backup og meta

เมนูอาหารคนเป็นเบาหวานและความดัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 26/01/2022

    เมนูอาหารคนเป็นเบาหวานและความดัน

    คนเป็นเบาหวานและความดันสามารถรับประทานอาหารได้เกือบทุกชนิด แต่ควรให้ความสำคัญกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและปริมาณไขมันในอาหาร เนื่องจากแป้ง น้ำตาล และไขมันในอาหารเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือไขมันอุดตันในเส้นเลือด อย่างไรก็ตาม การเลือกเมนูอาหารสำหรับคนเป็นเบาหวานและความดัน ควรเลือกให้หลากหลาย เน้นเมนูที่อุดมไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน และใยอาหาร เพราะอาจช่วยส่งเสริมและพื้นฟูสุขภาพ ทำให้ระบบไหลเวียนเลือด และระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ทำให้ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดเพิ่มขึ้นจนทำให้อาการของโรคแย่ลง

    สารอาหารสำหรับคนเป็นเบาหวานและความดัน

    คนเป็นเบาหวานและความดันควรเลือกรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร และควรควบคุมปริมาณน้ำตาลกับไขมันไม่ให้มากเกินไป โดยสามารถวางแผนการรับประทานอาหารด้วยการเลือกประเภทอาหาร ดังนี้

    • คาร์โบไฮเดรต เป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย เมื่อรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง น้ำตาล ร่างกายจะย่อยสลายอาหารให้กลายเป็นน้ำตาลกลูโคสและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อใช้เป็นพลังงาน แต่หากมีน้ำตาลส่วนเกินสะสมอยู่มากอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และน้ำตาลที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้เป็นพลังงานถูกเก็บไว้ในรูปแบบของไขมันแทน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ความดันสูงได้เช่นกัน คนเป็นเบาหวานและความดันจึงควรเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่มีใยอาหารหรือไฟเบอร์สูง แป้งและน้ำตาลน้อย เช่น ธัญพืชเต็มเมล็ดไม่ขัดสี พืชตระกูลถั่ว ข้าวกล้อง เพื่อช่วยควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป
    • โปรตีน เป็นสารอาหารที่ให้พลังงาน ทั้งยังเป็นส่วนประกอบของเซลล์และเนื้อเยื่อ และช่วยในการฟื้นฟูและซ่อมแซมเนื้อเยื่อและเซลล์ที่เสียหาย คนเป็นเบาหวานและความดันจึงควรได้รับโปรตีนทุกวัน แต่ควรจำกัดปริมาณและชนิดของโปรตีนให้เหมาะสม เช่น เลือกนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำแทนนมเต็มส่วน เลือกเนื้อสัตว์ไม่ติดมันและไม่ติดหนัง เลือกโปรตีนจากปลาที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 อย่างปลาแซลมอน ทูน่า ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน เป็นต้น เพราะอาจช่วยป้องกันความดันโลหิตสูงได้
    • ใยอาหาร หรือไฟเบอร์ เป็นสารอาหารที่กรดในกระเพาะอาหารและเอนไซม์ในลำไส้เล็กไม่สามารถย่อยหรือดูดซึมได้ จึงอยู่ในระบบทางเดินอาหารได้นานและมีส่วนช่วยควบคุมการย่อยอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือด และการดูดซึมไขมัน อาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ทุกชนิด ถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี
    • ไขมันดี อาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวและไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน เช่น อะโวคาโด พืชตระกูลถั่ว น้ำมันคาโนลา น้ำมันมะกอก เหมาะกับคนเป็นเบาหวานและความดัน เพราะช่วยลดการอุดตันของคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด เพิ่มการไหลเวียนโลหิต ทำให้ความดันลดลง ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ได้ง่าย การลดคอเลสเตอรอลในผู้ป่วยเบาหวานจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนดังกล่าวได้

    เมนูอาหารคนเป็นเบาหวานและความดัน

    ตัวอย่างเมนูอาหารที่เหมาะสำหรับคนเป็นเบาหวานและความดัน เช่น

    1. ราดหน้าปลาเต้าซี่พริกหวาน

    เมนูนี้ให้พลังงาน 460.35 กิโลแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 48.3 กรัม โปรตีน 27.3 กรัม และไขมัน 17.4 กรัม

    วัตถุดิบที่นำมาทำราดหน้าปลาเต้าซี่พริกหวาน อาจมีสารประกอบที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด เช่น สารแคปไซซินในพริกอาจช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน เพิ่มการเผาผลาญน้ำตาล ส่วนเนื้อปลาก็อาจมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่เป็นไขมันดี ซึ่งอาจช่วยลดระดับความดันโลหิตและลดภาวะแทรกซ้อนโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Hypertension เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2541 ทำการวิจัยเกี่ยวกับผลของการรับประทานปลาและการลดน้ำหนักที่มีต่อระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มีน้ำหนักเกิน พบว่า การรับประทานปลาและอาหารทะเลที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นประจำควบคู่กับการลดน้ำหนัก ช่วยลดระดับความดันโลหิตและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetes & Metabolism เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546 ทำการวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อมโยงกันของการบริโภคปลากับอาหารทะเล โรคอ้วน และความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความชุกของโรคเบาหวานและโรคอ้วนจาก 41 ประเทศใน 5 ทวีปที่มีความแตกต่างด้านสังคมและประชากร รวมถึงการจัดการด้านสุขอนามัย พบว่า การบริโภคปลาและอาหารทะเลในปริมาณมากอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในกลุ่มประชากร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ความชุกของโรคอ้วนสูงได้

    งานวิจัยอีกชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสารแคปไซซินและภาวะเมแทบอลิกซินโดรมหรือภาวะอ้วนลงพุง พบว่า สารประกอบสำคัญในพริกอย่างแคปไซซินอาจมีส่วนช่วยปรับปรุงการเผาผลาญกลูโคส กระตุ้นปฏิกิริยาออกซิเดชันของกรดไขมัน ช่วยปรับปรุงความไวของอินซูลินและความเข้มข้นของน้ำตาลในเลือด ทั้งยังช่วยลดไขมันในร่างกาย และปรับปรุงการทำงานของหัวใจและตับด้วย

    1. บร็อคโคลี่ผัดเห็ดหอม

    เมนูนี้ให้พลังงาน 140 กิโลแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 56 กรัม โปรตีน 4 กรัม และไขมัน 9 กรัม

    บร็อคโคลี่และเห็ดหอมมีใยอาหารสูง และมีสารประกอบหลายชนิดที่อาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสารที่ทำลายเซลล์และทำให้เกิดการอักเสบ ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ทั้งยังช่วยปรับปรุงการทำงานของเซลล์ ซึ่งอาจส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานและโรคอ้วนลดลง

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Hypertension เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการบริโภคผักและผลไม้และและอุบัติการณ์ของภาวะความดันโลหิตสูง พบว่า การรับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้นในระยะยาวรวมถึงการรับประทานผักผลไม้ทั้งผล คือ รับประทานทั้งเปลือกและเนื้อ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้ โดยเฉพาะการรับประทานบร็อคโคลี่ แครอท เต้าหู้หรือถั่วเหลือง ลูกเกด และแอปเปิ้ล

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร 3 Biotech เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสามารถในการรักษาโรคเบาหวานและโรคอ้วนของเห็ดชนิดกินได้ พบว่า เห็ดอุดมไปด้วยใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ไตรเทอร์พีนอยด์ (Triterpenoids) อัลคาลอยด์ (Alkaloid) ไฟโตเคมิคอล (Phytochemicals) ซึ่งอาจช่วยปรับการทำงานของเซลล์หรือกระบวนการทางชีวเคมีในร่างกาย ส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนและโรคเบาหวานลดลง ทั้งยังอาจทำให้อาการของโรคดีขึ้นด้วย

    1. ต้มจืดตำลึงหมูสับ

    เมนูนี้ให้พลังงาน 320 กิโลแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 7.4 กรัม โปรตีน 43.8 กรัม และไขมัน 14.2 กรัม

    เมนูต้มจืดตำลึงให้สารอาหารครบถ้วนทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน ทั้งยังมีน้ำตาลน้อย และมีประโยชน์จากตำลึงซึ่งอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น โพลีฟีนอล ฟลาโวนอยด์ ซาโปนิน ที่ช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน และอาจป้องกันโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Traditional and Complementary Medicine เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 ทำการวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติในการกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน การต้านอนุมูลอิสระ การต้านกระบวนการไกลเคชั่น (Antiglycation) ซึ่งเป็นกระบวนการที่น้ำตาลในผิวหนังจับตัวกับคอลลาเจนและอีลาสตินในผิวจนอาจส่งผลให้เกิดริ้วรอยและแก่ก่อนวัย และความเป็นไปได้ในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานของตำลึง พบว่า ตำลึงอาจมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น โพลีฟีนอล (Polyphenols) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ซาโปนิน (Saponins) ที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้ ยังอาจช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลินหรือการตอบสนองต่ออินซูลิน ซึ่งส่งผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน

    1. สลัดผักทูน่า

    เมนูนี้ให้พลังงาน 46.24 กิโลแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 22.24 กรัม โปรตีน 14.26 กรัม และไขมัน 1.32 กรัม

    เมนูสลัดผักทูน่ามีผักที่มีใยอาหารสูงหลายชนิดและมีปลาทูน่าที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งอาจส่งผลดีต่อคนเป็นเบาหวานและความดันสูง นอกจากนี้ ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานและความดันสูง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ได้ด้วย

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Cardiology เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคปลาทูน่าหรือปลาย่างหรือปลาอบกับโครงสร้างหัวใจ การทำงานของหัวใจ และการไหลเวียนโลหิต เมื่อเปรียบเทียบกับการบริโภคปลาทอด พบว่า การบริโภคปลาทูน่า ปลาย่าง หรือปลาอบเชื่อมโยงกับสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดที่ดีขึ้น ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว และภาวะหัวใจล้มเหลวได้ด้วย

    อาหารที่คนเป็นเบาหวานและความดันควรหลีกเลี่ยง

    คนเป็นเบาหวานและความดันควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และโซเดียมสูง เช่น ข้าวขาว ธัญพืชไม่ขัดสี เค้ก คุกกี้ น้ำหวาน น้ำผลไม้ เนื้อแดง เนื้อแปรรูป อาหารแปรรูป น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม เพราะอาจมีส่วนทำให้น้ำตาลและไขมันในเลือดสูงขึ้น จนควบคุมอาการของโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้ยาก ทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ได้ด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 26/01/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา