ต่อมลูกหมากถือเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย แต่ถ้าหากพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากควรทำอย่างไรดี วันนี้ Hello คุณหมอ ขอพาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ มะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก ว่าถ้าหากพบแล้วสามารถรักษาได้อย่างไรบ้าง
มะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก คืออะไร
มะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกคือ เกิดจากเซลล์ของตัวต่อมลูกหมากได้เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ผิดปกติ มีการเจริญเติบโต และแบ่งตัวเซลล์ รวมถึงการทำลายเซลล์ปกติของต่อมลูกหมากด้วย แต่เซลล์มะเร็งยังไม่ได้แพร่กระจายออกไปข้างนอกของต่อมลูกหมาก
วิธีสังเกตตัวเองว่าเป็น มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือไม่
การสังเกตตนเองบางครั้งอาจไม่มีทางรู้ได้ นอกจากการไปหาคุณหมอเพื่อตรวจเช็คร่างกาย เนื่องจากผู้ชายส่วนใหญ่ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกไม่มีอาการใด ๆ และไม่สามารถตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากได้ด้วยตัวเอง หากคุณอายุมากกว่า 50 ปี หรือคนในครอบครัวมีประวัติมะเร็งต่อมลูกหมาก แนะนำให้ไปตรวจเช็คเพื่อสุขภาพที่ดีของคุณเอง
อาการ มะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก
โดยทั่วไป อาการมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นไม่ค่อยแสดงให้เห็นในระยะเริ่มต้น แต่บางคนก็อาจจะมีอาการได้ ดังต่อไปนี้
- ปัสสาวะลำบาก และเจ็บขณะปัสสาวะ
- เวลาปัสสาวะ ปัสสาวะไหลอ่อนลง เหมือนไม่มีแรง
- ปัสสาวะบ่อยขึ้นในเวลากลางดึก
- เมื่อปัสสาวะเสร็จแล้ว รู้สึกเหมือนยังไม่เสร็จ
- อาจมีเลือดปนมากับปัสสาวะ หรือน้ำอสุจิ
และบางคนอาจมีอาการอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวมาข้างต้น รวมถึงอาการของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคนด้วย หากใครมีความกังวล หรือคิดว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเป็น ควรไปปรึกษาคุณหมอเพื่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติม
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยและแพทย์อาจจะต้องพิจารณาข้อกำหนดในการรักษาหลาย ๆ ด้าน เพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกนั้นอาจมีตัวเลือกในการรักษา 2-3 ทาง ได้แก่
- การเฝ้าติดตามอาการ เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกนั้นจะโตช้า ดังนั้นบางครั้งอาจจะไม่จำเป็นต้องรักษาทันทีเลยก็ได้ โดยวิธีการรักษานี้เหมาะกับผู้สูงอายุมาก ๆ หรือมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายถึงการเพิกเฉยต่อมะเร็ง แพทย์จะคอยดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าโรคนี้จะไม่ก่อปัญหาใด ๆ ตามมา
- การผ่าตัด เนื่องจากมะเร็งยังไม่แพร่กระจายออกนอกต่อมลูกหมากแการผ่าตัดเพื่อเอาต่อมออกอาจสามารถช่วยรักษาโรคได้ เป็นการรักษากับผู้ป่วยที่ร่างกายแข็งแรง และอายุยังไม่มากนัก โดยมีวิธีการ 2 วิธี คือ
- Retropubic prostatectomy คือ แพทย์จะผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องโดยตัดเอาต่อมลูกหมากและต่อมน้ำเหลืองออก
- Perineal prostatectomy คือ แพทย์จะผ่าตัดผ่านทางผิวหนังบริเวณอัณฑะและทวารหนัก
ซึ่งการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดอาจมีผลข้างเคียงในภายหลัง ได้แก่ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ การแข็งตัวของอวัยวะเพศ
- การบำบัดด้วยรังสี โดยใช้รังสีเอกซ์พลังงานสูงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งการใช้รังสีรักษาโรคมะเร็งสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธีด้วยกัน คือ
- การรักษาด้วยรังสีจากภายนอก (External Beam Radiation Therapy) คือ เป็นการฉายรังสีไปที่ต่อมและปรับขนาดยาให้ตรงเป้าหมายมะเร็ง
- การรักษาด้วยรังสีระยะใกล้ (ฺBrachytherapy) คือ การนำสารกัมมันตรังสีซึ่งปล่อยรังสีในปริมาณสูงไปไว้ในก้อนเนื้องอก
แต่ผู้ป่วยบางคนที่รับการรักษาด้วยวิธีนี้อาจมีผลข้างเคียงจากการฉายรังสี เช่น ท้องร่วง อุจจาระมีเลือดปน รู้สึกเหนื่อยง่าย
อย่างไรก็ดี แพทย์ที่ให้การรักษาจะแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกับผู้ป่วย และหากมะเร็งต่อมลูกหมากตรวจพบเร็วเท่าไร ก็อาจสามารถรักษาให้หายขาดได้