เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อาการหลักของเชื้อไวรัสโควิด-19 คือ อาการไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก ไข้ขึ้นสูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สูญเสียความสามารถด้านการรับรู้รสชาติ หรือการรับกลิ่นอาหาร เป็นต้น แต่ปัจจุบันมีรายงานหลายฉบับที่เกี่ยวกับ COVID Toe หรือ ผื่นแดงที่เท้า โดย ดร.ฮัมเบอร์โต ชอย หรือ ดร.ชอย แพทย์สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจ ประจำคลีฟแลนด์คลินิกวิทยาเขตหลัก สหรัฐอเมริกาฯ ได้กล่าวไว้ว่า
“รูปแบบของผื่นชนิดนี้ อาจเป็นอาการอีกอย่าง ของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดจากเชื้อไวรัสเข้าไปในร่างกาย ทำให้ระบบการทำงานแต่เดิมของร่างกายผิดเพี้ยนไป จนเกินการอุดตันของลิ่มเลือดบริเวณนิ้วเท้า ก่อให้เกิดผื่นแดง หรือผิวบริเวณนั้นเปลี่ยนสี’
ก่อนหน้านี้ ดร.ชอย ได้เก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ COVID-19 ในห้องไอซียู และได้เริ่มสืบค้นถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนเพิ่มเติมที่ไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสจึงทำให้ผื่นนี้ปรากฏออกมา นับได้ว่าเป็นสัญญาณเตือนโรคโควิด-19 อีกอย่างที่ต้องศึกษาและวิเคราะห์กันต่อไป
อาการทางผิวหนังอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นนอกเหนือจาก COVID Toe หรือ ผื่นแดงที่เท้า
นอกจากผื่นที่เท้าแล้ว ยังมีการรายงานของ ดร.อิกนาซิโอ การ์เซีย-ดอวัล หัวหน้าทีมวิจัยในประเทศสเปน ที่พบผื่นประเภทนูนแดง (Maculopapules) ตามบริเวณลำตัวของผู้ป่วยติดเชื้อถึง 47% ที่มีอาการจากไวรัสโควิด-19 และผื่นนูนแดงดังกล่าว จะอยู่ได้นานถึง 1 สัปดาห์ อีกทั้งยังพบผื่น หรืออาการทางผิวหนังอีก 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
- ร่องรอยของผิวหนัง ที่มีลักษณะเป็นสีแดง ๆ คล้ายผื่น ทำให้เกิดอาการคัน พบมากในคนไข้วัยกลางคน และจะหายได้เองภายใน 12 วัน
- ผิวหนังพุพอง มักจะมีอาการคันรวมด้วยเล็กน้อย และพบได้มากตามบริเวณแขน ขา ลำตัว คนไข้จะมีอาการนี้อยู่ประมาณ 10 วัน ก่อนจะมีอาการอื่นเข้ามาแทรกซ้อนเพิ่มเติมอีก ซึ่งคิดเป็น 9% จากกรณีทั้งหมด
- ผิวหนังนูนสีขาว หรือชมพู คล้ายอาการลมพิษ มีอาการคัน และเกิดได้ทั่วลำตัว แต่ในบางครั้งก็อาจเกิดขึ้นแค่บนฝ่ามือเพียงอย่างเดียว จากกรณีนี้สามารถเกิดขึ้นได้ถึง 19% เลยทีเดียว
- ผิวหนังมีสีแดง และสีน้ำเงิน ลักษณะคล้ายตาข่าย เป็นสัญญาณของการไหลเวียนเลือดที่ไม่ดีนัก และเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุที่มีอาการค่อนข้างหนัก
อาการทางผิวหนังข้างต้น อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน หากคุณมีอาการที่กล่าวไปข้างต้น และอาการไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง แนะนำให้รีบไปพบคุณหมอ
ทั้งนี้การเดินทางออกไปตรวจ ควรเช็กตนเองให้เรียบร้อยเสียก่อนว่า มีไข้ขึ้นสูงกว่า 37.5 หรือไม่ รวมทั้งมีอาการไอ ท้องเสีย หรือได้ออกไปยังสถานที่ที่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือเปล่า จะได้แจ้งข้อมูลให้แพทย์ทราบได้อย่างถูกต้อง หากคุณจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือตรวจพบว่าเป็นโรคโควิด-19 จะได้เข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป