backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

การติดเชื้ออีโคไล (E.coli Infection)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย pimruethai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

การติดเชื้ออีโคไล (E.coli Infection)

การติดเชื้ออีโคไล (E. coli) สามารถเกิดจากการดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดอาการท้องเสียเล็กน้อยถึงรุนแรง

คำจำกัดความ

การติดเชื้ออีโคไล คืออะไร

แบคทีเรียเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) หรืออีโคไล (E. coli) พบได้ในลำไส้ของมนุษย์และสัตว์ โดยปกติแล้ว แบคทีเรียอีโคไลส่วนใหญ่จะทำให้เกิดอาการท้องเสียเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็มีเชื้อแบคทีเรียอีโคไลบางสายพันธุ์ เช่น อีโคไล ซีโรไทป์ O157:H7 ซึ่งพบว่าแพร่ระบาดบ่อย ก็สามารถทำให้เกิดอาการติดเชื้ออีโคไลในลำไส้รุนแรง ส่งผลให้ถ่ายเหลว ปวดท้อง ถ่ายเป็นเลือด มีไข้ อาเจียนได้

การติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไลสามารถเกิดจากการดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรียอาศัยอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผักสด และเนื้อสัตว์ที่ไม่สุกดี หากเป็นผู้ใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรงดี ส่วนมากแล้วจะสามารถหายจากการติดเชื้ออีโคไล ซีโรไทป์ O157:H7 ได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หญิงมีครรภ์ จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่อาการจะพัฒนาไปจนถึงขั้นเสียชีวิตจากอาการไตวายที่เรียกว่า กลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตกยูรีเมีย (Hemolytic-uremic syndrome หรือ HUS)

อย่างไรก็ตาม การติดเชื้ออีโคไลส่วนใหญ่ สามารถรักษาได้เองที่บ้าน

การติดเชื้ออีโคไล พบได้บ่อยแค่ไหน

การติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไลนั้นพบได้บ่อยมาก มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย อย่างไรก็ดี การติดเชื้ออีโคไลสามารถจัดการได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของ การติดเชื้ออีโคไล

อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไล ได้แก่

  • อาการท้องเสียเฉียบพลัน ถ่ายเป็นน้ำอย่างรุนแรง หรือถ่ายเป็นเลือด
  • อาการปวดท้องบิด หรือเจ็บเวลาจับท้อง
  • วิงเวียนศีรษะ
  • อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • อ่อนแรง
  • มีไข้

อาการของการติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไลขั้นรุนแรง

  • ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ปัสสาวะลดลง
  • ตัวซีด
  • มีรอยช้ำ
  • มีภาวะขาดน้ำ

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

คุณควรไปพบคุณหมอ หากมีอาการเหล่านี้

  • อาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 4 วัน หรือ 2 วันสำหรับทารก หรือเด็ก
  • ท้องเสียร่วมกับมีไข้
  • อาการปวดท้องไม่หายไปหลังจากมีอาการท้องไส้ปั่นป่วน
  • มีหนองหรือเลือดปนมาในอุจจาระ
  • อาเจียนเกิน 12 ชั่วโมง
  • มีอาการของการติดเชื้อในลำไส้ และเพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ
  • ปัสสาวะไม่ออก
  • กระหายน้ำอย่างรุนแรง
  • วิงเวียน

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของการติดเชื้ออีโคไล

การติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไล อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่ปนเปื้อน ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่พบได้บ่อย
  • ไม่ล้างมือ หรือล้างไม่สะอาดก่อนเตรียมอาหาร หรือก่อนกินอาหาร
  • ใช้เครื่องครัวที่ไม่สะอาด เช่น เขียง มีด ภาชนะใส่อาหาร
  • รับประทานอาหารที่ไม่สุก โดยเฉพาะอาหารทะเล
  • ดื่มนมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรส์
  • เนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงอาหารผ่านกรรมวิธีที่ไม่สะอาด เช่น การฆ่าสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐาน การเก็บรักษาไม่ดี
  • สัมผัสกับน้ำที่มีการปนเปื้อน เช่น การดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อน ว่ายน้ำในทะเลสาบ หรือสระที่มีการปนเปื้อน
  • จากคนสู่คน โดยแบคทีเรียอีโคไลสามารถแพร่ได้ง่ายเมื่อคนที่มีเชื้ออยู่นั้นไม่ล้างมือให้ดีและไปจับคนอื่น หรือสิ่งอื่น เช่นอาหาร
  • ได้รับเชื้อผ่านสัตว์ โดยเฉพาะคนที่ทำงานเกี่ยวกับสัตว์ เช่น วัว แพะ แกะ

ปัจจัยเสี่ยง

มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการสำหรับการติดเชื้ออีโคไล ได้แก่

  • อายุ เด็กเล็ก และผู้สูงอายุนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อได้มากกว่าวัยอื่น
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ใช้ยารักษาโรคมะเร็ง ผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ
  • การกินอาหารบางชนิด เช่น เนื้อสัตว์ไม่สุก นมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ ชีสที่ทำมาจากนมสด
  • ช่วงเวลา เดือนมิถุนายน ถึงเดือนกันยายน ถือเป็นช่วงที่มีผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไลมาก
  • การรับประทานยาลดกรด เช่น อีโซเมปราโซล แพนโทพราโซล แลนโซพราโซล โอเมพราโซล

การไม่มีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไล ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เป็นข้อมูลอ้างอิงเท่านั้น คุณควรปรึกษแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยการติดเชื้ออีโคไล

การติดเชื้อโรคอีโคไลนั้นสามารถวินิจฉัยได้จากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดปรึกษาแพทย์

การรักษาการติดเชื้ออีโคไล

การรักษาสำหรับการติดเชื้ออีโคไลในกรณีส่วนใหญ่ จะมีขั้นตอนต่อไปนี้

  • ทำการทดสอบหลายๆ รอบ
  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดภาวะขาดน้ำ และความเมื่อยล้า หากจำเป็น แพทย์อาจให้คุณพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือ
  • ทานยาแก้ท้องเสีย แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือกับการติดเชื้ออีโคไล

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณรับมือกับการติดเชื้ออีโคไลได้

  • ล้างผักและผลไม้ และอาหารอื่นๆ ให้สะอาดที่สุด เท่าที่ทำได้ ยกเว้นเนื้อไก่สด
  • ล้างมือให้สะอาด ทั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังสัมผัสกับสัตว์
  • ใช้เครื่องครัว และอุปกรณ์ทำครัว เช่น กระทะ ภาชนะใส่อาหาร ที่สะอาด
  • เก็บเนื้อสัตว์ไว้ให้ห่างจากผัก ผลไม้ หรือสิ่งอื่นๆ ในตู้เย็น โดยต้องใส่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เพื่อป้องกันน้ำจากเนื้อสัตว์ไหลไปปนเปื้อนสิ่งอื่น
  • หากจะละลายเนื้อสัตว์แช่แข็ง ควรนำออกจากช่องแช่แข็งมาใส่ช่องปกติ หรือละลายน้ำแข็งในไมโครเวฟแทน อย่านำเนื้อสัตว์ออกมาวางให้ละลายบริเวณอ่างน้ำ หรือเคาน์เตอร์เตรียมอาหาร เพราะอาจทำให้อาหารอื่นหรือเครื่องครัวปนเปื้อนได้
  • หากรับประทานอาหารไม่หมด ควรใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด แล้วเก็บเข้าตู้เย็นทันที
  • ดื่มนมที่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์แล้วเท่านั้น
  • ดื่มน้ำที่บรรจุขวดอย่างสะอาดถูกสุขอนามัย หรือดื่มน้ำต้มสุกเท่านั้น
  • หากคุณท้องเสีย ไม่ควรทำอาหาร เพราะอาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้

หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย pimruethai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา