backup og meta

สุขภาพหัวใจกับโควิด-19 : สิ่งที่ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับหัวใจควรรู้

สุขภาพหัวใจกับโควิด-19 : สิ่งที่ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับหัวใจควรรู้

ตอนนี้หลายคนน่าจะรู้แล้วว่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2) ที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19) นั้นส่งผลกระทบกับระบบทางเดินหายใจและปอดของเรา ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน และสำหรับคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ เราอยากแนะนำให้คุณระวังเป็นพิเศษ เพราะจากข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ JAMA Cardiology ของประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน สามารถกระตุ้นให้อาการของโรคหัวใจและหลอดเลือดกำเริบได้ และนี่คือข้อมูลเกี่ยวกับ สุขภาพหัวใจกับโควิด-19 ที่คุณควรรู้

โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจกับสุขภาพหัวใจ

นักวิทยาศาสตร์เผยว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) ไวรัสอาร์เอสวี (RSV ย่อมาจาก Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุส่วนล่างของทางเดินหายใจ) และโรคปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial pneumonia) สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจ และทำให้ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้วมีอาการของโรครุนแรงขึ้นได้

จากข้อมูลที่ผ่านมานั้น พบว่า ในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาด ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่นั้นเสียชีวิตจากอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าปอดอักเสบจากไข้หวัดใหญ่เสียอีก

และจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาการแทรกซ้อนของโรคซาร์สและโรคเมอร์สซึ่งเกิดจากไวรัสตระกูลโคโรนาเช่นเดียวกับโควิด-19 พบว่า ผู้ป่วยโรคซาร์สส่วนใหญ่จะมีอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะความดันโลหิตต่ำ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจเต้นเร็ว และผลจากการศึกษาข้อมูลของผู้ป่วยโรคเมอร์สจำนวน 637 ราย ก็พบว่า กว่า 30%  มีอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด

แม้ทีมนักวิจัยจะระบุไม่ได้แน่ชัดว่า โรคเมอร์สเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ว่าคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้วมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเมอร์สมากกว่า และร่างกายยังต่อสู้กับการติดเชื้อได้ไม่ดีเท่าผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย

สุขภาพหัวใจกับโควิด-19 : ความเกี่ยวข้องที่ควรรู้

หากดูจากข้อมูลข้างต้น เราจะพบว่า ผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจทั้งจากไวรัสในตระกูลโคโรนาและตระกูลอื่นๆ มักพบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจด้วย และเมื่อพูดถึงโรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดอย่างโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ต่างก็เห็นตรงกันว่า ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหัวใจนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีอาการรุนแรงได้ นอกจากนี้ ผลการศึกษาที่มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจีน จำนวน 44,672 ราย ก็พบว่า 4.2%  ของกลุ่มตัวอย่างเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และเป็นเคสที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตถึง 22.7%

อีกหนึ่งงานวิจัยในประเทศจีน ที่มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 99 ราย พบว่า 40% ของกลุ่มตัวอย่างป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมองอยู่แล้ว และยังมีงานศึกษาวิจัยอีกหนึ่งชิ้น ที่มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 150 ราย พบว่า ผู้ป่วยจำนวน 82 ราย ที่รอดชีวิตจากโรคติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีรายใดมีปัญหาสุขภาพหัวใจเลย แต่ผู้เสียชีวิตจำนวน 68 ราย มี 13 ราย ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่ก่อนแล้ว นั่นทำให้นักวิจัยเชื่อว่า ปัญหาสุขภาพหัวใจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยความเสี่ยงในการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

จากการศึกษาวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับโรคติดเชื้อโควิด-19 และโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เรายกตัวอย่างข้างต้น ก็น่าจะยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดกับโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้นมีความเชื่อมโยงกันจริง ฉะนั้นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหัวใจ จึงยิ่งต้องดูแลตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 โดยทำตามวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นดังต่อไปนี้

สุขภาพหัวใจกับโควิด-19: วิธีดูแลตัวเอง

  • ล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นประจำ หรือหากไม่สะดวก สามารถทำความสะอาดมือด้วยสเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือได้
  • ใช้ทิชชู่ปิดปากเวลาไอหรือจาม เสร็จแล้วควรทิ้งทิชชู่ทันที หากหาทิชชู่ไม่ได้ ควรไอจามใส่ท้องแขนแทนฝ่ามือ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น หรือใช้สิ่งของ เช่น จานชาม ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น
  • หากคุณจำเป็นต้องใช้ยารักษาปัญหาสุขภาพหัวใจที่เป็นอยู่ ต้องกินยาตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี สุขภาพแข็งแรงเสมอ
  • รับประทานอาหารที่โซเดียมต่ำ ไม่เติมน้ำตาล เน้นผักผลไม้ ถั่ว ธัญพืช และเนื้อสัตว์ไร้ไขมัน เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ และต้องไม่ลืมบริโภคไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก อะโวคาโด ปลาแซลมอน ด้วยเพราะช่วยบำรุงหัวใจ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด 

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Coronaviruses and heart health. https://www.medicalnewstoday.com/articles/coronaviruses-and-heart-health. Accessed April 15, 2020

Coronavirus (COVID-19) Resources. https://www.heart.org/en/coronavirus/coronavirus-covid-19-resources. Accessed April 15, 2020

Coronavirus, heart disease and stroke. https://www.heartandstroke.ca/articles/coronavirus-heart-disease-and-stroke. Accessed April 15, 2020

Coronavirus (COVID-19) and cardiovascular disease. https://www.heartfoundation.org.au/your-heart/coronavirus-covid-19-and-cardiovascular-disease. Accessed April 15, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/06/2021

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nopnan Ariyawongmanee


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลไม้เสริมภูมิคุ้มกัน อร่อย สุขภาพดี พร้อมสู้เชื้อโควิด-19

อาหารเสริมเพื่อสุขภาพหัวใจ ที่อาจช่วยคุณต่อสู้กับโรคหัวใจได้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 17/06/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา