ตรวจเบาหวานคนท้อง งดอาหาร หรือไม่ หากงดต้องงดกี่ชั่วโมง เป็นคำถามที่คนท้องต้องการทราบคำตอบเพื่อเตรียมพร้อมก่อนไปหาคุณหมอ โดยทั่วไป การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบจีซีที (Glucose Challenge Test หรือ GCT) ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คนท้องไม่จำเป็นต้องงดอาหารหรือเครื่องดื่มคืนก่อนตรวจ แต่สำหรับผู้ที่คุณหมอนัดหมายให้มาตรวจแบบโอจีทีที (Oral glucose tolerance test หรือ OGTT) ซึ่งเป็นการทดสอบความทนทานต่อน้ำตาลของร่างกายโดยการดื่มสารละลายกลูโคส เพื่อคัดกรองภาวะก่อนเบาหวาน เบาหวานชนิดที่ 2 และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ผู้ที่จะเข้ารับการตรวจต้องงดอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงาน ก่อนเข้ารับการทดสอบอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
[embed-health-tool-bmi]
เบาหวานคนท้อง คืออะไร
เบาหวานคนท้องหรือโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) เป็นโรคเบาหวานชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นขณะท้อง มีสาเหตุจากรกผลิตฮอร์โมนที่ยับยั้งประสิทธิภาพการทำงานของอินซูลิน เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากตับอ่อนซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงน้ำตาลไปเป็นพลังงานให้แก่เซลล์ต่าง ๆ เมื่อร่างกายมีอินซูลินไม่เพียงพอ ก็จะส่งผลให้มีน้ำตาลสะสมอยู่ในกระแสเลือด จนเกิดเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์แม้ว่าภาวะนี้จะหายไปเองหลังคลอด แต่ผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นทั้งรวมทั้งทารกในครรภ์ด้วย เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะครรภ์แฝดน้ำ (Polyhydramnios) การคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวมากกว่า 4 กิโลกรัม ทารกแรกเกิดมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (เนื่องจากร่างกายผลิตอินซูลินปริมาณมากเพื่อรับมือกับระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขณะอยู่ในครรภ์)
ตรวจเบาหวานคนท้อง ควรตรวจเมื่อท้องได้กี่เดือน
คนท้องอาจพัฒนาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในระยะใดก็ได้ แต่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 24-28 สัปดาห์ สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ในบางราย คุณหมออาจตรวจคัดกรองระหว่างการตรวจครรภ์ครั้งแรก
กลุ่มเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ คนท้องที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
- มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือเป็นโรคอ้วน
- ไม่ค่อยขยับร่างกาย มักอยู่เฉย ๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวัน
- มีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes)
- เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อนในครรภ์ที่ผ่านมา
- มีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS)
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวานมาก่อน
- เคยคลอดทารกที่มีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม
ตรวจเบาหวานคนท้อง งดอาหาร ล่วงหน้ากี่ชั่วโมง
การตรวจเบาหวานคนท้องมีทั้งวิธีที่ไม่ต้องงดอาหารและวิธีที่ต้องงดอาหารมาล่วงหน้า ดังนี้
- ตรวจเบาหวานคนท้อง แบบไม่งดอาหาร
การตรวจเบาหวานคนท้องแบบจีซีที ไม่จำเป็นต้องงดอาหารมาล่วงหน้า และสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติก่อนวันตรวจ เมื่อถึงสถานพยาบาล คุณแม่จะได้ดื่มน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม แล้วรอ 1 ชั่วโมง จากนั้นเข้ารับการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ในกรณีที่ระดับน้ำตาลในเลือดมีค่าน้อยกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่า ผลเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แต่หากผลเลือดออกมาว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป คุณหมอจะนัดหมายให้กลับมาตรวจซ้ำเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง
- ตรวจเบาหวานคนท้อง งดอาหาร
การตรวจในขั้นตอนที่ 2 คือการตรวจแบบโอจีทีที เป็นการทดสอบความทนทานต่อน้ำตาลของร่างกายเพื่อดูว่าร่างกายมีความสามารถในการจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้มากน้อยเพียงใด วิธีนี้จำเป็นต้องงดอาหารเเละเครื่องดื่มที่ให้พลังงานอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการทดสอบ และได้รับการเจาะเลือดตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือดทั้งหมด 4 ครั้ง ตามขั้นตอนดังนี้
- เจาะเลือดครั้งที่ 1 เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร
- ดื่มสารละลายกลูโคสปริมาณ 100 กรัม หลังจากนั้นรอเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลหลังดื่มสารละลายกลูโคสไปแล้วที่ 1, 2 และ 3 ชั่วโมงตามลำดับ
ระหว่างการเจาะเลือดเเต่ละครั้ง ต้องงดอาหารเเละเครื่องดื่มด้วยจนกว่าจะการตรวจจะเสร็จสิ้น
เกณฑ์ของการทดสอบระดับน้ำตาล 3 ชั่วโมง
หากผลตรวจสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ ตั้งแต่ 2 ค่าขึ้นไป จะถือว่าคุณแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และจะต้องรับการรักษาและดูแลครรภ์อย่างเหมาะสมไปตลอดการตั้งครรภ์โดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ
- ค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารควรน้อยกว่า 95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 1 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 2 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 155 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 3 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
วิธีเตรียมตัวก่อนไปตรวจเบาหวานคนท้อง
วิธีเตรียมตัวก่อนไปตรวจเบาหวานคนท้อง ควรปฏิบัติดังนี้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอประมาณ 7-9 ชั่วโมง/วัน
- รับประทานอาหารตามปกติและดื่มน้ำให้มาก ๆ
- จำกัดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล เช่น ข้าวขาว ขนมปัง เครื่องดื่มเติมน้ำตาล ผลไม้รสหวาน รวมไปถึงอาหารที่มีไขมันสูง
- ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้ขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไปหรือไม่เกิน 2-4 กิโลกรัม/เดือน
- ในกรณีที่คุณหมอนัดให้มาตรวจซ้ำเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง คุณแม่ควรงดอาหารเเละเครื่องดื่มที่ให้พลังงานอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนตรวจ (แต่ไม่เกิน 14 ชั่วโมง) โดยสามารถดื่มน้ำเปล่าได้