลดอาการระคายเคืองและปวดบวมริดสีดวงได้
  • พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วลันเตาเหลือง ถั่วฝักยาว ถั่วลิสง มีใยอาหารสูง ช่วยเพิ่มมวลอุจจาระ ทำให้ขับถ่ายได้สะดวก ลดอาการท้องผูกที่ทำให้ริดสีดวงแย่ลง

โรคริดสีดวง หายเองได้ไหม

โรคริดสีดวงในระดับไม่รุนแรงสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการดูแลตัวเองที่เหมาะสม เช่น เลือกกินอาหารที่มีใยอาหารสูงและช่วยในการขับถ่าย ออกกำลังกายเป็นประจำ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่กระตุ้นให้ริดสีดวงกำเริบหรือหายได้ช้า เช่น นั่งในท่าเดิมนานหลายชั่วโมง นั่งขับถ่ายนานเกินจำเป็น สูบบุหรี่ แต่หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการปวดบวม ระคายเคืองริดสีดวงยิ่งรุนแรง ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคริดสีดวง

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคริดสีดวง อาจทำได้ดังนี้

  • กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น เช่น ลูกพรุน แอปเปิล ข้าวโพด ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มันเทศ มันฝรั่ง กะหล่ำปลี มะระขี้นก มะเขือยาว เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหารที่มีส่วนช่วยในการขับถ่าย
  • ดื่มน้ำเปล่าและเครื่องดื่มอื่น ๆ เช่น น้ำส้มคั้น น้ำมะเขือเทศ อย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน อาจช่วยให้อุจจาระเคลื่อนตัวไปตามลำไส้ได้สะดวก และขับถ่ายได้ง่าย ไม่ต้องออกแรงเบ่งเยอะจนทำให้ริดสีดวงแย่ลง
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือเปลี่ยนเป็นแบบไม่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟดีแคฟ (Decaf Coffee) เพื่อลดปริมาณคาเฟอีนที่เข้าสู่ร่างกาย อาจช่วยไม่ให้เกิดอาการท้องผูกอและลดการระคายเคืองของริดสีดวงได้
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ ไวน์ เหล้า เพราะอาจทำให้ขับถ่ายลำบากขึ้น และริดสีดวงแย่ลงได้
  • ควรเข้าห้องน้ำทันทีที่รู้สึกปวดอุจจาระ เพราะการอั้นอุจจาระจะทำให้ลำไส้ดูดน้ำจากอุจจาระกลับสู่ร่างกาย ส่งผลให้อุจจาระแห้งแข็งและเคลื่อนตัวออกได้ยาก จนทำให้อาการริดสีดวงแย่ลง
  • ไม่เบ่งอุจจาระรุนแรงเกินไป เนื่องจากการเกร็งและกลั้นลมหายใจขณะพยายามถ่ายอุจจาระอาจเพิ่มแรงดันที่หลอดเลือดในทวารหนักส่วนล่างจนทำให้มีติ่งเนื้อยื่นออกมานอกทวารหนักและเสียดสีกับอุจจาระที่ออกมาจนเลือดออกได้
  • นั่งแช่น้ำอุ่นครั้งละประมาณ 15-30 นาที วันละหลาย ๆ ครั้ง เพื่อบรรเทาอาการบวมและระคายเคืองริดสีดวง
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ค่าดัชนีมวลกายที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ซึ่งอาจเพิ่มความดันบริเวณหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนัก และทำให้ริดสีดวงแย่ลง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Eating, Diet, & Nutrition for Hemorrhoids. https://www.niddk.nih.gov/health-information/digestive-diseases/hemorrhoids/eating-diet-nutrition. Accessed October 25, 2022

Best and Worst Foods for Hemorrhoids. https://www.webmd.com/digestive-disorders/best-worst-foods-hemorrhoids. Accessed October 25, 2022

Hemorrhoids and what to do about them. https://www.health.harvard.edu/diseases-and-conditions/hemorrhoids_and_what_to_do_about_them. Accessed October 25, 2022

Hemorrhoids. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hemorrhoids/diagnosis-treatment/drc-20360280. Accessed October 25, 2022

Hemorrhoids. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15120-hemorrhoids. Accessed October 25, 2022

Broccoli, raw. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/170379/nutrients. Accessed October 25, 2022

สารอาหารที่แนะนําใหบริโภคประจําวันสําหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (THAI RECOMMENDED DAILY INTAKES-THAI RDI). https://food.fda.moph.go.th/Rules/dataRules/4-4-2ThaiRDI.pdf. Accessed October 25, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/10/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง

avatar

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา