backup og meta

เบาหวานขึ้นตา อาการที่ควรสังเกต

เบาหวานขึ้นตา อาการที่ควรสังเกต

เบาหวานขึ้นตา หรือ ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เกิดจากความเสียหายของเนื้อเยื่อหลอดเลือดบริเวณด้านหลังดวงตา หรือที่เรียกว่า เรตินา (Retina) ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ยิ่งระยะของโรคเบาหวานลุกลามและระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น อาจยิ่งเพิ่มโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในดวงตามากขึ้น จนอาจทำให้สูญเสียการมองเห็น นอกจากนี้ หากอาการรุนแรงขึ้น อาจส่งผลให้หลอดเลือดฝอยบริเวณจอประสาทตาและหลอดเลือดฝอยทั่วร่างกายเสื่อมได้เช่นกัน

เบาหวานขึ้นตา อาการเป็นอย่างไร

เบาหวานขึ้นตา อาจทำให้หลอดเลือดด้านหลังดวงตาเกิดความเสียหาย ผู้ป่วยโรคเบาหวานประมาณ 40%-45% มักเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา ซึ่งในระยะเริ่มต้นอาจยังไม่แสดงอาการใด ๆ หรืออาจมีปัญหาการมองเห็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

อาการเบาหวานขึ้นจอตา

เมื่อโรคเบาหวานลุกลามมากขึ้นหรือเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้มีอาการเหล่านี้

  • มองเห็นภาพซ้อน
  • มองเห็นเป็นจุดหรือเส้นสีดำในดวงตา
  • ตาพร่ามัว การมองเห็นไม่ชัดเจน
  • ดวงตาไม่สามารถปรับให้มองเห็นในที่มืดได้ดีเท่าที่ควร
  • ไขมันรั่วในจอตา ทำให้จอประสาทตาบวม
  • จอประสาทตาหลุดลอก เลือดออกในน้ำวุ้นตา
  • สูญเสียการมองเห็น

อาการจอตาบวมน้ำจากเบาหวาน

เกิดจากของเหลวสะสมอยู่บริเวณกึ่งกลางของเรตินา อาจทำให้มีอาการเหล่านี้

  • ตาพร่ามัว
  • มองเห็นเป็นคลื่นหรือเส้นสีดำในตา
  • มองเห็นสีซีดจางลงหรือสีเหลือง
  • มองเห็นเงาตะกอนน้ำวุ้นตา (Floaters) คือ เห็นเป็นเงาดำเล็ก ๆ ที่เกิดจากตะกอนในน้ำวุ้นตา

อาการเบาหวานและต้อหิน

ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีความเสี่ยงเกิดโรคต้อหินเป็น 2 เท่า เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานอาจมีภาวะแทรกซ้อนมีเส้นเลือดผิดปกติที่บริเวณม่านตา อาจอุดทางเดินของน้ำภายในลูกตา ทำให้ความดันตาสูงขึ้น หากปล่อยไว้เป็นเวลานานความดันที่เกิดขึ้นอาจกดให้ประสาทตาฝ่อได้ ซึ่งโรคต้อหินเป็นโรคที่ทำลายเส้นประสาทตา อาจทำให้เกิดความเสียหายจนนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น อาจมีอาการดังนี้

  • ตาพร่ามัวในทันที
  • เจ็บตาอย่างรุนแรง
  • รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดหัว
  • มองเห็นเป็นวงแหวนหรือสีรุ้งภายในดวงตา

อาการเบาหวานและต้อกระจก

น้ำตาลส่วนเกินในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานอาจมีส่วนทำให้เกิดโรคต้อกระจกได้ และอาจมีอาการดังนี้

  • ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน
  • ดวงตาไม่สามารถปรับให้มองเห็นในที่มืดได้เท่าที่ควร
  • ไวต่อแสงหรือแสงสะท้อน
  • มองเห็นเป็นวงแหวนหรือสีรุ้งภายในดวงตา
  • มองเห็นสีซีดจางลงหรือสีเหลือง

การรักษาเบาหวานขึ้นตา

การรักษาอาจขึ้นอยู่กับชนิดของโรคจอประสาทตาจากเบาหวานและระดับความรุนแรง โดยมีเป้าหมายเพื่อชะลอหรือหยุดการลุกลามของอาการ

การรักษาเบาหวานขึ้นตาในระยะเริ่มต้น

หากเบาหวานขึ้นตาในระยะแรกที่ไม่รุนแรงหรือรุนแรงปานกลาง คุณหมออาจพิจารณาไม่รักษาทันที แต่อาจต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดด้วยการให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุลอยู่ตลอดด้วยการปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร ให้เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรี่ต่ำ อาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา นมไขมันต่ำ ขนมปังโฮลวีท การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาจช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดได้ นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักให้อยู่เกณฑ์ที่เหมาะสมด้วย เพื่อชะลอการลุกลามของเบาหวานไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นที่จอตา

การรักษาเบาหวานขึ้นตาในระยะรุนแรง

หากผู้ป่วยมีภาวะเบาหวานขึ้นตารุนแรงขึ้นหรือจอประสาทตาบวมน้ำ คุณหมออาจพิจารณาให้รักษาทันที ด้วยวิธีดังนี้

  • ฉีดยายับยั้งปัจจัยการเจริญเติบโตของเยื่อบุผนังหลอดเลือด โดยคุณหมอจะฉีดยาเข้าไปในน้ำเลี้ยงลูกตา เพื่อช่วยลดการสะสมของเหลวและหยุดการเจริญเติบโตของหลอดเลือดใหม่
  • การเลเซอร์แบบ Photocoagulation เพื่อหยุดหรือชะลอการรั่วไหลของเลือดและของเหลวในดวงตา แต่การรักษาด้วยเลเซอร์อาจไม่ได้ช่วยให้การมองเห็นกลับมาเป็นปกติ แต่จะช่วยป้องกัน การมีเส้นเลือดแตกในตาจากเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ
  • การทำ PRP (Pan Retina Photocoagulation) เป็นการยิงแสงเลเซอร์ไปที่ผิวจอประสาทตา เพื่อให้เกิดแผลเป็นและหยุดการเติบโตของเส้นเลือดใหม่
  • การผ่าตัดน้ำวุ้นลูกตา (Vitrectomy) เป็นการผ่าตัดเพื่อเอาเลือดและเนื้อเยื่อแผลออกจากน้ำเลี้ยงตา

การป้องกันเบาหวานขึ้นตา

ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจไม่สามารถป้องกันภาวะเบาหวานขึ้นตาได้ แต่การตรวจตาเป็นประจำ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิต อาจช่วยชะลอและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ ดังนี้

  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในค่าปกติ  (ระหว่าง 70-100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ซึ่งทำได้ด้วยการตรวจวัด วันละหลายครั้ง เช่น ตื่นนอน ก่อนอาหาร หลังอาหาร ก่อนนอน
  • จัดการกับโรคเบาหวาน ด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารไขมันต่ำ น้ำตาลต่ำ และอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา ธัญพืชไม่ขัดสี นมไขมันต่ำ ขนมปังโฮลวีท ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมน้ำหนักส่วนเกิน และใช้ยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด
  • งดการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานได้
  • ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ หรือหากการมองเห็นเปลี่ยนแปลงไปควรเข้าพบคุณหมอ เพื่อตรวจสุขภาพตาทันที

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ภาวะเบาหวานขึ้นตา อันตรายถึงตาบอดตลอดชีวิต. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/diabetics-230321/. Accessed December 13, 2021

Diabetic eye disease: How to spot the signs early. https://utswmed.org/medblog/diabetic-eye-disease-how-spot-signs-early/. Accessed December 13, 2021

Diabetic Eye Disease. https://www.aao.org/eye-health/diseases/diabetic-eye-disease. Accessed December 13, 2021

Overview-Diabetic retinopathy. https://www.nhs.uk/conditions/diabetic-retinopathy/. Accessed December 13, 2021

Diabetic Retinopathy. https://www.nei.nih.gov/learn-about-eye-health/eye-conditions-and-diseases/diabetic-retinopathy. Accessed December 13, 2021

Diabetic retinopathy. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetic-retinopathy/symptoms-causes/syc-20371611. Accessed December 13, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/03/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

สถิติเบาหวานในประเทศไทย ปัจจัยเสี่ยงและวิธีป้องกันเบาหวานที่ควรรู้

อาหารทดแทน ทางเลือกใหม่สำหรับเบาหวานทุกระยะ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา