backup og meta

Hypoglycemia คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

    Hypoglycemia คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

    ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือ Hypoglycemia ในผู้ที่เป็นเบาหวาน คือ ภาวะที่ระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจพบได้ผู้เบาหวานที่ฉีดอินซูลินหรือใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) อาการนำ้ตาลต่ำอาจสังเกตได้จาก วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด อ่อนเพลีย ตัวสั่น เหงื่อออกมาก หิวบ่อย หงุดหงิดง่าย เป็นต้น หากปล่อยให้น้ำตาลในเลือดลดต่ำลงจนถึงขั้นรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการชัก หมดสติ และถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงควรรับประทานยาตามปริมาณและตามเวลาที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด ดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม และหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของตัวเองอยู่เสมอ

    ภาวะ Hypoglycemia คือ อะไร

    ภาวะ Hypoglycemia ในผู้ที่เป็นเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจพบได้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ที่ใช้ยารักษาเบาหวานหรือฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หรือมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น รับประทานยา/อาหารไม่ตรงเวลา อดอาหารบางมื้อ ออกกำลังกายหักโหมกว่าปกติ ทำให้ยาที่ใช้อยู่เดิมออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดมากจนเกินไป ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน แต่มีภาวะสุขภาพบางประการ เช่น โรคไต โรคตับ เจ็บป่วยไม่สบายรุนแรง ก็สามารถเกิดภาวะ Hypoglycemia ได้เช่นกัน

    สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ Hypoglycemia คือ อะไร

    สาเหตุของภาวะ Hypoglycemia ในผู้ป่วยเบาหวานที่พบได้บ่อย คือ การใช้ยาฉีดอินซูลินและยาลดระดับน้ำตาลในเลือดหรือยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) เช่น ไกลเมพิไรด์ (Glimepiride) ไกลพิไซด์ (Glipizide) ไกลบูไรด์ (Glyburide) หรือผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรมที่เสี่ยงจะทำให้น้ำตาลในเลือดลดต่ำกว่าปกติ เช่น รับประทานยาและอาหารไม่ตรงเวลา  ออกกำลังกายหักโหมหรือมีกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากกว่า อดอาหาร/รับประทานอาหารน้อยกว่าปกติ

    ส่วนสาเหตุของภาวะ Hypoglycemia ในผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน แม้จะเป็นภาวะที่พบได้น้อย เเต่อาจมีสาเหตุดังนี้

    • ภาวะสุขภาพ เช่น โรคตับวาย ตับอักเสบรุนแรง ภาวะไตวาย หรือ มีการเจ็บป่วยที่รุนแรงมาก เช่น ภาวะซ๊อค/ติดเชื้อรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
    • การดื่มสุราอย่างหนัก ร่วมกับไม่ได้รับประทานอาหาร เมื่อดื่มสุราในปริมาณมาก ๆ จะส่งผลให้ตับไม่สามารถผลิตน้ำตาลจากไกลโคเจนที่เก็บไว้เป็นพลังงานสำรองได้ 
    • การใช้ยาบางชนิด มียาบางชนิดที่มีรายงานว่าสามารถทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ เช่น ควินิน (Quinine) ซึ่งเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย
    • พร่องฮอร์โมนบางชนิด เช่น โกรทฮอร์โมนหรือฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth hormone) คอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้มีหน้าที่สำคัญในกระบวนการสร้างน้ำตาลกลูโคสของร่างกาย เมื่อขาดฮอร์โมนดังกล่าวจึงทำให้มีอาการ น้ำตาลในเลือดต่ำได้
    • ร่างกายผลิตอินซูลินมากเกินไป เนื่องจากมีเนื้องอกผลิตฮอร์โมนอินซูลิน
    • ขาดอาหารหรืออดอาหารเป็นเวลานาน หากอดอาหารเป็นเวลานานจนมีภาวะทุพโภชนาการ จะทำให้ร่างกายขาดแหล่งพลังงานในผลิตน้ำตาลกลูโคสมาทดเเทนได้เพียงพอกับการใช้พลังงานในเเต่ละวัน

    นอกจากนี้ ในผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหาร อาจมีอาการนำ้ตาลในเลือดต่ำเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงหลังรับประทานอาหารไม่เกิน 4 ชั่วโมง เรียกว่า ภาวะ Reactive hypoglycemia  ซึ่งมีสาเหตุมาจาก อาหารเดินทางไปสู่ลำไส้เล็กได้อย่างรวดเร็ว (เนื่องจากมีการผ่าตัดบายพาสทางเดินอาหารบางส่วนไป) จึงกระตุ้นให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินในปริมาณมากและไม่เป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับอาหารที่ดูดซึม ส่งผลทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำตามมา 

    อาการของภาวะ Hypoglycemia

    อาการของภาวะ Hypoglycemia อาจแตกต่างไปในแต่ละคน โดยอาจทำให้เกิดอาการดังนี้

    • วิงเวียนศีรษะ
    • หน้ามืด
    • รู้สึกเหนื่อยเพลีย ไม่มีแรง
    • มือสั่น ตัวสั่น
    • เหงื่อออกมาก
    • วิตกกังวล กระวนกระวายใจ หงุดหงิดง่าย
    • ตัวเย็น 
    • ใจสั่น หัวใจเต้นรัวผิดปกติ
    • รู้สึกโหย หรือ หิวบ่อย

    หากมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำมากขึ้น จนถึงขั้นรุนแรง อาจทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

    • อ่อนแรงแขน/ขา ทำให้ไม่มีแรงเดิน หรือ เดินได้ไม่สะดวกเท่าปกติ
    • ตาพร่ามัว มองภาพเห็นไม่ชัดเจน
    • หมดสติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่นมีอาการขณะขับรถ
    • รู้สึกง่วงนอน ซึม ปลุกไม่ตื่น
    • มีอาการชัก 
    • สับสน พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง 

    อาการของภาวะ Hypoglycemia ยังสามารถเกิดขึ้นได้ขณะที่นอนหลับ เรียกว่า Nocturnal hypoglycemia หรือ Night time hypos นับเป็นภาวะที่ต้องเฝ้าระวังและค่อนข้างอันตราย เนื่องจากอาการอาจไม่ชัดเจน ทำให้บางครั้งผู้ป่วยไม่ทราบว่าเกิดจากน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงไม่ได้รีบทำการแก้ไข จึงอาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำลงจนถึงขั้นรุนเเรงได้ อาการ Nocturnal hypoglycemia อาจสังเกตได้ดังนี้ 

    • ปวดศีรษะตอนตื่นนอน หรือตื่นมาแล้วมีอาการเหนื่อย เพลีย รู้สึกไม่สดชื่น
    • กระสับกระส่าย ร้องไห้ขณะนอนหลับ ฝันร้ายจนตื่น
    • เหงื่อออกจนชุ่มหมอนหรือผ้าปูที่นอน

    นอกจากนี้ ยังมีภาวะ Hypoglycemia Unawareness หรือน้ำตาลในเลือดต่ำโดยไม่รู้ตัว ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติแสดงให้ทราบ มักเกิดในผู้ที่เคยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อย ๆ จนร่างกายชินชา ต่อมาจึงไม่แสดงอาการตั้งแต่ระดับน้ำตาเริ่มต่ำ จึงทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวเเละไม่ได้รีบเเก้ไขอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ จนเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง เช่น ชัก โคม่า หมดสติ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงควรหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ หากเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้

  • เป็นโรคเบาหวานมานาน (มากกว่า 5-10 ปี)
  • มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อย ๆ
  • รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blockers) ที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ 
  • แม้ว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานจะดูแลตัวเองและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีแล้ว แต่ก็อาจมีอาการของภาวะ Hypoglycemia ได้ การหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของตัวเองอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อต้องทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือ การขับขี่ยานพาหนะ เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและผู้อื่น รวมไปถึงควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองว่าเข้าข่ายภาวะ Hypoglycemia หรือไม่ เพื่อที่จะสามารถแก้ไขอาการให้ดีขึ้นได้อย่างทันท่วงที

    การรักษาภาวะ Hypoglycemia

    วิธีรักษา ภาวะ Hypoglycemia อาจแบ่งได้ดังนี้

    การรักษาภาวะ Hypoglycemia เบื้องต้นในผู้ป่วยเบาหวาน

    ภาวะนี้อาจเป็นอันตรายได้หากไม่รักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ด้วยการรับประทานคาร์โบไฮเดรตชนิดดูดซึมเร็ว 15-20 กรัม เช่น น้ำหวาน 1 แก้ว ลูกอม 2-3 เม็ด น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ ลูกเกด 2 ช้อนโต๊ะ จากนั้นประมาณ 15 นาที จึงตรวจระดับน้ำตาล หากยังมีค่าไม่เกิน 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ให้รับประทานอาหารดังกล่าวซ้ำ แล้ววัดระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง ทำเช่นนี้จนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จึงจะถือว่าปลอดภัย และหลังจากนั้นให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมช้าเช่น ขนมปัง 1 แผ่น กล้วยน้ำว้า 1 ผล เพื่อรักษาให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างคงที่

    นอกจากนี้แล้ว ควรงดทำงานหรืองดออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมาก ในช่วงที่เพิ่งมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ เพื่อป้องกันมิให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไปอีก ในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ ชัก จากภาวะ Hypoglycemia ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหรือเรียกรถพยาบาล คุณหมอจะรีบให้การรักษาด้วยการฉีดน้ำตาลกลูโคสเข้าทางกระแสเลือดเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเร่งด่วน

    การรักษาภาวะ Hypoglycemia ในผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน

    การรักษาภาวะ Hypoglycemia ในผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน จำเป็นต้องรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ โดยคุณหมอจำเป็นตรวจร่างกายเพิ่มเติม รวมถึงอาจมีการตรวจพิเศษอื่นๆ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและให้การรักษาอย่างเหมาะสม เช่น หากเกิดจากเนื่องจากมีเนื้องอกที่ผลิตอินซูลิน การรักษาคือการผ่าตัดเนื้องอกนั้นออก แต่หากเกิดจากการขาดฮอร์โมน การรักษาคือการเสริมฮอร์โมนนั้น ๆ 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา