สำหรับทาสหมาที่ชอบเล่น และสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงของคุณโดยตรงอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการกอดหรือหอมก็ตาม โปรดพึงระวังให้ดี เพราะหากมีอาการป่วยบางอย่างขึ้น ก็อาจเป็นไปได้ว่าคุณอาจกำลังมี อาการแพ้ขนสุนัข ดังนั้น วันนี้ Hello คุณหมอ จึงขอนำความรู้เกี่ยวกับอาการ แพ้ขนสุนัข รวมไปถึงวิธีการรักษาเบื้องต้น ก่อนที่จะเกิดอาการรุนแรง มาฝากทุกคนกันค่ะ
สาเหตุที่ส่งผลให้คุณเกิด อาการแพ้ขนสุนัข
อาการแพ้ขนสุนัข (Dog Allergies) สามารถเกิดขึ้นจากการสัมผัสกับสารบางอย่างในตัวสุนัขที่ออกมาทางน้ำลายหรือปัสสาวะ ที่เปรอะเปื้อนตามจุดต่าง ๆ รวมไปถึงบนผิวหนัง และเส้นขน เมื่อคุณเผลอไปสัมผัส หรือรับเชื้อจากสัตว์เลี้ยงเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการใกล้ชิดด้วยการกอด หรือแม้แต่การเช็ดทำความสะอาดปัสสาวะ อุจจาระ ก็อาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของคุณมีเริ่มกระบวนการต่อต้านสารที่ปะปนเข้ามา จนนำไปสู่การเกิดปฏิกิริยาทางร่ายกายที่เรียกว่าภูมิแพ้ขึ้น
สัญญาณเบื้องต้น ของอาการแพ้ขนสุนัข
บางครั้งอาการแพ้ขนสุนัขอาจไม่ปรากฏขึ้นทันทีเมื่อคุณสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง แต่อาจเกิดอาการ แพ้ขนสุนัข ได้ในเวลาต่อมา ซึ่งมักปรากฏออกมาในรูปแบบของอาการดังต่อไปนี้
- อาการคัน บวม บริเวณโพรงจมูก และรอบดวงตา
- ผื่นขึ้นที่ผิวหนัง
- หายใจลำบาก แน่นหน้าอก
- ไอ จาม
- น้ำมูกไหล
- ตาแดง
นอกจากนี้หากผู้เลี้ยงมีภาวะทางสุขภาพที่ค่อนข้างไวต่อปฏิกิริยาแพ้ต่อสารหรือเชื้อโรคดังกล่าว ก็อาจก่อให้เกิดความรุนแรงต่อผิวหนัง หรือบริเวณที่มีการสัมผัสกับน้ำลายสุนัขเพิ่มเติม จนเกิดเป็นลมพิษ และโรคหอบหืดขึ้นได้อีกด้วย
วิธีรักษาอาการ แพ้ขนสุนัข
แน่นอนว่าการรักษาด้วยยาที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำและกำหนดให้คุณ ย่อมเป็นหนทางออกที่ดีที่จะช่วยบรรเทาอาการ แพ้ขนสุนัข โดยส่วนใหญ่แพทย์อาจกำหนดยาให้คุณตามอาการที่คุณมีเท่านั้น โดยมีทั้งในรูปแบบเม็ด และสเปรย์ฉีดพ่น เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ลอราทาดีน (Loratadine) โครโมลินโซเดียม (Cromolyn Sodium)
ที่สำคัญคุณควรปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันอาการ แพ้ขนสุนัข ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยให้คุณพ้นจากความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ได้
- จัดเขตที่นอน หรือกำหนดขอบเขตให้แก่สุนัขของคุณอย่างเหมาะสม ไม่รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวมากจนเกินไปโดยเฉพาะห้องนอนของคุณ
- หมั่นอาบน้ำให้สุนัข โดยใช้แชมพูที่อ่อนโยนเหมาะกับผิวหนัง เพื่อป้องกันขนร่วง
- ทำความสะอาดบ้านโดยรอบ รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ เช่น ม่าน พรม หมอน เป็นต้น
- ควรมีเครื่องกรองอากาศติดไว้ภายในบ้าน หรือห้องที่คุณมักอยู่ร่วมกับสุนัข อีกทั้งยังควรถอดไส้กรอกออกมาทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
ก่อนการตัดสินใจจะรับสัตว์เลี้ยงมาอาศัยอยู่ร่วมกันทุกครั้ง คุณควรทำการตรวจเช็กสุขภาพถึงโรคภูมิแพ้ของตนเอง พร้อมศึกษาการเลี้ยงดูสุนัขเสียก่อน เนื่องจากสุนัขมีพื้นฐานของนิสัย สายพันธุ์ และถิ่นกำเนิดที่แตกต่างกันออกไป เพื่อเป็นการช่วยลดผลกระทบในเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นแก่ร่างกายของผู้เลี้ยง รวมไปถึงช่วยลดปัญหาของการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงในอนาคต
[embed-health-tool-bmr]