backup og meta

ระดับน้ำตาลในเลือด ปกติ อยู่ที่เท่าไหร่ และมีวิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างไรบ้าง

ระดับน้ำตาลในเลือด ปกติ อยู่ที่เท่าไหร่ และมีวิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างไรบ้าง

ค่าระดับน้ำตาลในเลือด คือ ค่าความเข้มข้นของน้ำตาลกลูโคสที่ละลายอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งหากมีค่าผิดปกติอาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้ เช่น โรคเบาหวาน ทั้งยังเสี่ยงเกิดภาวะอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคไต จึงควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ เพื่อให้ทราบว่า ระดับน้ําตาลในเลือด ปกติ หรือไม่ หากมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงเกินไป ควรปรับพฤติกรรสุขภาพเบื้องต้น หากมีอาการผิดปกติควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงทั้งจากภาวะน้ำตาลสูงหรือต่ำจนเกินไป ซึ่งต่างก็รุนแรงจนอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

[embed-health-tool-bmi]

ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ อยู่ที่เท่าไหร่

หากตรวจเลือดหลังงดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลปกติ จะมีค่าสูงไม่เกิน 99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่หากตรวจหลังจากดื่มสารละลายตาลกลูโคส 75 กรัม เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ค่าระดับน้ำตาลจะต้องไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จึงจะถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ หากตรวจแล้วมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ดังกล่าว ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการปรับพฤติกรรมสุขภาพ ทั้งการเลือกรับประทานอาหารที่ดี การออกกำลังกาย และหากเข้าข่ายเป็นเบาหวานแล้ว คุณหมออาจให้เริ่มรักษาด้วยยาลดน้ำตาลในเลือด

ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ เป็นอย่างไร

ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ คือ ระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำและสูงกว่าเกณฑ์ ดังนี้

ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ

หากผู้ที่เป็นเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะถือว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดหรือยารักษาเบาหวานไม่ถูกวิธี การอดอาหารเป็นเวลานาน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ภาวะที่ร่างกายผลิตอินซูลินมากเกินไป ภาวะพร่องฮอร์โมนต่อมหมวกไต ภาวะไตวาย โรคตับ การติดเชื้อรุนแรง โดยอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • เหงื่อออกมาก ตัวเย็น
  • หน้าซีด ผิวซีด
  • ตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
  • วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
  • อารมณ์แปรปรวน อาจวิตกกังวลหรือหงุดหงิดง่ายผิดปกติ
  • รู้สึกไม่มีแรง เหนื่อยล้า
  • พูดคุยหรือสื่อสารลำบาก
  • ไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

หากปล่อยไว้ ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจรุนแรงจนเกิดอาการชัก โคม่า หมดสติ หรือเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุรุนแรงและเสียชีวิตได้

ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง คือ หากทำการตรวจเลือดหลังงดอาหาร อย่างน้อย 8 ชั่วโมง แล้วมีค่าระดับน้ำตาลสูงตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป จะถือว่าเข้าข่ายเป็นเบาหวาน แต่หากตรวจระดับน้ำตาลหลังดื่มสารละลายกลูโคส 75 กรัม เป็นเวลา 2 ชั่วโมง หรือตรวจเลือดแบบสุ่ม (ไม่ต้องงดอาหาร) แล้ว ค่าระดับน้ำตาลสูงตั้งแต่ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เป็นต้นไป ก็จะเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน ทั้งนี้ โรคเบาหวานเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากตับอ่อนทำงานผิดปกติ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักเกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน การรับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลมากเกินไป การขาดการออกกำลังกาย รวมไปถึงการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน ก็เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าปกติได้ด้วย ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจมีอาการผิดปกติดังนี้

  • กระหายน้ำบ่อย
  • ปัสสาวะบ่อย
  • อ่อนเพลีย รู้สึกไม่มีแรง
  • ตาเบลอ มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
  • น้ำหนักลดลงกะทันหัน หรือน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

ทั้งนี้ หากเพิ่งเริ่มมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือระดับน้ำตาลยังไม่สูงมากนัก อาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ ที่ผิดปกติให้สังเกตพบ แต่หากปล่อยไว้เป็นเวลานาน โดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลให้เส้นประสาทที่มือหรือเท้าเสื่อม เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา ตาบอด โรคไต โรคหัวใจ ภาวะเลือดเป็นกรด และเสียชีวิตได้

การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ

การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ อาจทำได้เบื้องต้นดังนี้

การปรับพฤติกรรมสุขภาพเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง

  • เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานผักและผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น กะหล่ำดอก คะน้า ฝรั่ง ส้ม มะเขือเทศ อะโวคาโด ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ธัญพืชไม่ขัดสี ไขมันดี อาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน อัลมอนด์ ถั่วลิสง ปลาแซลมอน และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการกินอาหารจุบจิบ ซึ่งเป็นสุขนิสัยที่ไม่ได้ มักทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่รู้ตัว
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและแป้งสูง เช่น ของทอด อาหารแปรรูป ของหวาน เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำผลไม้ น้ำอัดลม แต่หากมีอาการน้ำตาลต่ำอาจแก้ไขเฉพาะหน้าด้วยการรับประทานอาหารจำพวกนี้ เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือ 150 นาที/สัปดาห์ โดยเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิค ความเหนื่อยระดับปานกลาง เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก คาร์ดิโอ เต้นแอโรบิค เนื่องจากการออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ทำให้ร่างกายสามารถจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น และช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ อย่างไรก็ตาม หากมีโรคร่วมหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพ ควรปรึกษาคุณหมอเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ผ่อนคลายความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ เล่นเกม ฟังเพลง ออกกำลังกาย นอนหลับ เพราะความเครียดจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งส่งผลทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าเดิม
  • หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ โดยสามารถตรวจเองที่บ้านโดยใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดปลายนิ้ว หรือเข้ารับการตรวจสุขภาพจากคุณหมอโดยตรง

การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยวิธีทางการแพทย์

  • ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นวิธีรักษาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวานในปัจจุบัน ทางการแพทย์มียารักษาโรคเบาหวานหลายกลุ่มที่ออกฤทธิ์ในกลไกที่แตกต่างกัน โดยคุณหมอจะพิจารณาเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย อย่างไรก็ตาม หากรับประทานยาไม่ถูกต้องหรือผิดเวลา อาจทำให้เกิดผลเสียคือ มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ดังนั้นจึงควรรับประทานยาตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด และหากมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรรีบแจ้งคุณหมอ
  • ยาฉีดอินซูลิน อินซูลินที่ใช้ในปัจจุบันเป็นรูปแบบยาฉีด ซึ่งสังเคราะห์ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้ผลเสมือนกับอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อนของมนุษย์ จึงสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ มักใช้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 คุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ รวมไปถึงผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ด้วยยาชนิดรับประทาน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยาฉีดอินซูลินมีการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน เช่น อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็วมาก (Rapid-acting Insulin) อินซูลินออกฤทธิ์เร็ว (Regular or Short-acting Insulin) อินซูลินออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate-acting Insulin) อินซูลินออกฤทธิ์นาน (Long-acting Insulin) ผู้ป่วยจึงควรใช้ยาตามขนาดและเวลาที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Blood Sugar. https://medlineplus.gov/bloodsugar.html.Accessed December 29, 2022

Blood sugar testing: Why, when and how. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/in-depth/blood-sugar/art-20046628.Accessed December 29, 2022

Manage Blood Sugar. https://www.cdc.gov/diabetes/managing/manage-blood-sugar.html.Accessed December 29, 2022

Hypoglycemia https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hypoglycemia/symptoms-causes/syc-20373685.Accessed December 29, 2022

Hyperglycaemia (high blood sugar). https://www.nhs.uk/conditions/high-blood-sugar-hyperglycaemia/.Accessed December 29, 2022

Hyperglycemia in diabetes https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hyperglycemia/diagnosis-treatment/drc-20373635.Accessed December 29, 2022

Diabetes prevention: 5 tips for taking control. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/type-2-diabetes/in-depth/diabetes-prevention/art-20047639.Accessed December 29, 2022

Diabetes Tests. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/getting-tested.html.Accessed December 29, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/02/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

การ ดูแล ผู้ ป่วย เบาหวาน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

อาหารคุมเบาหวาน มีเมนูอาหารอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 09/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา