backup og meta

ไขข้อข้องใจทำไมต้องรีบ ตรวจเต้านม


เขียนโดย Jittraporn Pichaikarn · แก้ไขล่าสุด 31/08/2021

    ไขข้อข้องใจทำไมต้องรีบ ตรวจเต้านม

    มะเร็งเต้านม ภัยเงียบของผู้หญิงที่มักมาเยือนอย่างไม่ทันตั้งตัว หลายคนเข้าใจว่าโรคนี้จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงในวัยผู้ใหญ่ หรือ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ภัยเงียบนี้เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกวัย เพราะอาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม แต่จะมาแสดงออกเมื่ออายุมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการแนะนำให้ผู้หญิงเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเมื่ออายุเริ่มเข้า 30 ปี และทำเป็นประจำทุกปี

    หากเราคิดว่าการ ตรวจเต้านม เป็นเรื่องไกลตัว ข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นคือ มาตรวจพบโรคมะเร็งเต้านมเมื่อโรคอยู่ในระยะลุกลามแล้ว ทำให้ต้องใช้การรักษาหลายขั้นตอนและอาจไม่สามารถหายกลับมาเป็นปกติได้หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

    ระยะของมะเร็งเต้านม

    มะเร็งเต้านมระยะที่ 0

    ระยะเริ่มต้นของเซลล์มะเร็ง ที่ยังไม่ลุกลามออกมาจากเซลล์เต้านมและเมื่อตรวจพบไว จะทำให้รักษาได้หายขาด

    มะเร็งเต้านมระยะที่ 1

    เป็นระยะเริ่มแรกที่มะเร็งยังคงอยู่เฉพาะในเต้านม ซึ่งในระยะนี้อาจจะยังคลำหาก้อนผิดปกติในเต้านมไม่เจอและไม่มีอาการบ่งชี้ รวมทั้งยังไม่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองและส่วนอื่นของร่างกาย หากรีบรักษา ยังคงหายขาดได้

    มะเร็งเต้านมระยะที่ 2

    ในระยะนี้ก้อนมะเร็งจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ประมาณ 2-5 ซ.ม. และอาจเริ่มลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้

    มะเร็งเต้านมระยะที่ 3

    ถือเป็นระยะลุกลาม เซลล์มะเร็งจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมากกว่า 5 ซ.ม. เมื่อคลำตามเต้านมจะรู้สึกถึงความผิดปกติ รวมถึงมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้โต เพราะมีการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้น

    มะเร็งเต้านมระยะที่ 4

    สำหรับระยะสุดท้ายนั้น เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ปอด สมอง กระดูก เป็นต้น

    ดังนั้น การตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรก จึงเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาด และลดความเสี่ยงการเกิดโรคซ้ำได้เช่นกัน ในทางกลับกัน เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะที่มะเร็งเริ่มลุกลาม การรักษาจะยากขึ้นและโอกาสการหายขาดจะลดลง

    มะเร็งเต้านมไม่แสดงอาการ การตรวจอย่างสม่ำเสมอ คือ หัวใจสำคัญ เพราะไม่มีอาการใช่ว่าจะปลอดภัย การคลำไม่เจอก้อนเนื้อใช่ว่าไม่มีความเสี่ยง ภัยเงียบนี้อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะกับผู้หญิงวัย 35 ปีขึ้นไป การตรวจเช็กเป็นประจำจึงเป็นเรื่องจำเป็น สามารถทำได้ตั้งแต่ตรวจด้วยตนเอง ไปจนถึงขั้นตอนละเอียดที่ต้องใช้เครื่องแมมโมแกรม

    การตรวจมะเร็งเต้านม

    การตรวจมะเร็งเต้านม ทำได้ 3 วิธี ดังนี้

  • ตรวจมะเร็งด้วยตนเอง
  • ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยแพทย์
  • ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม
  • 1. ตรวจเต้านม ด้วยตนเอง ควรเริ่มเมื่ออายุ 25 ปี

    วิธีนี้เป็นขั้นตอนที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด ควรสังเกตเต้านมทั้ง 2 ข้างเป็นประจำ ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ แต่การคลำควรทำหลังจากหมดประจำเดือน เนื่องจากเต้านมจะลดความตึงลง ทำให้คลำได้ง่ายกว่าช่วงเวลาอื่น ตามวิธีการดังนี้

    1. ยืนหน้ากระจก ดูว่าเต้านมเท่ากันหรือไม่ ผิวเต้านมมีรอยบุ๋มหรือหัวนมบิดเบี้ยวผิดปกติไหม โดยการสำรวจความผิดปกตินั้นทำได้ด้วยการปล่อยมือสบาย ๆ ไว้ข้างลำตัวหรือประสานมือเหนือศีรษะ รวมทั้งการเท้าเอวจะช่วยให้เห็นความผิดปกติได้ง่ายขึ้น
    2. นอนในแนวราบ ยกแขนข้างที่จะตรวจรองใต้ศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างคลำเต้านมให้ทั่ว โดยอาจจะคลำวนเป็นก้นหอยหรือคลำเป็นส่วน ๆ ของเต้านมไปจนทั่ว หากสัมผัสแล้วรู้สึกถึงก้อนเนื้อควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาความผิดปกติอย่างละเอียด
    3. บีบหัวนม ดูว่ามีเลือดหรือของเหลวไหลออกมาหรือไม่ หากมีอาการดังกล่าวต้องให้แพทย์ตรวจเพิ่มว่ามีสาเหตุมาจากมะเร็งเต้านมหรือไม่

    2. ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยแพทย์ ควรเริ่มเมื่ออายุ 30 ปี

    เมื่ออายุเข้าสู่เลข 3 การตรวจด้วยตนเองอาจไม่เพียงพอ เพราะวิธีการตรวจอาจไม่ละเอียดเท่ากับให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญช่วยพิจารณา คุณควรไปพบแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน โดยในระหว่างนี้ ยังจำเป็นต้องตรวจเต้านมด้วยตนเองร่วมด้วย เพื่อสังเกตความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง และรีบพบแพทย์ได้ทันเวลา

    3. ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม อาจเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 35 ปี

    การตรวจด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากและมีความแม่นยำที่สุด เพราะเป็นการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษคล้ายเครื่องเอกซเรย์ ซึ่งทำให้เห็นความผิดปกติตั้งแต่การก่อตัวของเซลล์มะเร็งระยะเริ่มแรก ซึ่งไม่สามารถทำได้จากการตรวจด้วยตนเองหรือแพทย์ จึงเป็นการตรวจที่ช่วยให้เจอมะเร็งเร็วและลดอัตราการเสียชีวิตลงได้เป็นอย่างดี แนะนำตรวจหลังประจำเดือน 7-14 วัน

    มะเร็งเต้านม รู้ไว หายทัน การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นหัวใจสำคัญช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วย วิธีการตรวจนั้นอาจแตกต่างกันตามวัย แต่ควรให้ความสำคัญและทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าเราพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และเพื่อให้แพทย์ช่วยวินิจฉัยและหาวิธีรักษาได้อย่างเหมาะสม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด


    เขียนโดย Jittraporn Pichaikarn · แก้ไขล่าสุด 31/08/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา