องค์การอนามัยโลก (WHO) พบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ โควิดสายพันธุ์มิว (Mu) หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า B.1.621 โดยถูกพบครั้งแรกในประเทศโคลอมเบีย ทวีปอเมริกาใต้ เมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2564
โควิดสายพันธุ์มิว เกิดจากการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง B.1 (ตำแหน่งการกลายพันธุ์ R346K, E484K, N501Y, D614G และ P681H) โดยเกิดจากตำแหน่ง E484K และ N501Y ที่เป็นตำแหน่งกลายพันธุ์ในระดับพันธุกรรม ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าโควิดสายพันธุ์มิวอาจหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่อาจส่งผลให้ภูมิต้านทานที่ได้จากการฉีดวัคซีนลดลง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังคงต้องทำการศึกษาและวิจัยเพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสดังกล่าวนี้
นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดในประเทศโคลอมเบีย โควิดสายพันธุ์มิวก็ระบาดไปหลายประเทศทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยในปัจจุบันโควิดสายพันธุ์มิวได้แพร่ระบาดแล้วใน 39 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่พบในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกา โดยในทวีปอเมริกา พบในประเทศโคลอมเบีย ประเทศเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่ในทวีปยุโรปพบในประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศเดนมาร์ก ประเทศเยอรมนี และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พบผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา เมืองซาเวนเทม ใกล้กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เสียชีวิตจากโควิดสายพันธุ์มิวจำนวน 7 คน ถึงแม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว แต่ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมีอายุระหว่าง 80-90 ปี และสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง
สำหรับทวีปเอเชีย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564 กระทรวงสาธารณสุข ประเทศญี่ปุ่น พบประชากรในประเทศติดเชื้อโควิดสายพันธุ์มิว แบบไม่แสดงอาการ 2 ราย ระหว่างการตรวจการคัดกรองที่สนามบิน โดยรายแรกเป็นผู้หญิงอายุประมาณ 40 ปี ที่เดินทางกลับมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 และรายที่ 2 อายุประมาณ 50 ปี เดินทางกลับจากสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
ในภาพรวมอัตราการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์มิวมีแนวโน้มการแพร่ระบาดลดลงกว่า 0.1% แต่ในประเทศโคลอมเบียและประเทศเอกวาดอร์ยังคงมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลก จึงประกาศให้โควิดสายพันธุ์ดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (Variants of Interest หรือ VOI) ร่วมกับสายพันธุ์แคปปา (B.1.617.1) สายพันธุ์อีตา (B.1.525) สายพันธุ์ไอโอตา B.1.526) และสายพันธุ์แลมบ์ดา (C.37)
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่พบโควิดสายพันธุ์มิวในประเทศไทย และยังไม่มีหลักฐานที่ระบุแน่ชัดว่า ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์มิวจะมีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน ระบุเพียงว่า การกลายพันธุ์ของสายพันธุ์มิวอาจหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจส่งผลให้ภูมิต้านทานที่ได้จากการฉีดวัคซีนลดลง