ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนที่อาจเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงเมื่อติดโรคโควิด-19 โดยประชากรในประเทศไทยเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม มากกว่า 42 ล้านคน และมีผู้ได้รับวัคซีน บูสเตอร์ (booster) หรือบูสเตอร์โดส เข็มที่ 3 มากกว่า 3 ล้านคน ซึ่งวัคซีนบูสเตอร์ อาจมีความจำเป็นในการป้องกันโควิดสายพันธ์ุใหม่ที่ก่อตัวขึ้นและระบาดในวงกว้าง เช่น เดลต้า (Delta) โอไมครอน (Omicron) อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ ควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้นว่าตนเองนั้นเหมาะที่จะเข้ารับการฉีดหรือไม่ และควรเลือกวัคซีนชนิดใดเป็นเข็มบูสเตอร์
การฉีดวัคซีน บูสเตอร์ (booster)
การฉีดวัคซีนบูสเตอร์ (booster) หรือบูสเตอร์โดส คือ การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็มแรกตามกำหนด เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ประสิทธิภาพของวัคซีนในการเสริมภูมิคุ้มกันอาจค่อย ๆ ลดลง การฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์จึงอาจช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ป้องกันโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
การฉีดวัคซีนบูสเตอร์ อาจเป็นวัคซีนชนิดเดียวกับวัคซีน 2 เข็มแรก หรือวัคซีนต่างชนิด ทั้งนี้คุณหมออาจพิจารณาจากอายุ และภาวะสุขภาพของผู้ที่ได้รับวัคซีน
วัคซีนบูสเตอร์ที่ใช้ในประเทศไทย
วัคซีนบูสเตอร์ที่ใช้ในประเทศไทย มีดังนี้
1. แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท แอสตราเซเนกา และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ประเทศอังกฤษ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และผู้ที่เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด
แอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพในการป้องกันและช่วยบรรเทาอาการรุนแรงจากโควิด-19 ประมาณ 63.09% และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลังฉีด ดังนี้
- หน้ามืด
- อัตราการการเต้นของหัวใจเปลี่ยนแปลง
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้อง
- หายใจถี่
- ผื่นขึ้น
- ริมฝีปาก ใบหน้า ลำคอบวม
2. ไฟเซอร์ (Pfizer) เป็นวัคซีนจากบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำการทดลองร่วมกับ บริษัท ไบออนเทค (BioNTech) ประเทศเยอรมนี เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปและสตรีตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคปอด โรคตับ
ไฟเซอร์มีประสิทธิภาพในการป้องกันและบรรเทาอาการรุนแรงจากการติดโควิด-19 ประมาณ 95% และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลังฉีด ดังนี้
- รู้สึกปวดกล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีด
- ปวดศีรษะ มีไข้
- ท้องเสีย
- เหนื่อยล้า
- คลื่นไส้ อาเจียน
3. โมเดอร์นา (Moderna) เป็นวัคซีนจากบริษัท โมเดอร์นา ประเทศสหรัฐอเมริกา เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และโรคภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน
โมเดอร์นามีประสิทธิภาพในการป้องกันและบรรเทาอาการรุนแรงจากการติดโรคโควิด-19 ประมาณ 90-94.1% และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อยหลังฉีด ดังนี้
- ปวดกล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีด
- มีไข้ หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- เมื่อยล้า
- คลื่นไส้ อาเจียน
หลังฉีดวัคซีน หากมีอาการรุนแรงนอกเหนือจากที่ระบุข้างต้น ควรเข้าพบคุณหมอในทันที ก่อนเกิดอันตรายต่อสุขภาพ
วัคซีนเข็ม บูสเตอร์ ควรฉีดตอนไหน
การฉีดวัคซีนบูสเตอร์ ในแต่ละบุคคลมีระยะเวลาไม่เท่ากัน เนื่องจากมีปัจจัยของระยะเวลาการฉีด และชนิดของวัคซีนที่ได้รับ 2 เข็มแรกมาเกี่ยวข้อง กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานการเว้นระยะการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม ดังนี้
- ซิโนแวค (Sinovac) + ซิโนแวค (Sinovac) หากเข็มบูสเตอร์เป็น แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ควรเว้นระยะห่างจากการฉีดซิโนแวคเข็มสุดท้าย เป็นเวลา 3 เดือนขึ้นไป หรือตามดุลยพินิจของคุณหมอ
- ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) + ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) หากเข็มบูสเตอร์เป็น แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ควรเว้นระยะห่างการฉีดซิโนฟาร์มเข็มสุดท้าย เป็นเวลา 3 เดือนขึ้นไป หรือตามดุลยพินิจของคุณหมอ
- แอสตร้าเซนเนก้า + แอสตร้าเซนเนก้า หากเข็มบูสเตอร์เป็นไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ควรเว้นระยะห่างจากการฉีดวัคซีนเข็มสุดท้าย 3 เดือนขึ้นไป หรือตามดุลยพินิจของคุณหมอ
- ไฟเซอร์ + ไฟเซอร์ หากเข็มบูสเตอร์เป็นโมเดอร์นา ควรเว้นระยะห่างจากการฉีดวัคซีนเข็มสุดท้าย 3 เดือนขึ้นไป หรือตามดุลยพินิจของคุณหมอ
- ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ เช่น ซิโนแวค + แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนฟาร์ม + แอสตร้าเซนเนก้า หากเข็มบูสเตอร์เป็นโมเดอร์นา ควรเว้นระยะห่างจากการฉีดวัคซีนเข็มสุดท้าย 3 เดือนขึ้นไป หรือตามดุลยพินิจของคุณหมอ
วัคซีนบูสเตอร์ เหมาะกับใครบ้าง
วัคซีนบูสเตอร์อาจเหมาะกับบุคคลต่อไปนี้
- ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีภาวะสุขภาพซึ่งเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 สูง เช่น ติดเอชไอวี โรคลูปัส โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อยู่ในช่วงรักษามะเร็ง ปลูกถ่ายอวัยวะ
- เจ้าหน้าที่หน่วยงานสาธารณสุขที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19
- ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนตามกำหนดครบ 2 เข็ม
- ผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ
- ผู้ที่ควรฉีดวัคซีนบูสเตอร์ ตามดุลยพินิจของคุณหมอ