backup og meta

Hyperosmolarity คืออะไร ส่งผลอย่างไรต่อผู้ป่วยเบาหวาน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/04/2023

    Hyperosmolarity คืออะไร ส่งผลอย่างไรต่อผู้ป่วยเบาหวาน

    Hyperosmolarity คือ ภาวะที่ผู้ป่วยเบาหวานมีความเข้มข้นสูงกว่าปกติ จากน้ำตาลที่สูงมาก ๆ ร่วมกับภาวะขาดน้ำ และนำไปสู่อาการผิดปกติต่าง ๆ ที่รุนแรงเช่น ซึม สับสน ภาวะสมองบวม หมดสติ และการเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม Hyperosmolarity ในผู้ป่วยเบาหวานพบได้ไม่บ่อยนัก และอาจป้องกันได้ด้วยการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ด้วยการปรับพฤติกรรมสุขภาพ ควบคุมอาหาร เเละ ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ

    Hyperosmolarity คือ อะไร

    Hyperosmolarity คือ ภาวะที่ผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก ๆ ร่วมกับ มีภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงจนทำให้มีความเข้มข้นของเลือดสูง ส่งผลให้เกิดผลเสืยต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย รวมไปถึงสมอง ทั้งนี้ Hyperosmolarity หรือภาวะเลือดข้นจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperosmolar Hyperglycemic State หรือ HHS) ที่มักพบได้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • การดูแลตัวเองผิดวิธีหรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ เช่น ไม่ควบคุมอาหาร ขาดยาหรืออินซูลิน
  • ใช้ยาบางกลุ่มร่วมด้วย เช่น  ยาสเตียรอยด์มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น  หรือ ยาขับปัสสาวะมีผลทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ง่ายขึ้น 
  • การติดเชื้อ และอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ 
  • โรคอ้วน 
  • โรคไต
  • ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่ติดเตียง ที่อาจไม่สามารถดื่มน้ำทดเเทนได้เพียงพอ
  • อย่างไรก็ตาม โอกาสเกิดภาวะ HHS ในผู้ป่วยเบาหวานนั้นพบได้ไม่บ่อยนัก

    สาเหตุของ Hyperosmolarity

    Hyperosmolarity เป็นภาวะเลือดข้นจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก เกิดจากเมื่อผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้เกิดการเสียน้ำในร่างกายไปทางปัสสาวะ จนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ แล้วผู้ป่วยไม่สามารถบริโภคน้ำทดแทนได้เพียงพอต่อ จึงทำให้ความเข้มข้นของเลือดสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยหากผู้ป่วยเลือกดื่มน้ำหวานทดเเทน อาการจะยิ่งรุนเเรงขึ้น นำไปสู่ภาวะร่างกายขาดน้ำรุนแรงยิ่งกว่าเดิม รวมทั้งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงยิ่งขึ้น

    โดยทั่วไป เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงไตจะขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานอาจปัสสาวะบ่อยกว่าคนทั่วไป

    เมื่อปัสสาวะบ่อยแต่บริโภคน้ำทดแทนในปริมาณที่น้อยกว่าร่างกายต้องการ จะทำให้ร่างกายขาดน้ำและยิ่งทำให้ไม่สามารถขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะเพิ่มได้ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้เกิดภาวะ Hyperosmolarity ได้ในที่สุด

    อาการของ Hyperosmolarity

    หากผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะเลือดข้น มักมีอาการดังต่อไปนี้

  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูงตั้งเเต่ 600 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป
  • มีภาวะขาดน้ำ จึงทำให้กระหายน้ำมากกว่าปกติ ปากเเห้ง ผิวเเห้ง 
  • อาจมีไข้ หากมีการติดเชื้อร่วมด้วย 
  • สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน
  • ง่วงซึม สับสน บางรายอาจมีอาการชักได้ 
  • ทั้งนี้ ผู้ป่วยเบาหวานหากมีอาการไม่สบาย ไม่ควรรอจนมีอาการหนัก หรือเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง แต่ควรรีบไปพบคุณหมอตั้งเเต่เนิน ๆ เพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที 

    Hyperosmolarity รักษาอย่างไร

    เมื่อไปพบคุณหมอด้วยอาการที่สงสัยว่าอาจจะเป็นภาวะ Hyperosmolarity คุณหมอจะขอตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือด ค่าเกลือเเร่ ค่าความเข้มข้นของเลือด รวมถึงค่าการทำงานของไต และให้การรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • การให้น้ำเกลือ (Fluid Replacement) คุณหมอจะให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือดดำเพื่อเเก้ไขภาวะขาดน้ำจนกว่าร่างกายจะได้รับสารน้ำเพียงพอ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปทางปัสสาวะที่เป็นผลมาจากไตพยามขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้ง รวมถึงยังอาจช่วยเจือจางระดับน้ำตาลในเลือดด้วย
    • การทดเเทนเกลือเเร่ (Electrolyte Replacement) เมื่อเกิดภาวะดังกล่าวจะทำให้เกลือเเร่ในร่างกายหลายชนิดเเปรปรวน หลักๆคือ โปเเทสเซียม ซึ่งเป็นเกลือเเร่ในเลือดที่สำคัญต่อร่างกาย โดยคุณหมออาจจะให้เกลือเเร่ทางเส้นเลือด เพื่อป้องกันภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ (Hypokalemia) เเละช่วยให้หัวใจ กล้ามเนื้อ และเซลล์ประสาททำงานตามปกติ
    • อินซูลิน โดยคุณหมอจะให้อินซูลินทางเส้นเลือดเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลงมาอย่างเร็วที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา