backup og meta

การ ดูแล ผู้ ป่วย เบาหวาน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 07/02/2023

    การ ดูแล ผู้ ป่วย เบาหวาน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

    การ ดูแล ผู้ ป่วย เบาหวาน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคร่วมหรือมีภาวะแทรกซ้อนแล้ว รวมไปถึงผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นผู้สูงอายุซึ่งจำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยผู้ดูแลผู้ป่วยเบาหวานควรเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน จะได้สามารถช่วยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้กับผู้ป่วยเบาหวานได้เหมาะสมขึ้น เพื่อช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี และส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้นได้

    การ ดูแล ผู้ ป่วย เบาหวาน มีอะไรบ้าง

    การดูแลผู้ป่วยเบาหวานอาจจำเป็นต้องใช้ความเข้าใจและความใจเย็นเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยในการควบคุมโรคและช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดี วิธีการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่เหมาะสม อาจมีดังนี้

    ผู้ดูแลควรทำความเข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน

    ผู้ดูแลควรเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุ อาการ ปัจจัยเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อน การรักษา และการดูแลผู้ป่วย เพื่อจะได้ดูแลผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างถูกต้อง และสามารถปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วยทั้งเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยารักษา และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง หากผู้ดูแลเข้าใจเกี่ยวกับโรคก็อาจช่วยควบคุมไม่ให้โรคเบาหวานของผู้ป่วยรุนแรงขึ้น ทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

    ผู้ดูแลควรใจเย็นและให้กำลังใจผู้ป่วยเบาหวาน

    เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ดูแลควรพูดคุย สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และรับฟังในสิ่งที่ผู้ป่วยพูดหรือร้องขอ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกโดดเดี่ยวและมีกำลังใจในการดูแลตนเอง จะได้สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ดีขึ้น หากผู้ป่วยปฏิเสธการช่วยเหลือหรือดูแล ผู้ดูแลอาจโน้มน้าวและแสดงความตั้งใจว่าอยากช่วยเหลือจริง ๆ โดยไม่บังคับ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกไว้วางใจและเปลี่ยนความคิดใหม่ ผู้ป่วยจะได้ดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีสุขภาพที่ดี

    ผู้ดูแลควรดูแลสุขภาพประจำวัน

    สุขภาพประจำวันของผู้ป่วยเบาหวานที่ผู้ดูแลควรให้ความสำคัญ มีดังนี้

    • เลือกหรือเตรียมอาหารเพื่อสุขภาพ 

    เนื่องจากอาหารถือเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ดูแลจึงควรจัดเตรียมอาหารให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่ ให้มีทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน วิตามิน แร่ธาตุ และไขมันดี เพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณน้ำตาลและไขมันในอาหารสำหรับใช้เป็นพลังงานได้เหมาะสม และมีโปรตีนเพียงพอเพื่อใช้ในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายของผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

    อย่างไรก็ตาม ควรหลีกอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง เช่น ขนมหวาน เค้ก ช็อกโกแลต เนื้อสัตว์ติดมันและติดหนัง อาหารแปรรูป เพื่อควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอลอยุ่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด 
  • หากทำได้ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกวัน โดยอาจเลือกสุ่มตรวจที่เวลาต่าง ๆ สลับกันไป เช่น ก่อนอาหารเช้า ก่อนอาหารเย็น ช่วงเวลาหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง รวมทั้งเมื่อมีอาการผิดปกติ รวมถึงควรจดบันทึกค่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ เพื่อเป็นสถิติและข้อมูลให้คุณหมอสามารถใช้ติดตามผลการรักษา รวมถึงปรับการยาให้เหมาะสมได้ดียิ่งขึ้น

    • ออกกำลังกายเป็นประจำ 

    หลังจากรับประทานอาหารประมาณ 1-2 ชั่วโมง อาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อช่วยเผาผลาญน้ำตาลจากมื้ออาหารที่เพิ่งรับประทานไป อาจเลือกเดินระยะสั้น ๆ ยืดเส้นยืดสาย โดยออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายจัดการกับน้ำตาลส่วนเกินได้ดีขึ้นในระยะยาว อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยเบาหวานออกกำลังกายหนักกว่าปกติอาจทำให้มีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ดูแลอาจเตรียมของว่างไว้เผื่อให้ผู้ป่วยรับประทานเมื่อเริ่มมีอาการ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ดูแลควรปรึษาคุณหมอ เพื่อปรับลดขนาดยาลงตามความเหมาะสม

    • ใช้ยารักษาเบาหวานอย่างเคร่งครัด 

    เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีและป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน ผู้ดูแลควรให้ผู้ป่วยใช้ยารักษาเบาหวานตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด เนื่องจากยาที่ต้องใช้อาจมีหลายชนิด และมีวิธีการรับประทานต่างกันไป จนอาจทำให้สับสนได้ อีกทั้งควรดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาและอาหารให้ตรงเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน

    ผู้ดูแลควรหมั่นสังเกตอาการที่ผิดปกติของผุ้ป่วย

    อาการผิดปกติในผู้ป่วยเบาหวานที่ผู้ดูแลเฝ้าระวัง มีดังนี้

    • สุขภาพช่องปาก 

    ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีปัญหาโรคเหงือกหรือโรคปริทันต์ได้ง่าย เพราะเมื่อมีน้ำตาลในเลือดสูงจะทำให้แบคทีเรียในช่องปากเจริญเติบโตได้ดี และทำให้ช่องปากมีความเป็นกรดมากขึ้นจนกัดกร่อนเคลือบฟัน ทำให้เสี่ยงเกิดฟันผุและการติดเชื้อในช่องปากได้ง่าย ผู้ดูแลจึงควรให้ผู้ป่วยแปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์และแปรงสีฟันขนนุ่มอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน และใช้ไหมขัดฟันอย่างระมัดระวัง นอกจากนี้ ควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากทุก ๆ 6 เดือนหรือ 1 ปี

    ผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี จะเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพเท้าได้มากกว่าปกติ ผู้ดูแลจึงควรทำความสะอาดพร้อมกับตรวจสุขภาพเท้าเป็นประจำทุกวันทั้งเช้าและเย็น เช่น ดูว่ามีแผลที่เท้าจุดใดหรือไม่ มีตาปลาหรือหูดหรือไม่ ลักษณะเล็บเท้าเป็นอย่างไร จากนั้นซับเท้าให้แห้งเพื่อไม่ให้อับชื้น และทาโลชั่นบาง ๆ เพิ่มชุ่มชื้นให้ผิว หากพบบาดแผลเพียงเล็กน้อยควรจัดการทำแผลเพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ แต่หากแผลมีขนาดใหญ่หรือติดเชื้อควรไปพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาโดยเร็วและป้องกันไม่ให้การติดเชื้อรุนแรง

    • การติดเชื้อ 

    ผู้ป่วยเบาหวานมักติดเชื้อได้ง่าย นอกจากการดูแลสุขภาพเท้าแล้วจึงควรดูแลสุขภาพผิวหนังทั่วร่างกายให้ดีด้วย โดยเฉพาะตามซอก ข้อพับ และจุดซ้อนเร้น ที่มักอับชื้น อาจทำให้เกิดผื่นติดเชื้อราได้ และหมั่นดูแลให้ผิวชุ่มชื้นอยู่เสมอ ป้องกันมิให้ผิวแห้งซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองและมีแผลตามมาได้ง่ายขึ้น 

    ผู้ดูแลควรหากิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียดให้ผู้ป่วย

    โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด ความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า ที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น นอนหลับไม่เพียงพอ เบื่ออาหาร ไม่ยอมรับประทานอาหาร มีความคิดเชิงลบ มีอารมณ์ขุ่นมัว จนอาจส่งผลให้อาการของโรคเบาหวานรุนแรงขึ้นได้

    ผู้ดูแลจึงควรหากิจกรรมผ่อนคลายเครียดให้ผู้ป่วยตามความเหมาะสม เช่น ฟังเพลง ดูหนัง วาดรูป อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ ทำงานอดิเรก ทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ปลูกต้นไม้ และควรพูดคุยกับผู้ป่วยเป็นประจำ กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยคลายเครียด และลดความกังวลให้กับผู้ป่วย ส่งผลดีต่อการดูแลสุขภาพและการควบคุมโรคเบาหวานในระยะยาว

    ผู้ดูแลควรจัดการกับพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมของผู้ป่วย

    พฤติกรรมสุขภาพที่ควรจัดการ อาจมีดังนี้

    • งดสูบบุหรี่

    เนื่องจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูง ทำให้ระบบหลอดเลือดโดยรวมทั้งร่างกายเสื่อมลง และนำไปสู่โรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เส้นประสาทเสื่อม โรคไต

    • ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    เนื่องจากในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้เช่นกัน หรือหากดื่มในปริมาณมากและไม่ได้รับประทานอาหารร่วมด้วย ก็อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือจำกัดเพียงวันละ 1 แก้วเท่านั้น

    ผู้ดูแลควรพาผู้ป่วยไปพบคุณหมอตามนัดอยู่เสมอ

    การพาผู้ป่วยเบาหวานไปพบคุณหมออยู่เสมออาจมีจุดมุ่งหมาย ดังนี้

    • ตรวจสุขภาพร่างกาย

    ผู้ดูแลควรพวผู้ป่วยเบาหวานเข้ารับการตรวจสุขภาพ และตรวจเลือดตามที่คุณหมอนัดหมายอยู่เสมอ เพื่อตรวจสุขภาพโดยรวมและติดตามผลการรักษา รวมถึงตรวจหาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการตรวจตา เพื่อตรวจว่ามีเบาหวานขึ้นตาหรือไม่ ซึ่งควรเข้ารับการตรวจประจำทุกปี

    • เข้ารับการฉีดวัคซีน 

    เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันโรคปอดบวม เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานอาจมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง การเข้ารับการฉีดวัคซีนจึงช่วยป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 07/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา