ปอดติดเชื้อ อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อราบริเวณปอดข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ซึ่งอาจนำไปสู่อาการปอดอักเสบและปอดบวม ที่ส่งผลให้มีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก มีไข้สูง และเสี่ยงต่อภาวะปอดล้มเหลวที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิต ดังนั้น หากสังเกตว่ามีอาการดังกล่าวควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว
ปอดติดเชื้อ เกิดจากอะไร
ปอดติดเชื้อ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโทคอกคัส (Streptococcus) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ไวรัสโควิด-19 หรือเชื้อราต่าง ๆ ที่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนผ่านการสูดลมหรือการสัมผัสกับวัตถุที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดน้ำ ช้อนส้อม ผ้าเช็ดหน้า ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและอาจส่งผลให้ปอดติดเชื้อได้
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อปอดติดเชื้อ
ผู้ที่แนวโน้มเสี่ยงต่อปอดติดเชื้อ อาจมีดังต่อไปนี้
- ผู้สูงอายุ เนื่องจากอายุที่มากขึ้นอาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงและทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหอบหืด
- ผู้ที่อยู่ในช่วงพักฟื้นหลังจากการผ่าตัดหรือปลูกถ่ายอวัยวะ
- ผู้ที่ทำเคมีบำบัดหรือฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็ง
- ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคไตเรื้อรังระดับรุนแรง
อาการของปอดติดเชื้อ
อาการของปอดติดเชื้อ ที่ควรสังเกต มีดังนี้
- มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
- หนาวสั่น ปวดศีรษะและเจ็บคอ
- คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย
- มีอาการไอแห้งหรือไอแบบมีเสมหะสีเขียว สีเหลืองหรือมีเลือดปน
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย
- รู้สึกเบื่ออาหาร
- เจ็บหน้าอกเฉียบพลันโดยเฉพาะขณะมีอาการไอ
- หายใจลำบาก หายใจเร็ว และหายใจมีเสียงหืด
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- ริมฝีปากและเล็บซีดและเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือม่วง
วิธีรักษาปอดติดเชื้อ
การรักษาภาวะปอดติดเชื้ออาจทำได้
- ยาลดไข้และยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เพื่อช่วยลดไข้ บรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัวมากขึ้น
- ยาแก้ไอ ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการไอ และช่วยละลายลายเสมหะหรือขจัดเสมหะออกจากปอด
- ยาปฏิชีวนะ เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะปอดอักเสบและปอดบวมจากการติดเชื้อแบคทีเรียเพื่อช่วยกำจัดแบคทีเรีย โดยชนิดของยาที่ผู้ป่วยได้รับจะผ่านการพิจารณาจากอาการที่เป็น
- ยาต้านไวรัส เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะปอดอักเสบและปอดบวมจากการติดเชื้อไวรัส ใช้เพื่อช่วยฆ่าเชื้อไวรัส โดยคุณหมอจะพิจารณาตามอาการและชนิดของเชื้อไวรัสเพื่อจัดยาให้อย่างเหมาะสม
สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาหรือมีอาการแย่ลง คุณหมออาจจำเป็นต้องให้รักษาตัวในโรงพยาบาลและฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือดดำโดยตรงหรือรับการบำบัดด้วยออกซิเจนและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
การป้องกันปอดติดเชื้อ
การป้องกันปอดติดเชื้อ อาจทำได้ดังนี้
- เข้ารับการฉีดวัคซีนตามกำหนด เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ วัคซีนโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยเมื่อไม่สบายได้
- สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแอดอัด เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน โรงพยาบาล
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยเฉพาะก่อน-หลังรับประทานอาหาร หลังจากเข้าห้องน้ำ หลังจากสัมผัสกับวัตถุสาธารณะ เป็นต้น เพื่อช่วยกำจัดสิ่งสกปรก เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส
- ไม่ควรอยู่ใกล้กับผู้ป่วย และควรป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องเข้าใกล้ผู้ป่วย
- ทำความสะอาดวัตถุที่สัมผัสบ่อยครั้ง เช่น ผ้าห่ม ราวบันได พื้นบ้าน ผ้าม่าน โทรศัพท์มือถือ
- ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะวัตถุที่มีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งโดยตรง เช่น ช้อนส้อม จานชาม แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเอ ที่อาจช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ วันละ 30 นาที เพราะการออกกำลังกายอาจช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัสเมื่อเข้าสู่ร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการติดเชื้อในปอดได้ง่ายขึ้น