backup og meta

ไข้หวัดใหญ่ อาการ เป็นอย่างไร และควรรับมืออย่างไร

ไข้หวัดใหญ่ อาการ เป็นอย่างไร และควรรับมืออย่างไร

ไข้หวัดใหญ่ เป็นการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) ในระบบทางเดินหายใจ เมื่อเป็น ไข้หวัดใหญ่ อาการ ที่มักพบ เช่น ไข้สูง น้ำมูกไหล ไอ จาม ปวดศีรษะ นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ปอดอักเสบ ในบางรายอาจมีอาการคล้ายคลึงกับไข้หวัดธรรมดา แต่โดยปกติแล้วอาการของไข้หวัดใหญ่มักจะรุนแรงกว่า และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม การดูแลตนเองให้มีสุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ และฉีดวัคซีน ไข้หวัดใหญ่ ประจำปีอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค หรือลดความรุนแรงของอาการได้

[embed-health-tool-heart-rate]

ไข้หวัดใหญ่ คืออะไร

ไข้หวัดใหญ่ (Flu หรือ Influenza) เป็นการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซาที่ระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่จมูก ลำคอ ไปจนถึงปอด เมื่อเป็นแล้วอาจมีทั้งอาการไม่รุนแรงมาก เช่น ปวดศีรษะ มีน้ำมูก หนาวสั่น ปวดเมื่อยตัว มีไข้สูง ไปจนถึงอาการที่รุนแรง เช่น หายใจลำบาก ปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่สู่ผู้อื่นได้ผ่านทางการไอหรือจาม หรือหากมือไปสัมผัสโดนสิ่งของต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสแล้วไปสัมผัสกับบริเวณใบหน้า ดวงตา ปาก หรือจมูก ก็อาจทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้

ไข้หวัดใหญ่ อาการ เป็นอย่างไร

เมื่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะการฟักตัวประมาณ 1-3 วัน และอาจทำให้มีอาการดังต่อไปนี้

  • ไข้สูง
  • หนาวสั่น
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • เจ็บคอ คอแห้ง
  • ไอ
  • ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ

นอกจากนี้ บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียร่วมด้วย โดยเฉพาะในเด็ก

ควรพบแพทย์เมื่อใด

โดยปกติ ไข้หวัดใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง แต่หากสังเกตพบอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

  • หายใจไม่ออก หายใจลำบาก
  • ปอดอักเสบ ซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการเจ็บร้าวที่ไหล่หรือสีข้างเมื่อไอ ไข้สูง หนาวสั่น เป็นต้น
  • เจ็บหน้าอก
  • อาการชัก
  • ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง

หากเด็กเป็น ไข้หวัดใหญ่ อาการ ที่พบ อาจมีดังนี้

  • ปากและนิ้วมือเป็นสีม่วงคล้ำ
  • หายใจไม่ออก หายใจลำบาก
  • ภาวะขาดน้ำ อาจสังเกตได้จากอาการกระหายน้ำ ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ ปวดศีรษะ เป็นต้น
  • อาการชัก
  • ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง

สาเหตุของ ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) ซึ่งมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ และอาจกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ ทุกปี อย่างไรก็ตาม ไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สายพันธุ์หลัก ๆ ดังนี้

  • อินฟลูเอนซา A เป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างทั่วโลก สามารถแบ่งออกเป็นสายพันธุ์ย่อยได้อีก คือ H1N1, H1N2, H3N2, H5N1 และ H9N2
  • อินฟลูเอนซา B เป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดในระดับชุมชน ไม่มีการแบ่งสายพันธุ์ย่อย

ปัจจัยเสี่ยงของไข้หวัดใหญ่

ปัจจัยเสี่ยงของไข้หวัดใหญ่ อาจมีดังนี้

  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ติดเชื้อ HIV อาจเสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย และอาจมีอาการนานกว่าปกติ
  • อายุ ไข้หวัดใหญ่มักพบได้บ่อยในเด็กที่อายุตั้งแต่ 6 เดือน-5 ปี และผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • สภาพแวดล้อม ผู้ที่ต้องดูแลคนป่วย ผู้ที่ต้องพบปะคนจำนวนมาก อาจเสี่ยงรับเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย
  • โรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน อาจเพิ่มความความเสี่ยงให้เป็นโรคไข้หวัดใหญ่
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้หญิงตั้งครรภ์อาจเสี่ยงเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์

การวินิจฉัยและการรักษาไข้หวัดใหญ่

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่

แพทย์จะซักประวัติและตรวจดูอาการเบื้องต้น จากนั้นอาจตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

  • การตรวจ PCR (Polymerase Chain Reaction) ด้วยการป้ายคอหรือจมูก เพื่อเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งไปตรวจหาเชื้อไวรัส โดยสามารถตรวจไข้หวัดใหญ่และโควิด-19ไปพร้อม ๆ กันได้
  • การตรวจวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่อย่างรวดเร็ว (Rapid Influenza Diagnostic Tests หรือ RIDTs) เป็นการทดสอบหาแอนติเจน (Antigens) ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สามารถทราบผลได้ภายในเวลาประมาณ 15 นาที แต่ไม่สามารถแยกแยะสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้

การรักษาไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่อาจหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่หากมีอาการรุนแรง หรือเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน แพทย์อาจให้ยาต้านไวรัส เช่น โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ซานามิเวียร์ (Zanamivir) เพื่อช่วยฆ่าเชื้อไวรัส ช่วยให้หายไวขึ้น และช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ทั้งนี้ การใช้ยาต้านไวรัสอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ควรรับประทานยาพร้อมกับอาหาร และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่

การดูแลตัวเองเพื่อช่วยบรรเทาอาการของไข้หวัดใหญ่ อาจทำได้ดังนี้

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำ และช่วยขับปัสสาวะ
  • ใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะและลดไข้
  • หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านหรือพบปะผู้คน เพื่อลดการแพร่กระจายโรค

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่

วิธีการดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้

  • สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้านและพบปะผู้คน
  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมากับมือ และช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงในการเกิดไข้หวัดใหญ่
  • ไม่ควรนำมือมาสัมผัสใบหน้า จมูก และปาก เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย
  • ปิดปากทุกครั้งที่ไอและจาม
  • ทำความสะอาดบริเวณบ้าน โดยเฉพาะพื้นผิวต่าง ๆ ที่ต้องสัมผัสเป็นประจำ เช่น โต๊ะ ประตู เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วย และหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อช่วยเสริมสร้างร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza). https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=13. Accessed January 13, 2023.

Influenza (flu). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/flu/symptoms-causes/syc-20351719. Accessed January 13, 2023.

Influenza (Flu). https://www.cdc.gov/flu/symptoms/index.html. Accessed January 13, 2023.

Flu. https://www.nhs.uk/conditions/flu/. Accessed January 13, 2023.

Flu (Influenza). https://www.nfid.org/infectious-diseases/influenza-flu/. Accessed January 13, 2023.

Types of Influenza Viruses. https://www.cdc.gov/flu/about/viruses/types.htm. Accessed January 13, 2023.

Cold Versus Flu. https://www.cdc.gov/flu/symptoms/coldflu.htm. Accessed January 13, 2023.

Preventive Steps. https://www.cdc.gov/flu/prevent/prevention.htm. Accessed January 13, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/03/2023

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: Pattarapa Thiangwong


บทความที่เกี่ยวข้อง

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 24/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา