backup og meta

ตุ่ม เบาหวาน มีลักษณะอาการอย่างไร รักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/01/2023

    ตุ่ม เบาหวาน มีลักษณะอาการอย่างไร รักษาได้อย่างไร

    ตุ่ม เบาหวาน เป็นภาวะแทรกซ้อนทางผิวหนังชนิดหนึ่งของโรคเบาหวาน อาจมีลักษณะเป็นได้ทั้งตุ่มน้ำใส ตุ่มสีเหลือง มักเกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานสูงเกินไป ตุ่มเบาหวานส่วนมากมักพบบริเวณมือ ขา หรือเท้าของผู้ป่วย และอาจหายไปเองหากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

    เบาหวานคืออะไร

    เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเนื่องจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ลดลงหรือผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หรือเซลล์ในร่างกายผิดปกติทำให้การตอบสนองต่ออินซูลินบกพร่อง จึงมีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากตรวจระดับน้ำตาลในเลือดช่วงที่อดอาหารแล้วสูงกว่า 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะเข้าเกณฑ์วินิจฉัยหนึ่งของโรคเบาหวาน

    หากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงเรื้อรัง ไม่ควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคเส้นประสาทจากเบาหวาน ภาวะเบาหวานขึ้นตา รวมถึงความผิดปกติบริเวณผิวหนัง เช่น ตุ่ม เบาหวาน 

    ตุ่มเบาหวาน มีลักษณะอย่างไร

    ผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจพบผื่นหรือตุ่มน้ำลักษณะต่าง ๆ ตามร่างกาย ซึ่งมีชื่อเรียกและรายละเอียดดังต่อไปนี้

    • ตุ่มน้ำใส พบได้ไม่บ่อยนัก อาจปรากฏที่บริเวณขา เท้า หรือนิ้วเท้าของผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคเส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดตุ่มน้ำที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเป็นผลจากการติดเชื้อรา การบาดเจ็บบริเวณดังกล่าว หรือระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี
    • อีรัปทีพ แซนโทมาโตซิสม (Eruptive Xanthomatosis) มีลักษณะเป็นตุ่มนูน อาจพบได้เมื่อมีภาวะคอเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย คาดว่าผื่นชนิดนี้เกี่ยวข้องกับภาวะดื้ออินซูลิน อีรัปทีฟ แซนโทมาโตซิสมักพบบริเวณหลังมือ ข้อเท้า ขา หรือสะโพก และผื่นในช่วงแรกจะมีลักษณะคล้ายกับตุ่มสิว ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มสีเหลือง
    • ผื่นแกรนูโลมาแอนนูลาเร (Granuloma Annulare) เป็นผื่นวงกลมสีแดงหรือม่วง มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดประมาณ 2 นิ้ว อาจพบได้ตามมือ เท้า ข้อมือ หรือหน้าแข้ง

    ตุ่ม เบาหวาน รักษาได้อย่างไร

    ปกติแล้ว ตุ่มน้ำใสและแซนโทมาโตซิสมักหายไปเองเมื่อผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ ทั้งนี้ วิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี สามารถทำได้ดังนี้

    • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที หรืออย่างน้อยครั้งละ 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อควบคุมน้ำหนักและช่วยกระตุ้นให้เซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น
    • เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน ได้แก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ และธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวโอ๊ต คีนัว ข้าวฟ่าง ข้าวกล้อง ซึ่งจะไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงมากจนเกินไป นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ประกอบด้วยแป้งขัดขาวและน้ำตาลสูง เช่น ข้าวขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมหวานและเบเกอรี เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล
    • นอนหลับให้เพียงพอ หรือประมาณ 7-9 ชั่วโมง/วัน เพราะหากพักผ่อนไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความหิวเพิ่มขึ้น มีผลให้ผู้ป่วยอยากอาหารประเภทแป้งหรือน้ำตาลมากกว่าเดิม และทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น
    • ฉีดอินซูลิน ยาฉีดอินซูลินเป็นอินซูลินสังเคราะห์ซึ่งออกฤทธิ์เสมือนกับฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อน จึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ผู้ป่วยเบาหวานที่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน ควรฉีดตามขนาดและเวลาที่คุณหมอแนะนำเพื่อให้สามารถควมคุมน้ำตาลในเลือดได้ตามเป้าหมาย โดยที่ไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ
    • รับประทานยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด ยารักษาเบาหวานชนิดรับประทานในปัจจุบันมีหลายชนิด ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดผ่านกลไกที่ต่างกันออกไป โดยคุณหมอจะพิจารณาเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายให้มากที่สุด ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลในเลือด โรคร่วม พฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งนี้ควรรับประทานยาให้สม่ำเสมอเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย

    สำหรับผื่นแกรนูโลมาแอนนูลาเรมักหายเองได้ และอาจหายเร็วขึ้นหากผู้ป่วยเบาหวานได้รับการรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้

    • การรักษาด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ในรูปแบบยาทาหรือครีม หรือฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าร่างกาย
    • การรักษาผื่นด้วยรังสียูวี

    การรักษาสุขภาพผิวหนังสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

    หากควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี อาจทำให้เสี่ยงเกิดปัญหาผิวหนังอื่น ๆ นอกเหนือจาก ตุ่ม เบาหวาน ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานอาจดูแลผิวหนังของตนเองให้มีสุขภาพดีได้ด้วยคำแนะนำต่อไปนี้

  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวขาดน้ำเนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง 
  • ทำความสะอาดร่างกายและเช็ดผิวให้แห้งอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการเกาหากมีอาการคันเพราะผิวแห้ง เพราะอาจทำให้เกิดแผล ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อแทรกซ้อนได้
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรือเย็นจัด เพราะจะทำให้ผิวยิ่งระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า แนะน้ำให้สวมถุงเท้าและรองเท้าเสมอ แม้อยู่ภายในบ้าน เพราะการกระทบกระแทกที่ไม่ทันระวังอาจทำให้เกิดแผลที่เท้า และแผลอาจหายช้าหรือติดเชื้อได้
  • ไปพบคุณหมอ หากผิวหนังผิดปกติ เช่น เกิดตุ่มน้ำใส แผลหายช้า มีผื่นคันโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา