backup og meta

สาเหตุของปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส อาการ และการวินิจฉัยโรค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/08/2021

    สาเหตุของปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส อาการ และการวินิจฉัยโรค

    ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส เป็นโรคปอดติดเชื้อที่ส่งผลให้ปอด และถุงลมอักเสบ จนเกิดปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ สาเหตุของปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส มีหลายประการ ซึ่งหากทราบสาเหตุหรือประเภทของไวรัส ก็อาจทำให้ได้รับการรักษาอย่างตรงจุด นอกจากนี้เพื่อความปลอดภัยควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวม และไข้หวัดใหญ่ให้ครบตามกำหนด เพราะอาจช่วยบรรเทาอาการรุนแรงของ ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส ได้

    สาเหตุของปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส

    เชื้อไวรัสที่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในปอด จนปอดอักเสบ มีดังต่อไปนี้

    ไวรัสโควิด-19 (COVID-19)

    เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ถูกพบครั้งแรกในปีพ.ศ. 2563 แต่อาจไม่ทราบที่มาอย่างแน่ชัด เนื่องจากไวรัสชนิดนี้สามารถติดเชื้อได้ทั้งในคน และสัตว์ ที่อาจส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้ ซึ่งไวรัสโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนรอบนอกไวรัสได้ตลอดเวลา จึงทำให้มีโควิด-19 หลากหลายสายพันธุ์ โดยในปัจจุบันในประเทศไทยพบแล้วทั้งหมด 5 สายพันธุ์ ได้แก่

  • อู่ฮั่น (Serine) ที่พบครั้งแรกในประเทศจีน เมืองอู่ฮั่น และเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยเมื่อช่วงเดือนมกราคม พ.ศ.2563
  • เบต้า (Beta) พบครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้ และแพร่กระจายเข้าสู่ประเทศไทย เมื่อช่วงเดือนมกราคม พ.ศ.2564
  • อัลฟา (Alpha) พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร และเข้าสู่ประเทศไทย เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2564 ที่อาจสามารถแพร่กระจายง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น 40-70%
  • แกมมา (Gamma) เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในประเทศบราซิล และเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงกว่าเดิม และลดภูมิคุ้มกันลงได้
  • เดลต้า (Delta) พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย และเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงเดียวกับสายพันธุ์แกมมา แต่อาจมีการกระจายตัวได้รวดเร็ว อีกทั้งยังหลบเลี่ยงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ช่วยจับสิ่งแปลกปลอมที่แทรกซ้อนเข้ามาได้
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่

    ไวรัสไข้หวัดใหญ่แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่

    • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่ระบาดได้ทั้งในคน และสัตว์ ทำให้มีอาการในทางเดินหายใจที่รุนแรง
    • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ในคนเพียงเท่านั้น
    • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ซี อาจทำให้ผู้ได้รับเชื้อมีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจไม่รุนแรง และไม่สามารถก่อให้เกิดการแพร่ระบาดได้
    • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ดี ส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบให้กับโค และอาจไม่มีการแพร่กระจายสู่คน

    ไวรัสอะดีโน (Adenovirus)

    เป็นไวรัสที่อาจทำให้ทางเดินหายใจ ระบบประสาท ปอด ลำไส้ และทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ โดยจะเกิดขึ้นในเด็กบ่อยกว่าผู้ใหญ่ แต่ถึงอย่างไรทุกเพศทุกวัยก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้หากร่างกายได้รับไวรัสชนิดนี้ และยังก่อให้เกิดอาการที่แตกต่างกันตามอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น หากติดเชื้อที่หลอดลมก็จะทำให้มีอาการไอ มีไข้ น้ำมูกไหล หรือกรณีติดเชื้อที่ปอด ก็จะทำให้ปอดบวม

    ไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella-Zoster)

    ไวรัสชนิดนี้อาจพบได้ในโรคงูสวัด (Herpes zoster) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคปอดบวม หรืออาจมีอาการทางเดินหายใจที่ผิดปกติเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-6 วัน เช่น มีไข้ ไอ หายใจลำบาก บางรายอาจมีผื่นขึ้นตามผิวหนังที่ส่งผลให้คันระคายเคือง ผิวลอก และรู้สึกเจ็บแสบได้

    ไวรัสอาร์เอสวี (RSV)

    ไวรัสอาร์เอสวี คือ ไวรัสที่ทำให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัด แต่ขณะเดียวกันก็อาจส่งผลรุนแรงต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมขนาดเล็กในปอดอักเสบ ปอดบวมได้ โดยเฉพาะกับทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเรื้อรังอย่างโรคหอบหืด โรคหัวใจล้มเหลว

    อาการระดับรุนแรงของ ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส 

    ในระยะแรกหลังจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัส อาจทำให้เกิดอาการบางอย่างคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่หากผ่านระยะแรก อาจส่งผลให้มีอาการที่แย่ลง โดยเฉพาะเมื่อปอดติดเชื้อจากไวรัส ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้

    • เหงื่อออกมาก
    • หัวใจเต้นเร็ว
    • หายใจมีเสียงหวีด
    • ไอ พร้อมมีเสมหะสีเหลือง และสีเขียว หรือมีการปะปนของเลือดร่วม
    • รู้สึกเหนื่อยล้า
    • ริมฝีปาก และเล็บเปลี่ยนเป็นสีฟ้า
    • รู้สึกกระหายน้ำ หรือมีอาการร่างกายขาดน้ำ
    • ผู้สูงอายุ อาจมีอุณหภูมิร่างกายต่ำ และวิงเวียนศีรษะ

    หากเผชิญกับอาการรุนแรง หรือมีอาการผิดปกติของทางเดินหายใจเป็นเวลานาน ควรเข้ารับการวินิจฉัย และการรักษาจากคุณหมอให้ทันท่วงที บางรายอาจจำเป็นเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เช็กอาการ และดูพัฒนาการของโรค เพื่อปกป้องไม่ให้ไวรัสทำลายปอดมากไปกว่าเดิม

    การวินิจฉัย ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส และการรักษา

    การวินิจฉัย ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส คุณหมอจะเริ่มด้วยการสอบถามผู้ป่วยเกี่ยวกับประวัติทางสุขภาพ และอาการของโรคที่ผู้ป่วยเป็น ก่อนจะเริ่มตรวจเช็กเสียงการทำงานของปอด หากพบว่าเสียงการหายใจ หรือปอดทำงานผิดปกติ คุณหมอจะตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง ด้วยการตรวจในโพรงจมูกเพื่อเก็บตัวอย่างไปหาเชื้อไวรัส หรือเอ็กซ์เรย์ทรวงอก

    หากผลจากการวินิจฉัยบ่งบอกว่าปอดมีการติดเชื้อจากไวรัส คุณหมออาจรักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัสตามชนิดไวรัสที่พบ รวมถึงยาตามอาการที่ผู้ป่วยเป็น และแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาให้ตรงเวลา ดื่มน้ำในปริมาณมากต่อวัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เว้นระยะห่างจากผู้คนรอบข้าง และเข้ารับการตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อเช็กสุขภาพปอดว่ายังหลงเหลือเชื้อไวรัส หรือมีการติดเชื้อใด ๆ เพิ่มเติมหรือไม่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/08/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา