backup og meta

มาทำความรู้จักกับ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer) กันเถอะ

มาทำความรู้จักกับ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer) กันเถอะ

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer) เป็นมะเร็งปอดชนิดรุนแรง เนื่องจากเซลล์มะเร็งสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วและเดินทางไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้

คำจำกัดความ

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก คืออะไร

มะเร็งปอดมีอยู่ 2 ชนิดหลัก คือมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer หรือ SCLC) และมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer หรือ NSCLC) มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก เป็นมะเร็งปอดชนิดที่รุนแรงกว่า เนื่องจากเซลล์มะเร็งสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วและเดินทางไปยังส่วนอื่นของร่างกาย หรือแพร่กระจายได้ง่ายมาก ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักตรวจพบก็ต่อเมื่อมะเร็งได้กระจายไปทั่วร่างกายเรียบร้อยแล้ว ทำให้โอกาสในการรักษาลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็กในระยะแรกเริ่ม ก็อาจรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อนที่มะเร็งจะลุกลาม มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มะเร็งแบบโอ๊ทเซลล์ คาร์ซิโนมา (Oat Cell Carcinoma)

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก พบได้บ่อยเพียงใด

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็กถูกพบในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งปอดร้อยละ 10-15 พบได้น้อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็ก โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก

ปกติแล้วมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็กจะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ แต่มักเกิดอาการตอนที่มะเร็งลุกลามไปยังส่วนอื่นของร่างกายแล้ว ซึ่งอาการของโรคจะหนักขึ้นเมื่อมะเร็งเติบโตและแพร่กระจาย โดยอาการเหล่านั้น ได้แก่

  • ไอเป็นเลือด
  • หายใจลำบาก
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • เจ็บหน้าอกหรือรู้สึกอึดอัด
  • ไอเรื้อรังและเสียงแหบแห้ง
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด
  • อ่อนเพลีย
  • หน้าบวม

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก

มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นมะเร็งปอด แต่การสูบยาเส้นหรือบุหรี่ คือสาเหตุหลักที่นำไปสู่การป่วยเป็นมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่มือสอง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ผู้ป่วยบางคนที่ไม่มีประวัติสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่มาก่อน ก็สามารถเป็นมะเร็งปอดได้เช่นกัน

เมื่อสูดดมควันบุหรี่เข้าไป อนุภาคขนาดเล็กจะทำลายเนื้อเยื่อปอด ทุกครั้งที่เซลล์ต้องซ่อมแซมตัวเองหรือเติบโตใหม่ ก็มีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ หากเกิดการกลายพันธุ์ เซลล์ธรรมดาอาจกลายเป็นเซลล์ร้าย เนื่องจากการสูดดมควันบุหรี่และถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่เซลล์จะพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งปอดจึงเพิ่มมากขึ้นอย่างน่ากลัว

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก

มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการสำหรับมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก เช่น

  • การสูบบุหรี่
  • การสูดดมควันยาเส้น
  • ได้รับการฉายรังสี
  • เข้ารับการทำซีที สแกน
  • สูดดมแร่ใยหิน น้ำมันดินและเขม่า
  • สูดดมน้ำมันดีเซล
  • ได้รับแร่โลหะ เช่น นิกเกิล เบริลเลียม
  • อาศัยอยู่ในที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง
  • ได้รับสารหนูจากน้ำดื่ม
  • ติดเชื้อ HIV
  • ได้รับเบตาแคโรทีนมากเกินไปและสูบบุหรี่หนัก

ปัจจุบัน ยังคงมีการวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจสาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเกี่ยวกับเพศ และเชื้อชาติ ที่ส่งผลต่อโอกาสในการป่วยเป็นมะเร็งปอด

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก

ปกติมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก จะไม่แสดงอาการจนกว่ามะเร็งจะผ่านระยะลุกลามไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การตรวจวินิจฉัยที่แตกต่างกันก็ช่วยให้ค้นพบโรคได้ในระยะแรกเริ่ม โดยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็กสามารถตรวจพบได้จากการตรวจดังต่อไปนี้

  • การตรวจเอกซเรย์หน้าอก ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพรายละเอียดที่ชัดเจนของปอด
  • การตรวจซีที สแกน ซึ่งช่วยทำให้เห็นภาพเอกซเรย์ส่วนตัดของปอดได้อย่างหลากหลาย
  • การตรวจเอ็มอาร์ไอ ซึ่งใช้เทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ในการตรวจจับและระบุตำแหน่งเนื้อร้าย
  • การส่องกล้องตรวจภายในหลอดลม โดยการใช้ท่อขนาดเล็กที่ติดกับกล้องและแสงไฟ สำหรับส่องดูปอดและโครงสร้างอื่นๆ
  • การตรวจเสมหะ ซึ่งจะนำของเหลวที่ได้จากปอดคนไข้เวลาไอ นำไปตรวจวิเคราะห์

นอกจากนี้ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็กยังสามารถตรวจพบได้ระหว่างขั้นตอนการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด โดยแพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองโรค หากคนไข้มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอด โดยพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • มีอายุระหว่าง 55-75 ปี
  • มีสุขภาพดีพอสมควร
  • สูบบุหรี่มากกว่าปีละ 30 ซอง
  • ยังคงสูบบุหรี่อยู่ หรือเลิกสูบไปแล้วในระยะ 15 ปี

ถ้าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก แพทย์จะทำการสั่งตรวจอีกหลายชนิดก่อนทำการวินิจฉัย การตรวจอื่น ๆ ประกอบไปด้วย

  • การเจาะเลือด (CBC) เพื่อนับความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
  • การใช้เข็มขนาดเล็กเจาะไปที่ปอด เพื่อดูดเนื้อเยื่อนำไปวิเคราะห์
  • เอกซเรย์หน้าอก เพื่อตรวจหามะเร็งในปอด
  • การตรวจย้อมเชื้อ เพื่อค้นหาเซลล์ในปอดที่ผิดปกติ
  • ตรวจซีที สแกนหรือเอ็มอาร์ไอ เพื่อตรวจหาเนื้อร้ายในส่วนอื่นของร่างกาย
  • สแกนกระดูก เพื่อค้นหามะเร็งกระดูก

การรักษา มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก

เนื่องจากมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก มักถูกค้นพบในช่วงระยะสุดท้ายของโรค บ่อยครั้งการรักษาในเชิงรุกจึงถูกนำมาใช้

ในกรณีที่เป็นไปได้ การรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก อาจใช้แนวทางการรักษาประเภทต่าง ๆ ร่วมกันทั้งการใช้เคมีบำบัด การฉายรังสี และการผ่าตัด โดยแพทย์เฉพาะทางในแต่ละด้านจะร่วมมือกัน เพื่อค้นหาแนวทางรักษาที่ดีที่สุดต่อคนไข้ตามแต่ละกรณี

แพทย์จะสั่งยาหลายตัวให้คุณใช้เพื่อช่วยควบคุมอาการ รวมถึงอาจมีคำสั่งให้มีการดูแลเป็นพิเศษ

การรักษาโดยการใช้เคมีบำบัดผ่านการรับประทาน หรือฉีดยาทางหลอดเลือดดำ มักถูกนำมาใช้ควบคู่ไปกับการฉายรังสี โดยถือว่าเป็นวิธีรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็กที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากเนื้อร้ายสามารถเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็กส่วนใหญ่ยังสามารถตอบสนองต่อการฉายรังสีได้ดีด้วย

ในบางกรณี การฉายรังสีอาจถูกนำมาใช้รักษาเพิ่มเติม หลังผ่านการรับเคมีบำบัดได้ประมาณ 3-4 เดือน

ส่วนตัวเลือกการรักษาด้วยการผ่าตัด มีดังต่อไปนี้

  • การตัดปอดแบบลิ่ม คือการตัดเนื้อร้ายพร้อมกับบางส่วนของเนื้อปอด ที่ได้รับผลกระทบออกไป
  • การผ่าตัดกลีบปอดทิ้งหนึ่งข้าง (Lobectomy)
  • การผ่าตัดกลีบปอดทิ้งสองข้าง (Bilobectomy)
  • การผ่าตัดปอดทิ้งทั้งข้าง (Pneumonectomy)
  • การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองทิ้ง

ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็กระยะไหน เพศสภาพ อายุ ประวัติครอบครัว ไลฟ์สไตล์ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ล้วนแต่ส่งผลต่อโอกาสในการรักษาทั้งสิ้น

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยรับมือกับมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก

ไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองต่อไปนี้ อาจช่วยให้คนไข้อยู่ร่วมกับมะเร็งปอดเซลล์ขนาดเล็กได้ดีมากขึ้น

  • พูดคุยกับแพทย์ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสภาวะของตัวเองและความเป็นไปได้ในการรักษา นอกจากนี้ คนไข้ยังสามารถค้นหาข้อมูลออนไลน์เพื่อช่วยเพิ่มความเข้าใจ รวมถึงควบคุมสถานการณ์ ทางอารมณ์ความรู้สึกได้ดีมากยิ่งขึ้น
  • ค้นหาวิธีปลดปล่อยอารมณ์ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการพบนักบำบัด หรือเลือกที่จะบำบัดด้วยศิลปะและดนตรี หรือบางคนก็เลือกที่จะจัดระเบียบความคิดของตัวเองต่อไป หลายคนเข้าร่วมกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งเพื่อพูดคุยและแบ่งปันประสบการณ์ของแต่ละคนว่าต้องผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้าง ลองปรึกษาแพทย์เรื่องกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งในพื้นที่ และคนไข้ยังสามารถค้นหากลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งทางออนไลน์ได้เช่นกัน
  • สิ่งสำคัญคือร่างกายและจิตใจต้องมีความสุข รับประทานอาหารให้อิ่มและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การใช้เวลาอยู่ร่วมกับครอบครัวและเพื่อน ก็สามารถกระตุ้นความสดใสและช่วยเพิ่มพลังงานระหว่างการรักษาได้เป็นอย่างดี

หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Small cell lung cancer: Symptoms, treatment, and outlook. https://www.medicalnewstoday.com/articles/316466.php. Accessed October 30, 2017

Small Cell Lung Cancer Treatment (PDQ®)–Patient Version. https://www.cancer.gov/types/lung/patient/small-cell-lung-treatment-pdq. Accessed July 27, 2021

Small Cell Lung Cancer. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK482458/. Accessed July 27, 2021

Small Cell Lung Cancer. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/6202-small-cell-lung-cancer. Accessed July 27, 2021

Small-cell lung cancer. https://www.nature.com/articles/s41572-020-00235-0. Accessed July 27, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/12/2023

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ควันธูป ตัวการร้าย สร้างภัย มะเร็งปอด

ผู้ป่วยมะเร็งปอดเบื่ออาหาร จะดูแลและจัดการอย่างไรดี


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 12/12/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา