backup og meta

เท้า กับโรคเบาหวาน ดูแลรักษาอย่างไร

เท้า กับโรคเบาหวาน ดูแลรักษาอย่างไร

เท้า เป็นอวัยวะที่มักได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรคเบาหวานเนื่องจาก หากผู้ป่วยเบาหวานปล่อยให้มีระดับน้ำตาลสูงเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้เส้นประสาทและเส้นเลือดของเท้าเสียหาย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลและติดเชื้อได้ง่ายว่าคนทั่วไป รวมทั้งแผลหายช้า ป หรืออาจรุนแรงจนเนื้อเน่าและอาจถึงขั้นต้องตัดเท้าได้  อย่างไรก็ตาม เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรดูแลและรักษาสุขภาพเท้าของตนอยู่เสมอด้วยการทำความสะอาดเท้า และดูแลมิให้อับชื้น รวมทั้งสวมใส่รองเท้าตลอดเวลาเพื่อป้องกันมิให้เกิดแผล

[embed-health-tool-bmi]

เบาหวาน คืออะไร

เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ที่มีภาวะนี้จะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ คือ สูงตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป เมื่อตรวจหลังจากอดอาหารเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 8ชั่วโมง เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือ ร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้การสมดุลการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดบกพร่อง และมีน้ำตาลในกระแสเลือดสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่โรคเบาหวานตามมา 

หากผู้ที่เป็นเบาหวานปล่อยให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงโดยไม่รักษาอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย รับประทานยาหรือฉีดอินซูลิน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะเบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงเท้า ในอนาคตได้ 

เท้า ได้รับผลกระทบจากโรคเบาหวานอย่างไรบ้าง

การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพเท้า หรือเกิดอาการเบาหวานลงเท้า ดังนี้

  • เส้นประสาทเสียหายหรือผิดปกติ เมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรัง สามารถทำให้เส้นเลือดฝอยที่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทต่าง ๆ ได้รับความเสียหาย จึงทำให้เส้นประสาทนั้น ๆ ทำงานผิดปกติไป เมื่อเกิดกับเส้นประสาทส่วนที่ควบคุมบริเวณเท้า จึงทำให้เท้าชา และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มเติมอีกด้วย เนื่องจากผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกเจ็บเมื่อเกิดแผล จึงไม่ทันได้สังเกต อาจปล่อยไว้โดยไม่ทันรักษาให้ถูกต้อง และอาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงมากขึ้นได้
  • แผลหายช้า เนื่องจากผนังของหลอดเลือดในร่างกายเสื่อมลง รวมทั้งมีไขมันมาสะสม จึงทำให้หลอดเลือดตีบหรืออาจอุดตัน ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติไป เมื่อเกิดบาดแผล ผู้ป่วยเบาหวานจึงอาจหายช้ากว่าปกติ เนื่องจากออกซิเจนและแร่ธาตุที่สำคัญต่าง ๆ  ไม่สามารถไหลไปกับกระแสเลือดเพื่อไปกระตุ้นกระบวนการสมานรักษาบาดแผลได้ตามปกติ

นอกจากนี้ หากควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงยังส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น

  • ฝี เมื่อผู้ป่วยเบาหวานมีการติดเชื้ออาจลุกลามจนเกิดเป็นฝีหนองตามมาได้ เนื่องจากการที่ไม่ควบคุมระดับน้ำตาล จะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ โดยฝีหนองสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในชั้นผิดหนัง และรวมทั้งอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ ม้าม กระดูก ซึ่งจะเป็นจะต้องรักษาโดยการผ่าตัดระบายหนอง ก
  • เนื้อตายเน่า หากผู้ป่วยเบาหวานปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานโดยไม่ควบคุมหรือรักษาให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย อาจทำให้เส้นเลือดอุดตัน ส่งผลทำให้เนื้อเยื่อขาดเลือดและเกิดเป็นแผลเนื้อตาย คุณหมออาจใช้วิธีผ่าตัดเนื้อส่วนที่เน่าออก หรือผ่าตัดซ่อมแซมหลอดเลือด เพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนได้ตามปกติ
  • เท้าผิดรูป เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรัง จะส่งผลให้เส้นประสาทบริเวณเท้าถูกทำลายได้ จึงส่งผลทำให้เท้ามีอาการผิดรูป  เช่น นิ้วเท้าหงิกงอ ฝ่าเท้าโก่งงอมากผิดปกติ อาจรักษาหรือบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ด้วยการทำกายภาพเท้า  การตัดรองเท้าพิเศษสำหรับผู้ที่มีเท้าผิดรูปโดยเฉพาะ รวมไปถึงการผ่าตัดปรับรูปทรงเท้าให้สามารถลงน้ำหนักหรือลดการเกิดแผล

เมื่อไรที่ควรไปพบคุณหมอ

ผู้ป่วยเบาหวานควรไปพบคุณหมอ เมื่อพบสัญญาณของความผิดปกติเกี่ยวกับเท้า ดังต่อไปนี้

  • มีอาการเจ็บปวด แสบร้อน หรือเสียวรู้สึกคล้ายไฟซ๊อตที่เท้า
  • เท้าชาไม่ได้รับความรู้สึก หรือรับความรู้สึกได้ลดลง
  • เส้นขนที่ผิวหนังบริเวณเท้าและขาร่วง 
  • ผิวหนังบริเวณเท้าแห้งหรือแตก
  • เล็บเท้าแข็งหนา เปลี่ยนเป็นสีเหลือง
  • มีการติดเชื้อบริเวณเท้า เช่น โรคน้ำกัดเท้า มีหนอง
  • เท้าเป็นแผลลุกลาม มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลซึมจากแผล

เท้า กับการดูแลและรักษาสุขภาพ เมื่อเป็นโรคเบาหวาน

เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาเท้าเบาหวาน ที ผู้ที่เป็นเบาหวานและคนใกบ้ชิดสามาถดูแลสุขภาพเท้าเบื้องต้นได้ ดังนี้

  • หมั่นสังเกตและตรวจดูสุขภาพเท้าทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นแผลหรือรอยขีดข่วน อาการบวมแดง รูปทรงของเท้าที่อาจเปลี่ยนไป รวมถึงเล็บเท้าและผิวหนัง หากพบอาการมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาคุณหมอ
  • ล้างทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และน้ำอุณหภูมิปกติสม่ำเสมอ โดยหลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เท้าเปื่อยและผิวแห้งได้ และควรระวังอุณหภูมิของน้ำไม่ให้ร้อนจนเกินไปเพราะในบางครั้งผู้ที่เป็นเบาหวานเท้าอาจมีการรับความรู้สึกและรับรู้อุณหภูมิผิดปกติไป จึงอาจทำให้เท้าพองและเป็นอันตรายได้  ในผู้ป่วยบางรายอาจมีเหงื่อออกทีเท้า แนะนำให้ทาแป้งฝุ่นบริเวณซอกนิ้วเท้าเพื่อช่วยลดการอับชื้น
  • ใส่ถุงเท้าอยู่เสมอ เพื่อป้องกันมิให้เท้าเป็นแผลได้ง่าย เนื่องจากถุงเท้าจะช่วยลดการเสียดสีระหว่างเท้ากับรองเท้า และอาจช่วยป้องกันมิให้เกิดบาดแผลจากอุบัติเหตุกระแทกเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ 
  • ควรตัดเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ โดยแนะนำให้ตัดหลังอาบน้ำ เนื่องจากเล็บเท้าจะยังอ่อนนุ่มอยู่ และหากไม่สะดวกตัดเอง อาจให้คนใกล้ชิดหรือผู้ดูแลช่วยตัดให้ได้
  • หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าว ควรหลีกเลี่ยงเดินการเท้าเปล่า ไม่ว่าจะเป็นภายในบ้าน/อาคาร หรือ ภายนอก เช่น บนพื้นคอนกรีต ชายหาด เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลที่เท้าได้ง่าย อีกทั้งในช่วงเวลาที่ร้อนจัด ยังอาจทำให้เท้าพองโดยที่ผุ้ป่วยไม่ทันรู้ตัว
  • ทาครีมที่เท้าเพื่อรักษาความชุ่มชื้น หลังอาบน้ำควรเช็ดเท้าให้แห้ง และทาครีมบำรุงเท้า และ บริเวณส้นเท้า ป้องกันมิให้ผิวแห้งแตก แต่ควรหลีกเลี่ยงการทาครีมที่ซอกนิ่วเพื่อป้องกันมิให้อับชื้น
  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคติน (Nicotine) ในบุหรี่ มีคุณสมบัติทำให้หลอดเลือดเสื่อมลง ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่ดี รวมทั้งเท้าด้วย จึงเป็นการเพิ่มความเสื่องของการเกิดเท้าเบาหวานได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Gangrene. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gangrene/diagnosis-treatment/drc-20352573. Accessed June 24, 2022

Diabetes and Foot Problems. https://www.niddk.nih.gov/health-information/diabetes/overview/preventing-problems/foot-problems. Accessed June 24, 2022

Diabetic Foot. https://medlineplus.gov/diabeticfoot.html. Accessed June 24, 2022

Diabetes and Your Feet. https://www.cdc.gov/diabetes/library/features/healthy-feet.html. Accessed June 24, 2022

Diabetic Foot Problems. https://www.webmd.com/diabetes/foot-problems. Accessed June 24, 2022

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/04/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

GDM คือ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สาเหตุและแนวทางการรักษา

เครื่องตรวจเบาหวาน ใช้เพื่ออะไร และใช้งานอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา