อาการไข้หวัดใหญ่ เช่น เป็นไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ อ่อนแรง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ทางเดินหายใจ ซึ่งแพร่กระจายผ่านทางน้ำลายหรือน้ำมูกขณะไอและจาม รวมถึงการใช้ช้อนส้อมหรือการดื่มน้ำจากแก้วหรือหลอดเดียวกัน โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย แต่อาจพบได้บ่อยในเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ดังนั้น จึงควรดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีเพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้เจ็บป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่
[embed-health-tool-heart-rate]
อาการไข้หวัดใหญ่ มีสาเหตุจากอะไร
อาการไข้หวัดใหญ่ มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) ในระบบทางเดินหายใจ ที่แพร่กระจายผ่านสารคัดหลั่งเช่น น้ำมูก น้ำลาย จากการไอ การจาม หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แบ่งออกเป็น 4 สายพันธุ์ ดังนี้
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ (Influenza A) เป็นสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยที่สุดและสามารถแพร่เชื้อสู่คนและสัตว์
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี (Influenza B) เป็นสายพันธุ์ที่แพร่เชื้อสู่คนเท่านั้น แบ่งออกเป็นอีก 2 สายพันธุ์ คือ Yamagata และ Victoria แต่อาจมีอาการรุนแรงน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซี (Influenza C) เป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เอและสายพันธุ์บี แต่จะไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ดี (Influenza D) เป็นสายพันธุ์ที่แพร่เชื้อจากสัตว์สู่สัตว์เพียงเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดในคน
อาการไข้หวัดใหญ่ เป็นอย่างไร
อาการไข้หวัดใหญ่ อาจสังเกตได้ดังนี้
อาการไข้หวัดใหญ่ในเด็ก
- มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียส ขึ้นไป
- ปวดศีรษะ
- เจ็บคอ
- น้ำมูกไหลและคัดจมูก
- อาการไอรุนแรง
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- เหนื่อยล้าง่าย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสีย
อาการไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่
- มีไข้ หนาวสั่น
- เหงื่อออกมาก
- อาเจียน
- ปวดกล้ามเนื้อ
- อาการไอเรื้อรัง
- เจ็บคอ
- น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก
- รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- ปวดตา
- ท้องเสีย
หากมีอาการไข้หวัดใหญ่แย่ลงหรือมีอาการนานกว่า 3-4 สัปดาห์ หรือมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก ผิวซีด ริมฝีปากและเล็บเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือสีเทา รู้สึกเจ็บหน้าอก ร่างกายขาดน้ำ และอาการชัก ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็ว
การรักษาอาการไข้หวัดใหญ่
การรักษาอาการไข้หวัดใหญ่ อาจทำได้ดังนี้
การรักษาอาการไข้หวัดด้วยตัวเอง
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ โดยควรเลือกเป็นน้ำอุณหภูมิห้องหรือน้ำอุ่น
- นอนหลับพักผ่อน เพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกายจากอาการเจ็บป่วยและช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันได้ทำงานอย่างเต็มที่ในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
- รับประทานยา เช่น ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ ลดไข้ หรือรับประทานยาอื่น ๆ เช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ตามคำแนะนำของคุณหมอ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้เด็กรับประทานยาแอสไพริน เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ (Reye’s syndrome) ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองและตับ ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
การรักษาอาการไข้หวัดด้วยเทคนิคทางการแพทย์
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ระดับรุนแรงและเป็นเวลานาน คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานยาต้านไวรัส ดังต่อไปนี้
- โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) เป็นยาต้านไวรัสที่ช่วยหยุดการเจริญเติบโตของไวรัส และอาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ปวดเมื่อย คัดจมูก โดยรับประทานยาพร้อมอาหาร วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน หรือตามดุลพินิจของคุณหมอ
- บาล็อกซาเวียร์ (Baloxavir) ใช้เพื่อช่วยต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยอาจให้รับประทานยาพร้อมอาหาร วันละ 1 ครั้ง หรือตามดุลพินิจของคุณหมอ ควรรับประทานยานี้อย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง ก่อนจะรับประทานยาอื่นเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ซานามิเวียร์ (Zanamivir) ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก เจ็บคอ อาการหนาวสั่น และลดไข้ โดยควรใช้ยาวันละ 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วัน
- เพอรามิเวียร์ (Peramivir) เป็นยาในรูปแบบฉีดเข้าทางหลอดเลือด เพื่อช่วยรักษาอาการไข้หวัดใหญ่ เช่น อาการคัดจมูก อาการไอ อาการเจ็บคอ อาการเหนื่อยล้า และอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
อาการไข้หวัดใหญ่ ป้องกันได้อย่างไรบ้าง
อาการไข้หวัดใหญ่ อาจป้องกันได้ดังนี้
- ตรวจสุขภาพประจำปีและควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
- ควรล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 20 วินาที เพื่อกำจัดเชื้อโรคและสิ่งสกปรกบนมือก่อนสัมผัสจมูก ปาก ดวงตา หรือหยิบจับอาหารต่าง ๆ
- ควรปิดปากขณะไอและจาม หรือจามใส่ทิชชูหรือข้อพับแขน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปยังผู้อื่น
- สวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและระบายอากาศไม่ดี เช่น โรงเรียน สำนักงาน ร้านอาหาร โรงยิม
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะอาจเพิ่มโอกาสต่อโรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงโรคอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง